แพร่ - พัฒนาสังคมฯ แพร่ ออกตั้งโต๊ะแจกตังค์ 500 บาทต่อหัว ทั่วอำเภอลอง ท่ามกลางกระแสข่าวหัวคะแนนนักการเมืองถูกชาวบ้านทวงสัญญาซื้อเสียงเลือกตั้ง ขณะที่ พม.แพร่ยืนยันเป็นเงินช่วยน้ำท่วม-เบี้ยเลี้ยงสอนอาชีพระยะสั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ว่า ขณะที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่(พม.) ได้นำเงินสดแจกให้แก่ประชาชนในเขต อ.ลอง จ.แพร่ รายละ 500 บาท เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนำไปแจกที่ ต.เวียงต้า 556 ราย ต.ต้าผาม็อก 391 ราย ต.บ้านปิน 592 ราย แจกที่โรงเรียนลองวิทยา ต.ห้วยอ้อ 845 ราย ต.บ่อเหล็กลอง 429 ราย ต.ปากกลาง จำนวน 442 ราย ต.ปากจอก 643 ราย ต.แม่ปาน 336 ราย และ ต.หัวทุ่ง ที่วัดเชตวัน 496 ราย
เป็นที่น่าสังเกตว่า การแจกเงินครั้งนี้มีนางวรนุชนันท์ พงษ์สุรางค์ ผู้สมัครเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่( อบจ.แพร่) ของพรรคเพื่อไทย ที่สอบตก เป็นประธานแจกเงิน ในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและมีคณะกรรมการของ ส.ส.จังหวัดแพร่ เข้าควบคุมการทำงานทุกขั้นตอน
ขณะเดียวกัน การแจกเงินดังกล่าวมีกระแสใน อ.ลอง ว่าเป็นการนำเงินมาให้ชาวบ้านเนื่องจากการสัญญาซื้อเสียง
ชาวบ้านรายหนึ่งใน ต.หัวทุ่ง อ.ลอง จ.แพร่ เปิดเผยว่า การนำเงินมาแจกในครั้งนี้ ชาวบ้านเป็นคนทวงให้หัวคะแนนของพรรคการเมืองหนึ่งนำมาให้โดยด่วน เพราะได้สัญญาไว้กับชาวบ้านในการซื้อเสียงรับเลือกตั้งในเครือข่าย ซึ่งชาวบ้านได้ทำการเลือกตั้งตามเงื่อนไขของหัวคะแนนที่สัญญาว่าจะจ่ายให้ ถ้าไม่ได้ในวันดังกล่าวจะไปร้องเรียนที่ศาลากลางจังหวัดแพร่
ขณะที่ชาวนารายหนึ่งใน ต.หัวทุ่ง อ.ลอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ไม่ได้รับงบประมาณดังกล่าวกล่าวว่า ตนไม่ได้รับเงิน เนื่องจากไม่ชอบและไม่เลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย จึงไม่ถูกคัดรายชื่อไปรับเงินหัวละ 500 บาท ที่พัฒนาสังคมฯ นำมาแจกให้แก่ชาวบ้าน
ด้าน นางธิภกร นันทะพงษ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า การนำเงินแจกรายละ 500 บาท ดังกล่าวเป็นการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา โดยเป็นโครงการฝึกอาชีพระยะสั้น ซึ่งการนำเงินลงแจกในครั้งนี้มีการสอนให้ทำอีเอ็มบอล และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำไปรักษาสิ่งแวดล้อมหลังน้ำลดด้วย ไม่ได้เป็นการนำงบมาจ่ายเพื่อการซื้อเสียงอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจแต่อย่างใด
“โครงการดังกล่าวมีก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ.แพร่แล้ว โดยเป็นงบประมาณจากรัฐบาลที่ช่วยผู้ประสบภัย ซึ่งแจกไปก่อนแล้วใน อ.สูงเม่น อ.เด่นชัย อ.ร้องกวาง และ อ.เมือง ส่วนที่ อ.ลอง นำเงินมาแจกเป็นที่สุดท้ายในวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในพื้นที่เปิดเผยด้วยว่า การนำมาแจกในวันดังกล่าวเป็นวันที่ชาวบ้านในหลายตำบลของอ.ลอง ขีดเส้นตายกับหัวคะแนนว่า ถ้าไม่นำเงินซื้อเสียงมาให้ทั้งๆ ที่ชาวบ้านไปลงคะแนนให้แล้ว จะไปชุมนุมที่ศาลากลางเพื่อเปิดโปงพฤติกรรมของการซื้อเสียงในครั้งนี้ จึงทำให้มีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
นอกจากนี้ ชาวบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่บางพื้นที่ไม่ได้ประสบภัยน้ำท่วม แต่โครงการดังกล่าวกลับเข้าไปแจกเงินอย่างทั่วถึง ขณะที่มีชาวบ้านจำนวนมากที่ยากจนและประสบภัยน้ำท่วมไม่ถูกคัดเลือกมารับเงิน ส่วนการฝึกอาชีพระยะสั้นก็ไม่มีการฝึกแต่อย่างใด เพียงแต่ใช้วิธีการทำหลักฐานการจ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบราชการเท่านั้น ซึ่งการแจกในครั้งนี้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับเงินอีกจำนวนหนึ่งในเขต อ.ลอง ที่ยังไม่พอใจ
นายอำนวย พลหล้า ผู้แทนสภาพัฒนาการเมืองจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นภาระหน้าที่ของ กกต.จังหวัดที่ต้องทำงาน และที่สำคัญเรื่องนี้ควรมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นการพัฒนากระบวนทัศน์ของประชาชนในการเข้าสู่การเลือกตั้งทุกครั้งทุกระดับ ควรออกมาเป็นหูเป็นตาให้แก่หน่วยงานที่ตรวจสอบหรือตั้งกลุ่มตรวจสอบกันขึ้นมาจะทางลับหรือเปิดเผยก็ได้ จะทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะขั้นตอนที่โปร่งใสตรวจสอบได้คือขั้นตอนประชาธิปไตย ไม่ใช่การไปเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการช่วยเหลือน้ำท่วม แต่มีการแจกในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ก็ควรนำปัญหานี้ไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงอย่านิ่งเฉย