ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ผมกับอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม ได้เดินทางไปบรรยายสถานการณ์น้ำท่วมและปัญหาเขตแดนไทยกัมพูชา ให้กับคนไทยในสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 5 – 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 โดยได้เดินทางไปที่กรุงวอชิงตัน ดีซี, เมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส, เมืองลาส เวกัส มลรัฐเนวาดา, เมืองซาน ฟรานซิสโก และไปสมทบรวมกับการบรรยายของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล มหานคร ลอส แองเจลลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกานอกจากจะได้กรุณาให้การต้อนรับที่อบอุ่นแล้ว ยังได้บริจาคเงินสนับสนุนให้กับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี และบริจาคยังช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้กรุณาพาทัวร์ศึกษาระบบชลประทานในสหรัฐอเมริกา ทั้งเขื่อน ฮูเวอร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนได้มีโอกาสชมและศึกษาระบบทางน้ำหลาก Flood Way ของสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง ทั้งในเมือง ลาส เวกัสทางตอนเหนือ, ซาน ฟานซิสโก, และลอส แองเจิลลิส ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยมีกระแสพระราชดำรัสเอาไว้เมื่อปี 2538 จึงขอถือโอกาสนี้ขอบพระคุณพันธมิตรฯและคนไทยในสหรัฐอเมริกาทุกท่าน มา ณ โอกาสนี้
สำหรับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในสหรัฐอเมริกามีจุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลง หนักแน่น มั่นคงในทุกๆเมืองที่เดินทางไป และเราอาจได้พบความจริงบางประการว่า คนไทยในต่างแดน ต่างรู้สึกห่วงใยบ้านเมืองไทยอย่างมาก เพราะนอกจากจะอยู่ไกลบ้านในถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองซึ่งคิดถึงบ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในยุคนี้ยังได้มีโอกาสรับรู้สถานการณ์วิกฤติของบ้านเมืองในโลกเทคโนโลยีดาวเทียมและอินเตอร์เน็ทที่ก้าวหน้าโดยตลอด เมื่อรู้มากแต่อยู่ห่างไกลบ้านมาก คนไทยในสหรัฐอเมริกาจึงเป็นกลุ่มคนที่สนใจและกระตือรือล้นที่จะแสวงหาความเป็นจริงและความเป็นไปของบ้านเมือง และห่วงใยชาติบ้านเมืองอย่างมาก
ในระหว่างการเดินทางเยือนเพื่อบรรยายสถานการณ์น้ำท่วมและปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี พันธมิตรฯคนไทยท่านหนึ่งชื่อ คุณบรรจบ เจริญชลวานิช ไม่สามารถจะเข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวได้ จึงได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งในหัวข้อ “คิดคนเดียว” ฝากมาในงานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของ เอเอสทีวีจอดับ และจุดยืนของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งมีสื่อไทยในสหรัฐอเมริกาได้กล่าวโจมตีเอาไว้ ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ จึงขอมาลงจดหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาสาระดังนี้
กราบเรียน พ่อแม่พี่น้องร่วมอุดมการณ์
ผมขออภัย ที่ไม่สามารถอยู่ต้อนรับ อ.เทพมนตรี ลิมปพยอม และ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จึงขอฝากความคิด มาถึง...
Resonance frequency – เรียกให้เข้าใจง่ายว่า “ความถี่เดียวกัน” ผู้ที่มีพื้นฐานทางช่างคงเข้าใจดี ถึงความสำคัญของมัน โดยเฉพาะ ในการรับส่งสัญญาณ วิทยุ หรือ โทรทัศน์ เป็นต้น...การปรับช่องสัญญาณให้อยู่ในย่านความถี่เดียวกัน เป็นหัวใจสำคัญ ในการสื่อสาร... เมื่อคลื่นความถี่ไม่ตรงกัน ผู้รับย่อมไม่ได้สาระของข่าวสารที่สื่อออกไป... นอกจากนั้นคลื่นความถี่ที่ไม่ตรงกัน จะกลายเป็นสัญญาณรบกวน ทำให้สาระ ไร้สาระ โดยปริยาย
ในกรณีที่มีผู้ตั้งคำถาม แฝงด้วยนัยเชิงตำหนิ เอเอสทีวีนั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งของสัญญาณรบกวน ที่เกิดจากความถี่ไม่ตรงกัน... ไม่น่าใส่ใจ... แต่น่าพิจารณา เพราะนัยของคำถามชี้ว่า เอเอสทีวีมีข้อบกพร่อง และเป็นเหตุให้ “rating” หรือความนิยมตกต่ำ จนจอดับ...
