xs
xsm
sm
md
lg

คาด ECB ลดดอกอีกพฤหัสฯนี้-แถมอาจประกาศมาตรการ “ไม่ปกติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีคนใหม่
เอเอฟพี - คาดปลายสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในรอบสองเดือน ตลาดยังจะเฝ้าจับตา ‘มาตรการไม่ปกติ’ ที่แบงก์กลางของเขตยูโรโซนแห่งนี้อาจประกาศออกมาเพื่อพยายามควบคุมวิกฤต

คณะกรรมาธิการที่เป็นผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะประชุมกันเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยประจำเดือนสุดท้ายของปีนี้ในวันพฤหัสฯ (8) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พวกผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) นัดพบกันที่บรัสเซลส์ เพื่อหารือถึงวิธีแก้ไขวิกฤตที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของระบบเงินสกุลเดียวแห่งยุโรป

รัฐบาลของหลายชาติและนักวิเคราะห์มากมาย มองว่า อีซีบีเป็นสถาบันเดียวที่สามารถดับวิกฤตหนี้ในเงื่อนไขเฉพาะหน้าได้ ทว่า มาริโอ ดรากี ประธานใหม่ของอีซีบี ย้ำหลายครั้งว่า บทบาทดังกล่าวเป็นเพียงบทบาทชั่วคราว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ชาติสมาชิกต้องรักษาระบบระเบียบทางการคลังของตนเอง

ตอนที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว ดรากีสร้างเซอร์ไพรส์ให้ตลาดด้วยการประกาศลดดอกเบี้ยทันที 0.25% ขณะที่ 17 ชาติยูโรโซนซวนเซใกล้ปากเหวการถดถอยครั้งใหม่

ตลาดและผู้สังเกตการณ์คาดการณ์ว่า เดือนนี้อีซีบีจะสานต่อมาตรการดังกล่าวด้วยการลดต้นทุนกู้ยืมในยูโรโซนลงอีกจนกระทั่งเหลือ 1.0%

มิเชล ชูเบิร์ต และราล์ฟ โซลวีน นักเศรษฐศาสตร์ของคอมเมิร์ซแบงก์ ชี้ว่า การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของอีซีบีที่จะออกมาวันพฤหัสฯ เช่นเดียวกัน น่าจะมีการปรับลดตัวเลขลงอย่างมากนั้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่า อีซีบีจะตัดสินใจลดดอกเบี้ย

ด้วยความที่เรื่องนี้เป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางแล้ว ดังนั้น จุดสนใจในวันพฤหัสฯ จึงไปอยู่ที่ ‘มาตรการไม่ปกติ’ ที่ดรากีจะประกาศออกมาด้วย เพื่อพยายามให้วิกฤตอยู่ในความควบคุม

เจนนิเฟอร์ แม็กคีโอน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ชี้ว่า ขณะนี้ สัญญาณที่บ่งชี้ภาวะตึงเครียดในภาคการเงินชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากการที่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารพุ่งขึ้น และแบงก์เลือกฝากเงินกับอีซีบีมากขึ้นแทนที่จะปล่อยกู้ระหว่างกัน

สัญญาณตอกย้ำเรื่องนี้ยังมาจากการที่อีซีบีล้มเหลวในการ ‘ฆ่าเชื้อ’ หรือดูดซับสภาพคล่องที่ล้นเกินจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดผ่านโปรแกรมการซื้อพันธบัตรของประเทศที่มีปัญหา

หนึ่งในคำตอบสำหรับเรื่องนี้อาจเป็นการที่อีซีบีขยายระยะเวลาในการจัดหาสภาพคล่องจาก 1 ปีในปัจจุบัน เป็น 2-3 ปี และประโยชน์สูงสุดของมาตรการนี้จะเกิดขึ้นได้จากการผ่อนคลายกฎเกี่ยวกับสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

โดยรวมแล้วนักวิเคราะห์เชื่อว่า อีซีบีกำลังเตรียมดำเนินการแข็งกร้าวมากขึ้น และมีแนวโน้มว่า จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้นำอียูยอมรับกรอบโครงการคลังที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจเป็นในช่วงระหว่างการประชุมสุดยอดวันที่ 8-9 นี้ที่บรัสเซลส์

กระนั้น ยังมีนักวิเคราะห์บางคน อาทิ โฮลเกอร์ ชมิดดิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเบเรนเบิร์ก แบงก์ ที่เชื่อว่า ซัมมิตปลายสัปดาห์นี้จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงเพียงเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่อาจต้องรอถึงต้นปีหน้าจึงจะได้เห็นการเข้าแทรกแซงเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากอีซีบีและบุนเดสแบงก์ (ธนาคารกลางเยอรมนี) ตระหนักว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น