xs
xsm
sm
md
lg

จากกรณีไฟช็อตไฟดับ กลางงานสวดสืบชะตาของทักษิณ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เฟซบุ๊กของ “กคพ. กัลยาณมิตรเครือข่ายวิถีพุทธ” ได้รายงานข่าวพร้อมภาพประกอบเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ว่า:

“วัดป่าพุทธคยา เดิมจะจัดงานทอดกฐินพระราชทานในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 โดยได้มีกำหนดการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางมาร่วมงานเป็นประธาน และพบกับพี่ชายของเธอ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้เดินทางมาถึงแล้วในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 เพื่อทำพิธีสวดสืบชะตาสะเดาะเคราะห์ตามแบบล้านนา (ตามภาพที่ 1)
<b>ภาพที่ 1: </b> ป้ายระบุข้อความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้  ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อัญเชิญผ้ากฐินพระราชทาน ถวายแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ อุโบสถวัดป่าพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย วันเสาร์ที่ 5 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
“กคพ.กัลยาณมิตรเครือข่ายวิถีพุทธ”รายงานต่อว่า เมื่อทราบเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถเดินทางมาเป็นประธานการทอดผ้ากฐินพระราชทานได้ ทางผู้จัดงานได้จัดทำป้ายขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็ว โดยให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานกิตติมศักดิ์ฝ่ายฆราวาส” (ตามภาพที่ 2)
<b>ภาพที่ 2 : </b> ป้ายระบุข้อความว่า “พระกฐินหลวงพระราชทาน ณ วัดป่าพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 12 เวลา 13.00 น. ประธานกิตติมศักดิ์ฝ่ายฆราวาส พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการอำนวยการ พ่อเลี้ยงพายัพ, แม่เลี้ยงพอฤทัย ชินวัตร
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กของ “กคพ.กัลยาณมิตรเครือข่ายวิถีพุทธ” ได้รายงานเพิ่มเติมตั้งข้อสังเกตเป็นหมายเหตุประกอบภาพด้วยว่า:

“เข้าใจว่าป้ายที่ประกาศนี้ความผิดพลาดที่สำคัญ ที่ใช้คำว่า “กฐินหลวงพระราชทาน”ตามป้ายนี้ขึ้น อันผิดความหมายไปมาก ความหมายที่ถูกต้องตามหลักภาษาเป็นดังนี้

“กฐินหลวง” เป็นพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ไปพระราชทานแทน

“กฐินพระราชทาน” เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือเอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร

ลำพังการใช้คำผิดระหว่าง “กฐินพระราชทาน” แล้วกลายเป็น “กฐินหลวงพระราชทาน” ก็ถือว่ามีความผิดพลาดในความหมายอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้ว แต่ที่มีประชาชนจำนวนไม่น้อยได้ตั้งคำถามก็คือกรณีการเปลี่ยนผู้อัญเชิญกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งไม่มาในวันดังกล่าว แต่กลับกลายมาเป็น “พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานกิตติมศักดิ์” ซึ่งเป็นนักโทษหนีอาญาแผ่นดินตามคำตัดสินของศาลฎีกาที่กระทำภายใต้พระปรมาภิไธยนั้น เหมาะสมแล้วหรือไม่?

สิ่งที่น่าสนใจในประการถัดมาก็คือ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 นักโทษหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร ได้ ทำพิธีสวดสืบชะตาสะเดาะเคราะห์แบบล้านนาอีกด้วย !!!


พิธีสืบชะตาเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวล้านนาที่สืบสานกันต่อมาช้านาน โดยเชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุหรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาวมีความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นการขจัดภัยอันตรายต่างๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย

สำหรับการทำพิธีเช่นนี้ต้องมีการเตรียมอุปกรณ์หลายอย่างเกือบ 30 รายการ เช่น ไม้ค้ำสรี(สะหรี ต้นศรีมหาโพธิ์), ขัว (สะพาน) 1 คู่, ลวดเบี้ย, ลวดหมาก, ลวดเงิน, ลวดทอง, ตุงยาวค่าคิง (ยาวเท่าตัวคน), ตุงเล็กและตุงช่อ, ลวดข้าวตอก, สายสิญจน์ ฯลฯ

