นายกฯ เปิดหลักสูตร วปอ.รุ่น 54 อ้างมหันตภัยน้ำท่วมฝีมือธรรมชาติและมนุษย์ ฉุดรายได้ไทย 1.3 ล้านล้านบาท เตรียมใช้วิกฤตเป็นโอกาสปรับโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อ “กองทัพ-รัฐบาล-ปชช.” ร่วมมือกันสามารถขจัดภัยคุกคามได้ ทำให้เศรษฐกิจชาติเข้มแข็ง
วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ห้องบรรยายรวมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เมื่อเวลา 09.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดการศึกษาของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 54 และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 24 ประจำปีการศึกษา 2554-2555
โดยนายกรัฐมนตรีบรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐและเอกชนในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ว่า สถานการโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว การเปลี่ยนแปลงกระทบความมั่นคงด้วย ดังนั้นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อป้องกันและรักษาความมั่นคงของชาติ ซึ่งในความหมายของตนเอง คือ ทำอย่างไรให้ประเทศชาติมีความมั่นคงยั่งยืน ที่สำคัญคือความสงบสุข ดังนั้น คำว่าการรักษาความมั่นคงแห่งชาติถือเป็นนโยบายระดับชาติของรัฐบาล ที่จะมุ่งสร้างสภาวะแวดล้อม ที่สำคัญคือสภาวะแวดล้อมของความสันติสุข เพื่อเป็นการคุ้มกันภัย ปัญหาต่างๆ หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน เมื่อมีการสร้างสภาวะต่างๆ ให้เกิดความสันติสุข การแก้ไขต้นเหตุภัยคุกคามเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ เข้าใจต้นสายปลายเหตุ เพื่อรักษาให้เกิดความมั่นคง ที่สำคัญทำอย่างไรที่จะเรียนรู้และเข้าใจและพัฒนาไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้น ความร่วมมือของภาครัฐ ประชาชน และภาคสังคมจะเป็นกลไกเหมือสามเหลี่ยมที่ต้องทำงานด้วยกันอย่างแยกไม่ออก เพราะการทำงานด้านเดียวย่อมไม่เกิดความสำเร็จ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องนโยบายหรือหลักการต้องอยู่บนพื้นฐานความเตรียมพร้อมแห่งชาติ โดยเน้นไปที่การบริหารและการรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งมี 2 ประเภท คือ 1.ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ และ 2.ภัยที่เกิดจากมนุษย์ โดยเราต้องทำความเข้าใจและเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ในทุกรูปแบบทุกมิติ ส่วนด้านความมั่นคงคงของประเทศตนเองมองว่ามความหมายหลายนัย และเป็นความมั่นนคงหลายด้าน ด้านแรกคือ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข ความสงบสุขความสามัคคีก็จะเกิดขึ้นและจะส่งผลถึงควาทั่นคงทางสังคมทำให้คุณภาพชีวิตต่างๆ ดีขึ้น ความมั่นคงอีกด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งพลังงานที่ต้องดูแล ส่วนความมั่นคงทางทหารนั้น หมายถึงความมั่นคงของประเทศซึ่งจะทำอย่างไรให้ประเทศเกิดความสงบสุข และรักษาอธิปไตยของประเทศและปกป้องสถาบัน
นายกฯ กล่าวด้วยว่า ความมั่นคงทางด้านสังคมและเศรษฐกินต้องยึดปัจจัยให้ประเทศเกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และที่ประเทศไทยประสบอุทกภัยถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเราจะต้องหาวิธีกลับมาสร้างความมั่นคง พร้อมกับยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจทางยุโรปอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวันข้างหน้า ดังนั้นเราต้องเรียนรู้และปรับตัว
อย่างไรก็ตาม จากภาวะมหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้สาเหตุหลักมาจากภัยธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์ ซึ่งเราต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ฟื้นฟูปรับโครงสร้างของประเทศอย่างถาวรยั่งยืน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง โดยรัฐบาลจะพยายามให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจเราจะไม่เผชิญกับปัญหาอย่างนี้อีก ซึ่งปัญหาน้ำท่วมซึ่งจำนวนความสูญเสียนรจากน้ำท่วมในส่วนทรัพย์สินและรายได้ของประเทศอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค่อนข้างสูง และจะเห็นว่าตัวเลข 3 เดือนสุดท้ายกำลังการผลิตลงการใช้ลดลงอย่างน่าใจหาย ดังนั้น จากนี้ไปสิ่งที่ต้องเร่งทำคือต้องร่วมมือกันพัฒนาพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคส่งออกกลับคืนมาโดยเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