xs
xsm
sm
md
lg

จี้คุม"ขยะ-โรค"หลังน้ำลด-อัดงบฟื้นฟูต้องผ่านกมธ.-สอบถุงยังชีพหมดอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ยิ่งลักษณ์" เผยน้ำท่วมใหญ่ส่งผลรายได้ประเทศลดลง 1.3 ล้านล้านบาท เตรียมจัด"บิ๊กคลีนนิ่งเดย์" แจกเงิน 5 พัน เขตดอนเมืองอาทิตย์นี้ มท.สรุปจ่ายชดเชยแล้ว 2 พันล้าน "ประชา" โยนภารกิจ ฟื้นฟูเยียวยาพ้นตัว ด้าน ครม.เงาปชป. ขอความโปร่งใสการใช้งบเยียวยา โดยให้กมธ.งบประมาณฯ 55 ตรวจสอบ จี้ต้องจัดการกระสอบทราย คุมโรคระบาดกับขยะหลังน้ำลดให้ดี เดินหน้าสอบถุงยังชีพหมดอายุ ด้าน กทม. เผยระดับน้ำในคลองลดลง ทุบสถิติเก็บขยะน้ำท่วมสูงสุด12,463 ตัน

เมื่อเวลา 09.30น. วานนี้ (8 ธ.ค.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 54 และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 24 ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ หรือ วปอ.
 
** ชี้ 2 ภัยหลักคุกคามมนุษย์
 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "บทบาทของภาครัฐและเอกชนในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ" มีใจความสำคัญตอนหนึ่ง ว่า สถานการณ์โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ส่งผลกระทบความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นเราจะต้องมีการปรับตัว เพื่อป้องกันและรักษาความมั่นคงของชาติ โดยต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ยั่งยืนและสงบสุข ซึ่งการรักษาความมั่นคงของชาติ ถือเป็นนโยบายระดับชาติของรัฐบาล ที่จะมุ่งสร้างสภาวะแวดล้อม และความสันติสุข เพื่อเป็นการคุ้มกันภัยปัญหาต่างๆหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน โดยเราต้องเรียนรู้ภัยคุกคามพร้อมแก้ไขกันที่ต้นเหตุ สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน จะเป็นกลไกเปรียบเหมือนสามเหลี่ยมที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะการทำงานด้านเดียว ย่อมไม่เกิดความสำเร็จ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันภัยคุกคามมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ ภัยคุกคามที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และภัยคุกคามที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ และสังคม
ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีความสุข เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงทางสังคม และความสงบสุข ความสามัคคีก็จะเกิดขึ้นตามมา โดยทั้งหมดต้องยึดปัจจัยให้ประเทศเกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ต้องสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และพลังงานด้วย ส่วนความมั่นคงทางทหารนั้น หมายถึง ความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจะทำอย่างไรให้ประเทศเกิดความสงบสุข และรักษาอธิปไตยของประเทศ รวมถึงการปกป้องสถาบันฯ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง ปัญหาอุทกภัยที่ประเทศไทยประสบครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ สาเหตุหลักเกิดจากภัยธรรมชาติ และฝีมือของมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเราจะต้องหาวิธีการสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา และเราต้องเปลี่ยน วิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการฟื้นฟู ปรับโครงสร้างของประเทศอย่างถาวร และยั่งยืน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง

*** น้ำท่วมซัดไทยสูญ1.3ล้านล้านบาท
 

" จากปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ส่งผลทำให้เกิดความสูญเสียทางทรัพย์สิน และรายได้ของประเทศ ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท กระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และจะเห็นว่าตัวเลข 3 เดือนสุดท้าย กำลังการผลิตลดลงอย่างน่าใจหาย ดังนั้นจากนี้ไป สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ ต้องร่วมมือกันพัฒนา พลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรม ภารการเกษตร และภาคการส่งออกให้กลับคืนมาโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

** "ปู"ประชุมครม.ย่อย11-12 ธ.ค.
 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าวันที่ 11-12 ธ.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมครม.นัดพิเศษ ในลักษณะกลุ่มย่อย ร่วมกับรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เพื่อดำเนินการแก้ไข และหามาตรการเยียวยาปัญหาน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงติดตามความคืบหน้าแต่ละโครงการที่จัดทำขึ้น ว่ามีการดำเนินการไปมากน้อยเพียงใด เพื่อทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงการนำเสนอของบประมาณแค่ในครม.คร่าวๆ เท่านั้น ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการจะเน้นให้เห็นถึงความสุจริตใจ และความรอบคอบ ในการบริหาร

