xs
xsm
sm
md
lg

ทำผิดกฎหมายและศีลธรรม : กรรมที่ไม่ควรนิรโทษ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ก่อนที่จะบอกว่า ทำอย่างไรผิดกฎหมาย ทำอย่างไรผิดศีลธรรม ผู้เขียนใคร่ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า อะไรคือกฎหมาย อะไรคือศีลธรรม และทั้ง 2 ประการนี้ต่างกันอย่างไร

กฎหมาย คือบทบัญญัติที่ทางฝ่ายอาณาจักรตราขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองบ้านเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยการปกป้องและรักษาความเป็นธรรมแก่พลเมืองของประเทศโดยความเสมอภาคกัน

กฎหมายแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ในทำนองเดียวกับพระวินัยซึ่งใช้ปกครองสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการออกกฎหมายในเวลาต่อมา คือ เป็นข้อห้ามประการหนึ่ง และเป็นข้ออนุญาตประการหนึ่ง

ในส่วนที่เป็นข้อห้าม ถ้าผู้ใดล่วงละเมิดจะต้องถูกลงโทษเสมอภาคกันทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนจะเป็นโทษหนักหรือเบา เป็นไปตามนัยแห่งบทบัญญัตินั้นๆ

ในส่วนที่เป็นข้ออนุญาต เป็นการบอกให้รู้ว่าในฐานะพลเมืองของประเทศ มีสิทธิและเสรีภาพในการทำอะไรได้บ้าง

ศีลธรรม เป็นบทบัญญัติหรือเป็นคำสอนที่ศาสดาแต่ละศาสนาได้สั่งสอนไว้ ผู้เป็นศาสนิกปฏิบัติตาม มีความหมายโดยแยกออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. ส่วนที่เป็นศีล แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ในทำนองเดียวกับกฎหมาย คือ เป็นข้อห้ามมิให้กระทำ และถ้าผู้ใดกระทำถือว่าผิดศีล และมีบทลงโทษหนักเบาเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ และเป็นข้ออนุญาต เป็นการบอกให้รู้ว่าผู้ที่อยู่ในเพศภาวะนักบวชทำอะไรได้บ้าง แต่ถึงแม้ไม่ทำก็ไม่ต้องถูกลงโทษ

2. ส่วนที่เป็นธรรมะ ได้แก่ข้อปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตมีความสุข และพ้นจากความทุกข์ ส่วนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ

2.1 ศรัทธา และวิริยะ หรือความเชื่อและความเพียรในการปฏิบัติ ว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน

2.2 คุณภาพของคำสอน มีมากน้อยแค่ไหนที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติตามประสบความสุข และพ้นไปจากความทุกข์

จริงอยู่ คำสอนของทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ส่วนจะดีมากหรือน้อยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของคำสอนว่ามีคุณภาพมากน้อยแค่ไหนที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติตามพบความสุข และพ้นทุกข์ได้ ในทำนองเดียวกันกับอาหารทุกประเภทช่วยให้ผู้บริโภคมีชีวิตอยู่ได้ แต่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง และเติบโตรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับคุณค่าทางโภชนาการที่มีอยู่นั่นเอง

เมื่อได้ปูพื้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและศีลธรรมพอเป็นสังเขปดังที่กล่าวมาแล้ว ต่อไปจะขอนำท่านผู้อ่านเข้าสู่ประเด็นเกี่ยวกับกรรมหรือการกระทำที่ไม่ควรนิรโทษ เนื่องจากเป็นความผิดทั้งในด้านกฎหมาย และในด้านศีลธรรม เป็นอย่างไร

ในทางพุทธศาสนา การกระทำไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา จะจัดว่าเป็นกรรมก็ต่อเมื่อมีเจตนาเข้ามาเป็นส่วนประกอบหลักในขณะที่พูดและขณะที่ทำ จะเห็นได้จากพุทธพจน์ที่ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” แปลเป็นไทยว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรา (ตถาคต) ย่อมกล่าวว่า เจตนาคือกรรม

โดยนัยแห่งคำสอนในทางพุทธศาสนา คำกัมมะในภาษาบาลีหรือกรรมในภาษาสันสกฤตเป็นคำกลางๆ หรือเป็นอัพยากฤต ไม่ดี ไม่ชั่ว ถ้าเป็นกรรมดีจะเรียกว่ากุศลกรรม และถ้าเป็นกรรมชั่วจะเรียกว่า อกุศลกรรม