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความจริงปนอยู่บ้าง เช่น ยอดผู้ชมหรือความนิยมต่อเอเอสทีวีนั้น ลดลงจริง และเอเอสทีวีมีข้อบกพร่องแน่นอน... แต่ที่ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้คือ ความบกพร่องของเอเอสทีวี เป็นปัจจัย ให้เอเอสทีวีตกต่ำ ดั่งการชี้นำในคำถาม จริงหรือ?
พวกเราคงเห็นด้วย ถ้าผมจะกล่าวว่า สื่อที่ได้รับความนิยมสูง เช่น ซีเอ็นเอ็น มติชน และอื่นๆ หรือ สื่อท้องถิ่น เช่น สยามมีเดีย (สื่อไทยในสหรัฐอเมริกา) ล้วนมีข้อบกพร่องด้วยกันทั้งสิ้น และแน่นอนว่าความนิยมในสื่อเหล่านั้นย่อมแตกต่างกัน ด้วยเหตุนานาประการ ขอยกตัวอย่างพอสังเขป เช่น ซีเอ็นเอ็น ได้รับความนิยมสูงกว่าสยามมีเดีย เพราะประเภทของสื่อ และขนาดของกลุ่มผู้บริโภคข่าวสารที่แตกต่างกัน เป็นต้น จึงสรุปได้ว่า ความบกพร่องเป็นเพียง หนึ่งในหลายสาเหตุของการเสื่อมความนิยมในตัวสื่อ...
เพราะเหตุที่ผมไม่ได้ศึกษามาทางด้านสื่อสารมวลชน ผมไม่บังอาจตั้งข้อสังเกตตามการถามนำเช่นนั้น และคิดต่างจากการชี้นำนั้น เพราะเชื่อว่า เอเอสทีวี ไม่ใช่สื่อสารมวลชนมาตรฐานต่ำที่ชันหู ชูหาง เป็นฐานดันดรที่สี่ โดยไม่คำนึงถึง บทบาทสำคัญ และความรับผิดชอบ ในการพัฒนาสังคม การเมือง การปกครอง ดังที่ เอ็ดมันด์ เบิร์ก เคยกล่าวไว้...เอเอสทีวี ประกาศตนเองอย่างชัดเจนว่า เป็นสื่อของประชาชน รับการสนับสนุนจากประชาชน เช่นเดียวกับ National Public Radio (NPR) จึงไม่ยอมถูกขุน เป็นเครื่องมือให้นายทุน ก่อกรรมโกยทรัพยากรของชาติมาเป็นสมบัติส่วนตัว ดังเช่น สื่อจำนวนมากที่ยอมจำนน ต่อชามน้ำข้าว กระทำกันอยู่
หาได้ยากเป็นยาดำครับ ในยุคนี้ที่เศรษฐี จะทุบหม้อข้าวเผาไร่นาของตน เพื่อกำจัดฝูงห่าที่ลงในไร่นาของผู้อื่น เช่นที่คุณสนธิทำอยู่
-ทั้งที่รู้ดีว่าการออกมาชนกับทักษิณ มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้จากการโฆษณาของเอเอสทีวี...
-ทั้งที่รู้ดีว่าการวิจารณ์นายอภิสิทธิ์ จะทำให้ผู้สนับสนุน เอเอสทีวี ต้องลดต่ำลง...คุณสนธิ ลังเลหรือ?