** จัดอีเวนต์ใหญ่แจก5พัน เขตดอนเมือง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไปร่วมงานบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ เขตดอนเมือง เพื่อร่วมฟื้นฟู ผู้ประสบภัย ในการทำความสะอาดบ้านเรือน ซ่อมเครื่องไฟฟ้าที่เสียหายจากเหตุน้ำท่วม โดยงานจะจัด ตั้งแต่ 10.00 - 16.00 น. และจะมีการระดมคนจากอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จาก 25 จังหวัด จำนวนหลายพันคน เพื่อมาร่วมกิจกรรมในลักษณะปูพรมทั่วพื้นที่ ครอบคลุม 84 ชุมชน 65 หมู่บ้าน ของเขตดอนเมือง

รายงานข่าวแจ้งว่า ในงานดังกล่าว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ถูกน้ำท่วม และบ้านเรือนเสียหาย นำหลักฐานมาแสดง เพื่อขอรับเงินชดเชย 5,000 บาท ต่อครัวเรือน ซึ่งจะมีการส่งมอบเงินในบริเวณงานทันที โดยไม่ต้องรอขั้นตอนแต่อย่างใด ซึ่งงานในส่วนนี้ จะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กทม. ที่จะมีการเชิญมาร่วมงานด้วย รวมไปถึงรัฐมนตรี จากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข แรงงาน พัฒนาสังคมฯ ทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

"จะเป็นงานอีเวนต์ ฟื้นฟูครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่รัฐบาลเคยจัดมา เพราะเวลานี้รัฐบาลมุ่งสู่การเยียวยาฟื้นฟู เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง" แหล่งข่าว ระบุ

**ศปภ.โยนภารกิจฟื้นฟูเยียวยาพ้นตัว

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ คลี่คลายไปมากแล้ว และทาง ศปภ. ก็ได้ลดขนาดลง โดยเหลือเพียงแค่บุคคลากรที่ใช้เพื่อประสานงานเท่านั้น ส่วนงานปฏิบัติการ ก็กลับไปอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ตามปกติ

โดย การฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด ให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ดูแล เช่นเดียวกับการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ก็มีคณะกรรมการที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ดูแลอยู่ โดย ศปภ.จะดูในเรื่องการเผชิญเหตุเฉพาะหน้าเท่านั้น

** มท.สรุปเงินเยียวยาจ่ายแล้ว2 พันล้าน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้สรุปการจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท กรณีอุทกภัย ปี 2554 ตามมติครม. เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 54 โดยล่าสุด สำหรับพื้นที่กทม.ที่ประสบอุทกภัย 30 เขต 621,355 ครัวเรือน คิดเป็นเงิน 3,106,775,000 บาท รวมส่งออมสินแล้ว 36,464 ครัวเรือน เป็นเงิน 182,320,000 บาท ยังคงเหลือ 584,891 ครัวเรือน เป็นเงิน 2,924,455,000 บาท ส่งออมสิน คิดเป็น 5.87 เปอร์เซ็นต์ คงเหลือ 94.13 เปอร์เซ็นต์

ส่วนพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 62 จังหวัด กรอบตามมติ ครม. จำนวน 2,289,562 ครัวเรือน เป็นเงิน 11,447,810,000 บาท รวมส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 434,588 ครัวเรือน เป็นเงิน 2,172,940,000 บาท คงเหลือ 1,854,974 ครัวเรือน เป็นเงิน 9,274,870,000 บาท ส่งออมสิน คิดเป็น 18.98 เปอร์เซ็นต์ คงเหลือ 81.02 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารออมสินจ่ายแล้ว 57,343 ครัวเรือน การจ่ายคิดเป็น 13.19 เปอร์เซ็นต์

