xs
xsm
sm
md
lg

อียูออกบทบัญญัติจัดการวิกฤตหนี้แทนแก้สนธิสัญญาหลังอังกฤษค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแถลงข่าวระหว่างการประชุมซัมมิทอียู โดยเผยให้เห็นถึงความสำเร็จในการจับมือกันสนับสนุนบทบัญญัติทางการคลัง
เอเอฟพี - เหล่าผู้นำของสหภาพยุโรปยกเว้นอังกฤษเมื่อวันศุกร์(9) จับมือกันสนับสนุนบทบัญญัติทางการคลังหรือนโยบายเพิ่มความเข้มงวดในกฎเกณฑ์ด้านงบประมาณแทนการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาอียู ณ ที่ประชุมซัมมิทที่ถูกมองว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะปกป้องยูโรโซนจากวิกฤตหนี้ที่ลุกลาม

ที่ประชุมในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ชาติสมาชิก 26 จาก 27 ประเทศส่งสัญญาณว่าพวกเขามีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมใน "บทบัญญัติทางการคลัง" เพื่อคลี่คลายวิกฤตหนี้ที่คุกคามสถานภาพของกลุ่มสหภาพการเงินนี้มานานกว่า 2 ปี

อย่างไรก็ตามข้อตกลงนี้มีออกมาโดยต้องแลกด้วยความแตกแยก เมื่ออังกฤษ ชาติสมาชิกที่ไม่ใช้เงินสกุลยูโรคัดค้านฝรั่งเศสและเยอรมนีที่พยายามผลักดันให้กฎเกณฑ์ทางงบประมาณใหม่นี้บรรจุอยู่ภายในสนธิสัญญาอียูฉบับแก้ไข

"อังกฤษไม่ได้ใช้ยูโรและด้วยความเคารพ เราก็เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน" นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าว กล่าวขณะที่การประชุมได้เริ่มต้นอีกครั้งในวันศุกร์(9) ทั้งนี้เธอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบต่อบทบัญญัติทางการคลัง ที่ในนั้นกำหนดมาตรการลงโทษเกือบอัตโนมัติต่อชาติละเมิดข้อบังคับการก่อหนี้และขาดดุลงบประมาณ "เราจำเป็นต้องเรียนรู้ความผิดพลาดจากอดีต" เธอบอก

ถ้อยแถลงของเหล่าผู้นำอียูบอกว่ามี 17 ชาติสมาชิกที่ลงนามในบทบัญญัตินี้แล้ว ส่วนอีก 9 ชาติแสดงออกถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วมในกระบวนการนี้แต่ขอนำเรื่องนี้ไปหารือกับรัฐสภาของแต่ละประเทศเสียก่อน

บทบัญญัติดังกล่าวมีเป้าหมายหยุดพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัวของชาติสมาชิกอันถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นตอของวิกฤตหนี้ที่คุกคามยุโรปมานานกว่า 2 ปี และในนั้นประกอบด้วยมาตราที่ระบุว่ามีเพียงเสียงส่วนใหญ่ของชาติมหาอำนาจเท่านั้นที่สามารถขวางมาตรการลงโทษโดยอัตโนมัติได้

เหล่าผู้นำบางส่วนแสดงความหวังว่าความคืบหน้าครั้งนี้จะจุดประกายให้ธนาคารกลางยุโรปเพิ่มบทบาทมากขึ้นต่อวิกฤตหนี้ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีเรียกร้องขอให้ยูโรโซนเห็นชอบต่อบทบัญญัติทางการคลังใหม่นี้ และหลังจากทราบผลเขาก็แสดงความชื่นชมต่อความร่วมมือดังกล่าวและเชื่อว่าการตัดสินครั้งนี้ของที่ประชุมจะส่งผลดีภายหลังต่อยูโรโซน

อย่างไรก็ตามบทบัญญัตินี้ก็นำมาซึ่งความแตกแยกกันภายในชาติสมาชิก หลังประธานาธบดีซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศส ตำหนินายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ปฏิเสธความพยายามของอียูเพื่อปกป้องภาคบริการด้านการเงินขนาดใหญ่ของลอนดอนว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

นายคาเมรอน กล่าวก่อนหน้านี้ว่าเขาจะไม่ลงนามรับรองการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาสหภาพยุโรป (อียู) หากขัดผลประโยชน์ของประเทศ “ผมจะไม่ลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่ให้การคุ้มครองในประเด็นต่างๆ เช่น ความสำคัญของตลาดเดียวและบริการทางการเงิน" นายคาเมรอนกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี กรุงลอนดอน

นายกรัฐมนตรีอังกฤษรายนี้แสดงความวิตกว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ อาจทำให้ตลาดเปิดที่รองรับสินค้าและบริการจากอังกฤษมีกฎเกณฑ์เข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เขายังแสดงความกระตือรือร้นที่จะปกป้องสถานะของกรุงลอนดอนในฐานะที่เป็นเมืองหลวงทางการเงินของยุโรป เนื่องจากรายได้จากภาคการเงินคิดเป็น 11% ของรายได้จากภาษีทั้งหมดของรัฐบาลอังกฤษ
กำลังโหลดความคิดเห็น