xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมลาม6จังหวัดใต้อ่วม อัดเขื่อนปัตตานีไม่แจ้งปล่อยน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - น้ำท่วมใต้ขยายวงกว้าง สงขลาอ่วมประกาศให้ 5 อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว ขณะที่ 3 จชต.บางพื้นที่เริ่มวิกฤต จวกเขื่อนชลประทานปัตตานีเปิดประตูเขื่อนระบายน้ำมากกว่าปกติถึง 4-5 เท่าโดยไม่แจ้งผู้ปฏิบัติและไม่เปิดเครื่องเตือนภัยตามหมู่บ้านท้ายเขื่อนจนชาวบ้านเกิดความชะล่าใจไม่ทันเตรียมตัว ปภ.เผยใต้อ่วมแล้ว 6 จังหวัด

สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.สงขลาทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยเมื่อเช้าวานนี้ (25 พ.ย.) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา แจ้งว่า น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเป็น 5 อำเภอแล้วประกอบด้วย อ.สะบ้าย้อย อ.ควนเนียง อ.จะนะ อ.รัตภูมิ และ อ.สิงหนคร รวมทั้งนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ก็ได้ประกาศให้พื้นที่ทั้ง 5 อำเภอดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ อ.สะบ้าย้อย หลังจากเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมาต้องอพยพชาวบ้านบ้านแลแบง ต.สะบ้าย้อย 99 ครัวเรือนไปอยู่ที่ศูนย์พังพิงชั่วคราวภายในโรงเรียนสะบ้าย้อย และมีผู้เสียชีวิต 1 คนเป็นเด็กชายวัย 3 ขวบ 7 เดือน

นายโส เหมกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่รอบนอก จ.สงขลา ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีฝนตกหนักติดต่อกันมาหลายวัน โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ อ.สะบ้าย้อย ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเทือกเขาสูง เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำป่าทะลักหลากเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว

"ตอนนี้เราได้อพยพชาวบ้านหมู่บ้านแลแบง ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อยจำนวน 99 ครัวเรือนไปอยู่ที่ศูนย์พังพิงชั่วคราวภายในโรงเรียนสะบ้าย้อยแล้ว ส่วนอีก 4 อำเภอที่เหลือส่วนใหญ่พื้นที่น้ำท่วมจะเป็นพื้นที่การเกษตรและที่ลุ่ม ซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก"

**ปัตตานีอ่วม-อัดเขื่อนไม่แจ้งปล่อยน้ำ

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี ได้ขยายวงกว้างเป็น 12 อำเภอแล้วมีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 3 พันครัวเรือน และหลายพื้นที่ต้องอพยพหนีน้ำขึ้นไปอาศัยอยู่ในเต็นท์บนถนนที่ทางหน่วยงานจัดไว้ให้ เนื่องจากระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตรและยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ด้านนายปัญญศักย์ โสภณวสุ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี พร้อมเจ้าหน้าที่ ศปภ.ปัตตานี พล.ร.15 ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยบินอโนทัย ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี บินตรวจการเคลื่อนของมวลน้ำเหนือเขื่อนชลประทาน จ.ปัตตานี และติดตามการระบายในแม่น้ำปัตตานีสู่ปากอ่าว โดยพบว่ายังคงมีมวลน้ำเหนือจากพื้นที่ จ.ยะลา อีกจำนวนมากกำลังไหลเข้าเขื่อนชลประทานปัตตานี จนเกินปริมาณที่สามารถกักเก็บไว้ได้และยังเอ่อล้นสปริงเวย์ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านและสวน ไรนาของชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่ลาน โดยแนวโน้มจะขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่เขื่อนชลประทาน จ.ปัตตานี ได้เปิดประตูเขื่อนเพื่อระบายน้ำเหนือลงท้ายเขื่อนตั้งแต่กลางดึกวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมาในปริมาณมากถึง 1,000 ลูกบาตเมตร/วินาที หรือกว่า 4-5 เท่าของการระบายปกติ ซึ่งมีการแจ้งเตือนภายในต่อผู้บริหารระดับสูงในจังหวัดเท่านั้น แต่กลับไม่มีการแจ้งเตือนไปยังระดับพื้นที่ รวมทั้งไม่มีการเปิดสัญญาณแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัยต่างๆ ที่ได้ติดตั้งไว้ตามหมู่บ้าน ชุมชน ที่อยู่ท้ายเขื่อน ตลอด 2 แนวฝั่งแม่น้ำปัตตานี ส่งผลให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่เกิดการชะล่าใจ ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับมวลน้ำที่ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว จนเข้าท่วมหมู่บ้านหลายอำเภอที่อยู่ติดแม่น้ำปัตตานีจนทรัพย์สินชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