** งบฟื้นฟูต้องผ่านกมธ.งบประมาณ
 

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เงา ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ครม.เงา ได้มีการติดตามมติครม.ของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะเรื่องอุทกภัย และมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู โดย ครม.เงา ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ยังมีการดำเนินการอยู่ รัฐบาลควรนำแผนการใช้เงิน รายละเอียดของโครงการ และจำนวนงบประมาณ ที่ต้องใช้เยียวยา ฟื้นฟู สาธารณูปโภคต่างๆ อาคาร สถานที่ราชการ ที่วางแผนไว้นั้น มายังกมธ.งบประมาณฯ เพื่อเปิดโอกาสให้สภาได้ตรวจสอบการใช้เงินของรัฐบาลชุดนี้ ด้วย

** ต้องออกมาตรการหลังน้ำลด

โฆษกพรรคปชป. กล่าวด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้พยายามสร้างภาพว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ถูกน้ำท่วม กำลังกลับสู่สภาวะปกติ และมุ่งเรื่องการเยียวยาฟื้นฟู แต่ข้อเท็จจริงนั้น ปัญหาที่มาหลังจากน้ำลด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระสอบทรายที่ถูกทิ้ง ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น เรื่องของโรคระบาด หรือสัตว์อันตรายต่างๆ ดูเหมือนจะไม่มีมาตรการออกมาดูแลและป้องกันที่อาจจะเกิดขึ้น

จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลได้ดูในรายละเอียดการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ดูแลเรื่องความสะอาด การเก็บถุงทราย การกำจัดยุงลาย สิ่งเหล่านี้จะเป็นการยืนยันเรื่องความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้กลับไปพักอาศัยในบ้านเรือนของตนเอง

ทั้งนี้ พรรคปชป.ขอเสนอว่า กระสอบทรายที่ไม่ได้ใช้แล้ว ควรจะส่งไปยังพื้นที่ที่น้ำยังท่วมขังอยู่ เพื่อเอาไปกั้นแล้วสูบน้ำออก จึงอยากจะเตือนรัฐบาลว่า อย่ามองแต่ภาพใหญ่อย่างเดียว อยากให้ดูจุดเล็กๆ รายละเอียดต่างๆ ด้วย

** แผนสร้างความเชื่อมั่นต้องชัดเจน

ส่วนการเยียวยา ฟื้นฟูในภาคอุตสาหกรรมนั้น เราเป็นห่วงเรื่องความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างชาติ หลังจากมีข่าวว่าไจก้า (JICA) ถอนการให้เงินช่วยเหลือในการทำคันกั้นน้ำนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นอีกตัวอย่างที่รัฐบาลขาดการประสานงานและให้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะทางรัฐบาลญี่ปุ่นระบุเองว่า ยังไม่มีการประสานข้อมูลหรือทำความเข้าใจในการใช้เงินไปทำคันกั้นน้ำ จึงมีการชะลอเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน

เมื่อข่าวออกมาเช่นนี้ก็สร้างความเสียหายให้กับภาพรวมอุตสาหกรรมของประเทศ ว่าต่างชาติไม่ให้ความมั่นใจ ซึ่งจากการที่เราได้พบปะกับนักลงทุนที่ผ่านมาคือ แผนการลงทุนในการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลในปีหน้า ยังไม่มีความชัดเจน หรือแม้แต่ไม่มีแผนการป้องกัน ดังนั้น การที่จะมาสร้างคันกั้นน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมตัวอย่าง เขาอาจจะไม่ทำ เพราะถ้าไปสร้างคันกั้นน้ำให้นิคมตัวเอง นิคมของเขาก็จะมีปัญหากับชุมชนโดยรอบ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาชะลอการช่วยเหลือ คือ ถ้าจะแก้ปัญหาแบบนี้ใครมีเงินก็มาลงทุนกันเอง ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่เป็นสากล แต่เขาต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาการป้องกันน้ำท่วมที่มาจากต้นน้ำก่อนจะมาถึงกทม. จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลว่า ตราบใดที่ยังไม่มีแผนป้องกันระยะยาวที่ชัดเจนครบวงจร การให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนคงทำไม่ได้ เพราะมีหลายบริษัทไม่มีความเชื่อมั่น
ล่าสุดบริษัทซัมซุง ก็ออกมาพูดถึงเรื่องความไม่ชัดเจนในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือด้วย
ในส่วนของมาตรการภาษีที่จะมาช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ก็อยากให้รัฐบาลได้ทำความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนภาษีที่จะลดให้กับบริษัทใดบ้าง ระยะเวลาเท่าไร ปริมาณนำเข้าที่จะมาชดเชยสินค้าหรือวัตถุดิบที่เสียหายจะทำได้มากน้อยเพียงใด สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องออกมาตรการเหล่านี้บนความเท่าเทียมกันของทุกบริษัท จึงจะช่วยเรื่องความเชื่อมั่นให้กลับมา