ส่วนประเด็นที่ว่า การทำผิดทางกฎหมาย และการทำผิดศีลธรรมต่างกันอย่างไรนั้น หมายถึงการทำด้วยเจตนาซึ่งมีความแตกต่างกันใน 2 ลักษณะดังต่อไปนี้

1. ลักษณะของการให้โทษ

2. กระบวนการลงโทษหรือกระบวนการในการกำหนดโทษ

ในแง่ของการให้โทษ ผู้กระทำผิดศีลธรรมจะมีผลในทางจิตใจ และในทางสังคม กล่าวคือ ผู้กระทำผิดจะเดือดร้อน และเป็นทุกข์ทางใจเมื่อเกิดความสำนึกว่าตนเองได้กระทำผิด แต่ในกรณีที่ผู้กระทำผิดไม่เกิดความสำนึก และไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เนื่องจากเป็นคนดื้อด้าน ไม่ละอายต่อบาป ก็จะตกเป็นจำเลยทางสังคม จะถูกผู้คนในสังคมรังเกียจ ไม่คบค้าสมาคมด้วย และกลายเป็นบุคคลล้มละลายทางสังคม ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีคนนับหน้าถือตา ในที่สุดก็กลายเป็นจัญไรบุคคลในสายตาคนดี จะมีคนยกย่องอยู่บ้างก็เป็นคนประเภทเดียวกัน

ส่วนการให้โทษในทางกฎหมาย จะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องมีคนฟ้องร้อง และมีการสอบสวนหาพยานหลักฐาน และถ้ามีพยานหลักฐานเพียงพอก็จะขึ้นสู่กระบวนการพิจารณาลงโทษตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอก็ยกฟ้อง

ดังนั้น การลงโทษในทางกฎหมายจึงกลายเป็นช่องโหว่ช่องว่างให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจสามารถหลบเลี่ยงไม่ต้องรับโทษ โดยอำนาจแฝงเร้นจะเป็นอำนาจเงิน หรืออำนาจอื่นใดก็ได้

แต่ถ้าความผิดที่กระทำเป็นความผิดทั้งทางกฎหมาย และทางศีลธรรม โอกาสที่จะหลุดรอดไม่ต้องรับโทษคงจะยาก เพราะถึงแม้จะหลุดรอดจากโทษทางกฎหมาย แต่โทษทางกรรมคือความทุกข์ความเดือดร้อนทางใจ และโทษทางสังคมคือถูกตำหนิติเตียนไปจนถึงถูกด่าทอคงจะหลุดรอดไปได้ยาก นี่คือความแตกต่างระหว่างความผิดทางกฎหมาย กับความผิดทางศีลธรรมประการหนึ่ง

ความแตกต่างอีกประการหนึ่ง ก็คือ โทษทางกฎหมายมีอายุความ เมื่อหมดอายุความแล้วจะฟ้องร้องไม่ได้

แต่โทษทางศีลธรรมไม่มีอายุความ วันนี้ไม่ให้ผลเพราะกรรมดีซึ่งเป็นครุกรรมยังให้ผลอยู่ วันไหนไม่มีกรรมดีให้ผลกรรมชั่วก็จะให้ผล เว้นแต่ว่าผู้กระทำผิดสำนึกตนและทำดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกรรมชั่วไม่มีโอกาสให้ผล และสุดท้ายกลายเป็นอโหสิกรรมไปเพราะผู้กระทำหลุดพ้นไม่ต้องรับผลทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว

จากนัยแห่งโทษที่จะต้องได้รับดังอธิบายมา จะเห็นได้ว่าความผิดที่ได้กระทำ และไม่ควรได้รับนิรโทษก็คือความผิด ทั้งในแง่กฎหมาย และศีลธรรม อันได้แก่การกระทำอันเป็นการทุจริตทางกาย ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดในกาม และทางวาจา คือ พูดปด พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ

เมื่อพิจารณาตามนัยที่ว่านี้แล้ว ผู้เขียนหวังว่าใครก็ตามที่เห็นผู้กระทำผิดในทางทุจริตควรได้รับการอภัยโทษด้วยการออก พ.ร.ฎ.เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ ควรจะได้คิด และเลิกล้มความตั้งใจ ถ้าไม่อยากให้คนไทยลุกขึ้นมาขัดแย้งกันเอง และจบลงด้วยการทำร้ายซึ่งกันและกันเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนคนเดียวที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น