xs
xsm
sm
md
lg

‘แมร์โกซี’นัดเคลียร์ข้อขัดแย้ง สรุปแผนกู้วิกฤตเสนอผู้นำอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส เปิดการหารือกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้(5) ภายใต้ความกดดันจากนานาชาติและตลาดการเงินทั่วโลก ที่จะให้ 2 ผู้นำสำคัญที่สุดแห่งเขตยูโรโซน เร่งสะสางความเห็นต่างกันที่ยังดำรงอยู่ และจัดเตรียมข้อเสนอร่วมอันหนักแน่นจริงจัง ในการแก้ไขวิกฤตหนี้ที่คุกคามสหภาพการเงินยุโรป ต่อที่ประชุมสุดยอดอียูปลายสัปดาห์นี้
หลังจากต่างฝ่ายต่างสรุปมุมมองของตนเองเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพการคลังขึ้นมาในยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซาร์โกซีก็เปิดการเจรจาหารือกับแมร์เคิล ที่กรุงปารีสเพื่อคลี่คลายความคิดเห็นที่ยังต่างกันและสรุปข้อเสนอให้เสร็จสิ้นในวันพฤหัสบดี(8)นี้ หรือ 1 วันก่อนการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (อียู) ในกรุงบรัสเซลส์
สืบเนื่องจาก แมร์เคิล (Merkel) กับ ซาร์โกซี (Sarkozy) เปิดการหารือกันครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะหลังๆ มานี้ เพื่อพยายามทำให้เขตยูโรโซนกลับเป็นที่เชื่อมั่นของนานาชาติและตลาดการเงินอีกคำรบหนึ่ง จึงมีการเรียกขานรวบชื่อผู้นำทั้งสองเข้าด้วยกันว่า “แมร์โกซี” (Merkozy) โดยเวลานี้เป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า แมร์โกซีจะทำความตกลงกันเกี่ยวกับวินัยด้านงบประมาณที่เคร่งครัดขึ้นในยูโรโซน เช่น ด้วยการแก้ไขสนธิสัญญาอียูที่ทั้งคู่ต้องการให้ผู้นำทั้ง 27 ชาติอนุมัติในซัมมิตวันศุกร์ (9)
สัปดาห์ที่แล้วตลาดทะยานขึ้นคึกคักหลังจากที่ธนาคารกลางของ 6 ประเทศร่วมกันช่วยเหลือแบงก์ยุโรป และจากความหวังในแผนการใหญ่ของปารีส-เบอร์ลิน ขณะที่มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่า ถ้ายูโรโซนทำ 'ข้อตกลงทางการคลัง' กันได้ อีซีบีก็น่าจะพร้อมดำเนินการเด็ดขาดยิ่งขึ้นเพื่อต่อสู้วิกฤต
ประเด็นที่ติดขัดคือ ฝรั่งเศสคัดค้านเยอรมนีที่ต้องการให้ประเทศในยูโรโซนมอบอำนาจควบคุมงบประมาณให้แก่เจ้าหน้าที่ยุโรป
วาเลอรี เปแครส โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส กล่าวทางสถานีวิทยุฟรานซ์ อินเตอร์ของฝรั่งเศสว่า ยุโรปจำเป็นต้องการแก้ไขสนธิสัญญาเชิงลึกหลายๆ ประเด็น แต่เธอก็ย้ำว่า การใช้มาตรการลงโทษประเทศที่บริหารการคลังผิดพลาด ตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอไว้นั้น ในขั้นตอนสุดท้ายควรต้องให้ระดับรัฐบาลต่างๆ ของยูโรโซนเป็นผู้ตัดสินใจ
ทั้งนี้ ขณะที่เบอร์ลินที่เบื่อหน่ายกับมาตรการช่วยเหลือราคาแพง และต้องการให้อียูเป็นระบบที่ควบคุมจากส่วนกลางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ซาร์โกซีซึ่งกำลังจะต้องเข้ารับการเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งในอีก 5 เดือนข้างหน้า กลับถูกกดดันหนักจากคู่แข่งทางการเมืองที่รุมกล่าวหาว่า เขาพร้อมมอบอธิปไตยของประเทศให้แก่เจ้าหน้าที่อียู ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลย
ร้อนถึงบรูโน เลอ มารี รัฐมนตรีเกษตรและผู้ช่วยใกล้ชิดของซาร์โกซี ต้องออกมาชี้แจงเมื่อวันอาทิตย์ (4) ว่ามาตรการที่ฝรั่งเศสต้องการนั้นไม่ได้ลดทอนอำนาจอธิปไตยของประเทศ แต่มุ่งให้มีการควบคุมงบประมาณของชาติยูโรโซนต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อฟื้นความมั่นใจและตัดกำลังของตลาดที่บั่นทอนสถานะการคลังของรัฐ
นอกจากนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสยังคัดค้านแนวคิดอีกแนวหนึ่งที่ออกมาจากเบอร์ลิน ซึ่งจะให้ศาลยุติธรรมยุโรป สามารถวินิจฉัยเพื่อใช้อำนาจวีโต้การจัดทำงบประมาณของประเทศยูโรโซน

มีนักวิเคราะห์จำนวนมากตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การคัดค้านจากสมาชิกชาติอื่นๆ ต่อระบบการคลังที่เข้มงวดอีกทั้งมีการแทรกแซงจากภายนอกเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้แผนการกู้วิกฤตของเยอรมนีและฝรั่งเศสล้มเหลวลงไปอีก
หลายประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ออกมาแสดงท่าทีแล้วว่าคัดค้านการแก้ไขสนธิสัญญา ทั้งด้วยเหตุผลภายในประเทศ และกลัวว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนในการลงประชามติ
อนึ่ง นอกจากหารือกับแมร์เคิลแล้ว ในวันพุธ (7) ซาร์โกซียังมีนัดต้อนรับ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ซึ่งนับจากต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมา เดินทางสู่ยุโรปเป็นครั้งที่ 4 แล้ว สะท้อนถึงความกังวลของวอชิงตันที่มีต่อยูโรโซน
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ไกธ์เนอร์ก็มีนัดหารือกับดรากีและเจ้าหน้าที่เยอรมัน ตลอดจนร่วมประชุมกับผู้นำอียูในการประชุมทางการเมืองว่าด้วยเรื่องวิกฤตยูโรที่เมืองมาร์เซย์ในช่วงปลายสัปดาห์ จากนั้นจึงถึงคิวการพบปะกับนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ ของอิตาลี
กำลังโหลดความคิดเห็น