**นราฯ-ยะลาอ่วมแม่น้ำ3สายล้นตลิ่ง

ทางด้าน จ.นราธิวาส มีพื้นที่ประสบภัยแล้วทั้งหมด 12 อำเภอมีผู้ประสบภัย 29,764 คน ขณะที่แม่น้ำสุไหงโก-ลก แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสายบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก 3 สายน้ำได้เพิ่มระดับสูงขึ้นและเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของราษฎรได้รับความเสียหายแล้วจำนวนมาก

สำหรับ จ.ยะลา โดนน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอคือ อ.เมือง อ.รามัน อ.ยะหา อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 3,000 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ศพ คือ นายมะยาดิง สาและมิง อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 126/1 หมู่ที่ 7 ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา กระแสน้ำพัดจมน้ำเสียชีวิต และนายอับดุลอาซิส ต่วนหะยี อายุ 17 ปีชาว ต.บางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กระแสน้ำพัดจมน้ำจนเสียชีวิตยังไม่พบศพ

**ทภ.4สั่งเปิดศูนย์บรรเทาภัยภาคใต้

พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ปัญหาอุทกภัยได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่ จ.พัทลุงจนถึง จ.นราธิวาส ทำให้สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีน้ำท่วงขัง

ขณะนี้กองทัพภาคที่ 4 โดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ประกาศเปิดศูนย์บรรเทาสาธารณภัย 21 ศูนย์ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ถึง จ.นราธิวาส โดยได้มอบหมายภารกิจให้หน่วยทหารทุกค่ายรับผิดชอบพื้นที่เป็นอำเภอๆ ไปและกองทัพภาคที่ 4 ได้ดำเนินการใน 4 ขั้นตอนคือ การจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานงานกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของอำเภอ จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ กองทัพภาคที่ 4 จะเปิดศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและจะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ และเปิดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 1341 ตลอด 24 ชั่วโมง

**ปภ.เผย6จังหวัดภาคใต้อ่วมหนัก

ขณะที่นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวว่า ระยะนี้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 6 จังหวัดได้แก่ จ.พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา สงขลา และ จ.นราธิวาส

โดยที่ จ.พัทลุง ถูกน้ำท่วม 11 อำเภอ 47 ตำบล 340 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 23,082 ครัวเรือน 75,253 คน จ.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำป่าไหลหลากใน 3 อำเภอ 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 372 ครัวเรือน 1,650 คน จ.นครศรีธรรมราช เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มใน 5 อำเภอ 10 ตำบล 37 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 4,417 ครัวเรือน 12,992 คน จ.ยะลา เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มใน 5 อำเภอ 22 ตำบล 55 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 599 ครัวเรือน 3,680 คน อพยพราษฎร 114 ครัวเรือน 553 คน จ.สงขลา เกิดน้ำป่าไหลหลากในอำเภอสะบ้าย้อย 5 ตำบล ราษฎรเดือดร้อน 90 ครัวเรือน 300 คน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จ.นราธิวาส น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก 3 ตำบล 6 ชุมชน อพยพราษฎร 21 ครัวเรือน 121 คน

ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเรือท้องแบน และเครื่องมืออุปกรณ์เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว พร้อมนำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยในเบื้องต้น สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง.
กำลังโหลดความคิดเห็น