**ฟันธง ปีหน้าเบี้ยประกันพุ่ง

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเรื่องประกันภัย เราได้รับการประสานงานมาว่า บริษัทประกันภันยักษ์ใหญ่ของโลกขาดความเชื่อมั่นในการกลับมาให้บริการกับลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เบี้ยประกันจะเพิ่มสูงขึ้น

“เบี้ยประกันจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากแน่นอนในปีหน้า หรือหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจจะไม่มีบริษัทประกันภัย รับทำประกันบริษัทที่มาลงทุนในประเทศไทยเลยก็เป็นได้ ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการต่างๆ อาจจะทำเหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่รัฐบาลต้องออกมารับประกันภัยต่อให้กับบริษัทเอกชน เพื่อลดภาระให้กับบริษัทประกันภัยเหล่านี้ ซึ่งรัฐบาลต้องรีบพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ อย่างไร เพราะต้องมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตั้งงบประมาณรองรับ เราอยากเห็นรัฐบาลคิดอะไรที่ครบวงจร ไม่ใช่แก้ปัญหาไปวันๆ แล้วใช้คำพูดหลอกลวง บิดเบือนข้อเท็จจริงภายในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ด้วย" นายชวนนท์ กล่าว

**เดินหน้าสอบถุงยังชีพหมดอายุ

นายชวนนท์ ยังกล่าวถึง เรื่องการแจกถุงยังชีพหมดอายุที่ จ.นนทบุรี ว่าทางพรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายให้ผู้สมัครส.ส.ในพื้นที่ ดังกล่าว เข้าติดตามตรวจสอบในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หากินบนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน และทางนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กำชับว่า เรื่องอย่างนี้ต้องทำความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับสังคม

** 3 บ.เอกชนเบี้ยวแจงกมธ.ป.ป.ช.
 

ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้ มีวาระพิจารณา กรณีจัดซื้อสิ่งของอุปโภค บริโภค และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ผ่านมา โดยได้เชิญบริษัทเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อสิ่งของ จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พูนเจริญพาณิชย์ ร้านเอื้อธนพัฒน์ บริษัท ฟีเออร์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด และบริษัท เติมคอร์ปอเรชั่น (2008) จำกัด มาชี้แจง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงเวลาการประชุมพบว่า 3 ใน 4 บริษัท ได้ขอเลื่อนเข้าชี้แจง ส่วนทางบริษัท ฟีเออร์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด นั้น มีนาง ณอาภา สุคนธรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ได้เข้ามาชี้แจงต่อ กมธ.ว่า การจัดซื้อที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการจัดซื้อเต้นท์ และสุขาเคลื่อนที่ โดยมีนายธวัช สุคนธรัตน์ ลูกชายของตน เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาการจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวนั้น ได้ทำกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยการประมูล ยกเว้นในครั้งนี้ ที่ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการเรียกเก็บค่าหัวคิว 5-10 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ฝ่ายค้านโจมตี

**ระดับน้ำในคลองลดลง
 

วานนี้ (8 ธ.ค.) ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและ แก้ไขปัญหาอุทกภัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำในคลองสายหลักพื้นที่กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาระดับน้ำคลองแสนแสบลดลง 2-5 ซม.คลองประเวศบุรีรมย์ระดับน้ำลดลง 1-2 ซม. คลองลาดพร้าวระดับน้ำลดลง 2-4 ซม. คลองเปรมประชากร ระดับน้ำลดลง 5 ซม.คลองบางเขนระดับน้ำลดลง 3-5 ซม. และพื้นที่ฝั่งธนบุรีตอนบนระดับน้ำลดลง2-3 ซม.