ปัจจัยสำคัญของ จอที่ดับลง จึงเป็นเรื่องของการที่อยู่คนละย่านความถี่ หรือการใช้อิทธิพลทางการเงินคุกคามสื่อ มากกว่าความบกพร่องในตัวเอเอสทีวี...
โดยส่วนตัว หากเอเอสทีวี มีความบกพร่อง ก็คงเป็นเพราะ ความมั่นคงในหลักการชนิด “ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง” ไม่กลายพันธุ์ เป็นเห็บเหา เคล้าเคลียความโสโครก บนร่างกายนักการเมืองโสมม นายทุนสามานย์ ดั่งที่เกิดในประเทศไทย ในยามนี้ความบกพร่องดังกล่าว เป็นความบกพร่องบริสุทธิ์ ที่สังคมไทยต้องการมากมิใช่หรือ...
พวกเราต้อง ตรึกตรองให้ถ่องแท้ ว่า ความบกพร่องนั้นเพียงพอหรือ ที่จะให้เอเอสทีวี ตายไปต่อหน้าเรา... เพียงพอหรือที่เราจะมาเปลี่ยนสี ตั้งข้อสงสัย เอเอสทีวี?
สุดท้ายนี้ขอเสริมว่า อเมริกาไม่ได้สร้างจาก คนเช่น เบเนดิคท์ อาร์โนลด์ แต่คนเช่น เบนจมิน แฟรงคลิน, โทมัส เจฟเฟอร์สัน, โทมัส เพน, จอน อดัม, จอร์จ วอชิงตัน และอีกมากมาย ที่เสียสละเลือดเนื้อ ชีวิต และทรัพย์สิน ทุ่มเทความคิด สร้างความเชื่อมั่น นำการต่อสู้ นับครั้งไม่ได้...
-ท่ามกลางความลำเค็ญ วอชิงตัน ไม่กล่าวโทษผู้ใด ได้แต่ถามตนเองเสมอว่า ตนเหมาะสมเป็นแม่ทัพกอบกู้ประเทศ ต่อไปหรือไม่
-ท่ามกลางการกดดันของนายทุน เบนจมิน แฟรงคลิน ยืนหยัดบนหลักการของ ฐานันดรที่สี่ได้อย่างภาคภูมิ
-ท่ามกลางความยินดี ต่อความสำเร็จในการก่อกำเนิดชาติ และฟูมฟักจนแข็งแกร่ง โทมัส เจฟเฟอร์สัน ผู้เกิดมารวย บนกองเงิน กลับตายจน บนกองหนี้...
ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัย จอร์จทาวน์ ผมเคยเปรียบเทียบ ความกล้าหาญชองสื่อ เช่น คุณสนธิ ลิ้มทองกุล กับ โทมัส เพน...
-เพน กล้าหาญพอที่จะเตือนสติ คนอเมริกันผู้พล่ามรำพัน ถึงความรักชาติ แต่ขอเป็นทหารเฉพาะในยามสบายของหน้าร้อน ให้กลับมาอยู่สู้ศึกอย่างยากแค้นลำเค็ญ ในฤดูหนาวอันยาวนาน
-เพน กล้าหาญพอที่จะปฏิเสธ โรเบสปีแอร์ ในการลงชื่อรับรองการประหารชีวิต พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แม้การปฏิเสธนั้นจะนำเขาไปสู่กิโยติน...
-เพน กล้าวิพากษ์ความผิดเพี้ยนในการสอนศาสนา แม้ว่าจะถูกโดดเดี่ยวจากสังคม และศาสนนิยม อย่างรุนแรง...
พี่น้องครับ ความกล้าหาญของโทมัส เพน ทำให้ถูกสังคมอเมริกันต่อต้าน ในวันตาย มีเพียงหกคนไปร่วมงานศพ...
...ความกล้าหาญของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ละครับ จะเป็นเช่นไร... พี่น้องช่วยตอบผมที เถอะครับ...
ขอคารวะจากใจ
บรรจบ เจริญชลวานิช