อุปกรณ์เหล่านี้จะจัดทำเป็นกระโจม 3 ขา กว้างพอที่เจ้าชะตาเข้าไปนั่งในนั้นได้ โดยใช้ด้ายสายสิญจน์โยงจากศีรษะไปสู่ยอดกระโจมและดึงไปหาบาตรน้ำมนต์หน้าพระพุทธรูป พระสงฆ์จะถือด้ายสายสิญจน์ขณะสวดมนต์และจะใช้ผูกข้อมือเจ้าชะตาอีกด้วย

โดยขั้นตอนพิธีการนั้นก็จะมีพระสงฆ์ 9 รูป โดยเจ้าชะตาจุดธูปเทียนบูชารัตนตรัย ประเคนบาตรน้ำมนต์ให้พระสงฆ์ ประเคนขันสืบชะตาพร้อมด้ายสายสิญจน์ และประเคนพานอาราธนาศีลและกลับไปนั่งในซุ้มพิธี

จากนั้นอาจารย์ซึ่งเป็นผู้นำในการประกอบพิธีนำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย, กล่าวอาราธนาศีล-ประธานสงฆ์ให้ศีล, อาราธนาพระปริต, พระสงฆ์รูปที่ 3 กล่าวสวดชุมนุมเทวดา, คณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์, อาจารย์ผู้นำในการประกอบพิธีสมาธรรมและครัวทาน (ขอขมา), อาราธนาธรรม, พระสงฆ์เทศนาธรรมสืบชะตา 9 ผูก, จากนั้นประธานสงฆ์มอบเครื่องสืบชะตาให้แก่เจ้าชะตาและคณะ, จากนั้นประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา จากนั้นเจ้าชะตาและคณะก็ถวายจตุปัจจัยแก่พระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์อนุโมทนา จากนั้นอาจารย์ผู้นำประกอบพิธีนำกราบพระบูชาพระรัตนตรัย เจ้าชะตาถวายภัตตาหารและเครื่องสังฆทานเป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับกรณีนี้ นักโทษชายหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร อยู่ในฐานะเป็น “เจ้าชะตา” ที่ต้องการเข้าพิธีเพื่อสืบชะตาสะเดาะเคราะห์ จึงต้องเข้าไปนั่งในกระโจม 3 ขา “กคพ. กัลยาณมิตรเครือข่ายวิถีพุทธ” ได้รายงานข้อมูลที่น่าสนใจว่า:

“ในระหว่างการสวดได้มีเหตุไฟฟ้าชอร์ต ทำให้ไฟและเครื่องเสียงดับไปชั่วเวลาหนึ่ง ซึ่งสีหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ดูมีความกังวลจนต้องชะโงกดูหน้าต่าง กลางงานสวดสืบชะตาสะเดาะเคราะห์แบบล้านนา”
ภาพที่ 3 ทักษิณ ชินวัตร นั่งฟังสวดเพื่อสืบชะตาสะเดาะเคราะห์อย่างสงบนิ่งและตั้งใจ
ภาพที่ 4 ทักษิณ ชินวัตร  มีสีหน้ากังวลเมื่อไฟช็อตและไฟดับกลางงานสืบชะตา
ภาพที่ 5 ทักษิณ ชินวัตร ยื่นศีรษะออกมานอกซุ้มกระโจมพิธีมองนอกหน้าต่างหลังไฟช็อตไฟดับจนเครื่องเสียงขัดข้อง
จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครจะได้มีโอกาสทำพิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์แบบล้านนาถึงประเทศอินเดีย และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เช่นเดียวกันที่จะเกิดแจ๊กพ็อตที่ไฟช็อตจนไฟดับเครื่องเสียงขัดข้องพอดิบพอดีในช่วงเวลาที่กำลังสวดมนต์สืบชะตา โดยเฉพาะภาพสุดท้ายที่เจ้าชะตากังวลและสงสัยจนต้องโผล่ศีรษะออกมานอกซุ้มกระโจมในระหว่างทำพิธีสืบชะตานั้น ถือเป็นภาพที่หาได้ยากยิ่ง

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ทางพิธีกรรมที่จะบอกได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น “ลางดี” หรือ”ลางร้าย” หรือจะไม่เป็นลางอะไรทั้งสิ้น รู้แต่เพียงว่าทุกความเป็นไปต่างมีเหตุและปัจจัย หากมีทุกข์ก็ต้องมีเหตุแห่งทุกข์นั้น ดังหลักธรรมของพระพุทธเจ้าภายใต้ กฎอิทัปปัจจยตา อันเป็นหัวใจปฏิจจสมุปบาทที่ว่า:

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี
เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิด
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี
เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป
กำลังโหลดความคิดเห็น