สำหรับสถานการณ์น้ำทุ่ง ระดับน้ำคลองหกวาสายล่างด้านนอกเขตกทม. 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาระดับน้ำลดลง 7 ซม. ด้านดอนเมือง24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระดับน้ำลดลง 8 ซม. ส่วนคลองมหาสวัสดิ์ด้านนอกเขตกทม. 24ชั่วโมงที่ผ่านมาระดับน้ำลดลง 6 ซม.สำหรับฝั่งธนบุรีระดับน้ำในคลองบางพรมเสมอขอบตลิ่งคลองบางแวกระดับน้ำลดลง 4-5 ซม. คลองบางเชือกหนังระดับน้ำลดลง 7 ซม.

**กทม.ทุบสถิติเก็บขยะน้ำท่วมสูงสุด12,463 ตัน
 

วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.)ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยวันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตรวจวัดที่ปากคลองตลาด เมื่อเวลา 07.30 น. วัดได้ที่ระดับ 1.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งสถานการณ์น้ำทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ คลองในพื้นที่ส่วนใหญ่ระดับน้ำลดลงอย่างชัดเจน ส่วนการกู้ถนนบรมราชชนนี ช่วงบุญถาวรถึงคลองทวีวัฒนาฝั่งขาออกจะแล้วเสร็จในวันนี้ ส่วนขาเข้าคาดใช้เวลาประมาณ 1 - 2 วันในการดำเนินการให้สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า การจัดเก็บขยะเมื่อวันนี้ 7 ธ.ค. ทำสถิติสูงสุด รวม 12,463 ตัน คิดเป็นร้อยละ 146.62 ของปริมาณขยะในสภาวะปกติ คือ 8,500 ตัน นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนรถบรรทุกขยะจากจังหวัดนครปฐมเข้ามาเสริมกำลังด้วย

จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เเดินทางไปยังถนนสรงประภา เขตดอนเมือง เพื่อตรวจการจัดเก็บขยะในพื้นที่ ภายหลังจากที่ได้สั่งการให้เร่งระดมเก็บขยะในพื้นที่นี้กว่า 2,000 ตันให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งตั้งแต่วานนี้เจ้าหน้าที่กทม. ได้จัดเก็บไปแล้วตั้งแต่ต้นถนนสรงประภาถึงโรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง แต่ยังเหลือขยะส่วนหนึ่งอยู่ที่บริเวณหน้ากรมทหารสื่อสารจนถึงแยกแยกศรีสมาน ขยะเป็นจำนวนมากส่งกลิ่นเหม็น ทำให้เจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เร่งเก็บขยะ โดยนำรถหกล้อขนาดใหญ่ขนขยะออกจากพื้นที่ไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม (ท่าแร้ง)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ขยะได้ถูกเก็บไปแล้วจำนวนมากประมาณ 4,500 ตัน เหลือขยะตกค้างอยู่ 200 ตัน มีรถบรรทุกเก็บขยะ 55 คันทำงานตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าในวันนี้จะสามารถเก็บขยะบริเวณถนนสรงประภาได้ทั้งหมด ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตกรุงเทพฯ กลางทั้ง 9 เขต สำนักการโยธาและสำนักสิ่งแวดล้อม ที่ได้ให้ความร่วมมือในการช่วยเก็บขยะในพื้นที่เขตดอนเมือง ต่อจากนี้หากพื้นที่ใดมีปัญหาขยะเช่นนี้ ก็จะเข้าไปเร่งดำเนินการ แต่ที่สำคัญคือกทม.จะหาจุดทิ้งขยะ แต่คงไม่ง่ายนัก เพราะไม่มีใครอยากให้มีกองขยะอยู่ใกล้บ้านของตน อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าภายในวันที่ 31 ธ.ค. กรุงเทพฯต้องเป็นเมือง 3 ปลอด คือ ปลอดน้ำ ปลอดขยะ และปลอดยุง

**อีก 2 วัน หมู่บ้านเศรษฐกิจน้ำแห้ง
 

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในขณะนี้เริ่มคลี่คลายตามลำดับ การระบายน้ำที่ถนนพหลโยธินลดลงไป 7 ซม. ส่วนที่หมู่บ้านเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เมื่อ 2 วันที่แล้วได้มีความเข้าใจไม่ตรงกัน แต่ได้มีการทำความเข้าใจกันแล้ว ตนได้ส่งพ.ต.อ.สวัสดิ์ จำปาศรี

และนายสัญญา จันทรรัตน์ ที่ปรึกษากทม. เข้าไปเจรจากับผู้นำชุมชนแล้ว ขณะนี้ระดับน้ำในหมู่บ้านเศรษฐกิจสูงประมาณฟุตบาท คาดว่าจะใช้เวลาระบายน้ำให้แห้งใน 2 วัน ส่วนพื้นที่น้ำท่วมยังมีอยู่ที่เขตสายไหม ดอนเมืองและบางแค เหลือเวลาอีก 23 วันจะถึงสิ้นปี กทม.จะเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพราะตนไม่อยากให้ค้างคา ขอยืนยันว่าในช่วงที่น้ำท่วมไม่มีการเกิดโรคระบาดแน่นอน ส่วนใหญ่พบโรคตาแดง กทม.จะไม่ชะล่าใจ ตนจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

** 3 พื้นที่แห้งท้ายสุด ฝั่งตต.หมู่บ้านรอบอนุสรณ์สถาน
 

"สิ่งที่ผมจะทำเป็นอันดับแรกหลังน้ำแห้งทุกพื้นที่ คือจะเร่งยกระดับถนนที่ต่ำมาก โดยสามารถใช้งบประมาณที่กทม.มีอยู่ได้ทันที คาดว่าจะใช้เวลายกระดับถนนประมาณ 4-5 เดือน ส่วนพื้นที่ที่น้ำจะแห้งเป็นที่สุดท้ายในกรุงเทพฯ คือฝั่งตะวันตก เขตดอนเมือง ได้แก่หมู่บ้านโดยรอบอนุสรณ์สถาน" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว

ด้านพ.ต.อ.สวัสดิ์ จำปาศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯกทม.ให้เข้าเจรจากับผู้นำชุมชนหมู่บ้านเศรษฐกิจ กว่า 10 คน โดยกทม.จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง ขนาด 8-10 นิ้วให้เสร็จภายในวันนี้ จากเดิมที่มีอยู่ 4 เครื่อง เป็น 10 เครื่องเร่งระบายน้ำออกจากหมู่บ้าน ทั้งนี้ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะติดตั้งที่บริเวณใดจึงจะเหมาะสม คาดว่าจะระบายน้ำให้แห้งได้ภายใน 2-3 วัน ตนได้ขอร้องให้ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มครองการทำงานของเจ้า หน้าที่สำนักการระบายน้ำด้วย หากมีชาวบ้านเข้ามาขัดขวางการทำงาน ทั้งนี้ประชาชนยังมีความเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำจากจังหวัดนนทบุรียังมีระดับสูง หากมีการทำลายประตูระบายคลองทวีวัฒนา ก็อาจจะทำให้น้ำตลบกลับมายังพื้นที่หมู่บ้านเหมือนเดิม และประชาชนอาจตั้งตัวไม่ทัน จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

**ฟุ้งพหลฯแห้งใน 3 วัน
 

จากนั้นเวลา 15.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เดินทางมายังถนนพหลโยธิน บริเวณแยกลำลูกกา ซึ่งขณะนี้ยังมีน้ำท่วมถนนสูง 30-40 ซม. ซึ่งผู้ว่าฯกทม. ได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำเร่งระบายน้ำ โดยได้กล่าวกับประชาชนว่า อีก 3 วันจะทำให้พื้นที่ถนนพหลโยธินตั้งแต่แยกกรมควบคุมหฏิบัติการทางอากาศ (คปอ.) ถึงอนุสรณ์สถาน

**บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ พุทธมณฑล 11 ธ.ค.นี้
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ พศ.จะดำเนินการจัดบิ๊กคลีนนิ่ง ทำความสะอาดพุทธมณฑล ในวันที่ 11 ธันวาคม นี้ โดยจะค่อยๆเริ่มทำความสะอาดในส่วนที่ดำเนินการได้ก่อน และจะทำเป็นระยะต่อเนื่องไป ในขณะเดียวกันจะรอให้พื้นที่โดยรอบพุทธมณฑลระดับน้ำลดลงก่อน จึงจะดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ การดำเนินการทำความสะอาดที่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยให้การฟื้นฟูทำง่าย ขึ้นกว่าการมาทำครั้งเดียว ดังนั้น หากหน่วยงานใดหรือประชาชนจะมาร่วมทำความสะอาดเราก็ยินดี
กำลังโหลดความคิดเห็น