xs
xsm
sm
md
lg

มีผู้นำที่สิ้นคิด ประเทศก็มีสิทธิสิ้นหวัง

เผยแพร่:   โดย: ประยูร อัครบวร

สังคมไทยวันนี้เป็นสังคมที่มีปมแห่งความขัดแย้ง ไปที่ไหนๆ ก็จะมีคำถามที่เกิดจากความห่วงใยว่าเมื่อไหร่ เมืองไทยจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ และใครจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปในทางที่ดีกว่า ฯลฯ ซึ่งการจะตอบคำถามในแต่ละคำถามนั้นต่างต้องใช้เวลา ด้วยรากเหง้าของความขัดแย้งในสังคมไทยต่างเกิดจากผลประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมืองที่มีอำนาจ ที่รู้จักการใช้กลไกการตลาด รู้จักจิตวิทยาฝูงชนทำให้ผู้คนหลงใหลได้ปลื้มกับการได้เละเล็มอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตน รวมทั้งเข้าใจระบบอุปถัมภ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงคนได้ตามใจปรารถนาของนายเงิน

สภาพที่สังคมไทย ที่ผู้คนถูกลากให้เข้าอยู่ในเขาวงกตสีเทา ที่เป็นมายาภาพแห่งการฉลาดแกมโกงของคนส่วนหนึ่ง ความโง่เขลาเบาปัญญาหรือยังสลึมสลือส่วนหนึ่งและยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่เห็นมายาภาพแล้วทนไม่ได้ จนก่อเกิดคำถามท้าทาย ที่จะออกจากเขาวงกตนี้ ซึ่งสภาพคนที่วิ่งหนีจากเขาวงกตนี้ก็ไม่ต่างกระบวนผู้คนที่ออกมาต่อต้านระบบทักษิณ

เมื่อผู้คนที่ออกมาสู้กับระบบที่ชั่วร้าย ระบบที่เปิดให้โกงกินกันทั่วทุกถิ่นที่ พอเกิดเป็นคดีก็อ้างหน้าตาเฉยว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีใบเสร็จและที่สำคัญวาทกรรมประวัติศาสตร์ที่ว่า

“บกพร่องโดยสุจริต”

คำพูดข้างต้นนี้ ไม่ได้สะท้อนความเป็นผู้นำที่สำนึกในความผิด แต่เป็นการเย้ยหยันสังคมไทยว่าหน้าโง่กฎหมายก็คือกระดาษที่เขียนไว้ประดับในห้องทำงานเท่านั้น ถ้าชนะการเลือกตั้งมา ประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเป็นหลักประกันซึ่งเปรียบเสมือนดวงตราประทับรับรองว่าถ้าโกงก็ไม่เป็นไร เพราะโกงในนามตัวแทนประชาชน แถมยังมีระบบลด แลก แจก แถม โดยเฉพาะเงินกระจายแจกไปตามขนาดของชุมชน ซึ่งผลของระบบประชานิยมในวันนี้ คนไทยได้เสพติดและกลายเป็นพวกงอมืองอเท้า รอการช่วยเหลือจากรัฐ โดยไม่รู้สึกรู้สาอย่างที่ทางพระเรียกว่าประพฤติชอบหรือมีสัมมาชีวะ

เมื่อเกิดคำถามว่า “เมื่อไหร่สังคมไทยจะหลุดพ้นจากปมความขัดแย้งหรือหลีกหนีจากเขาวงกตแห่งความชั่วร้ายได้” ผู้เขียนตอบแบบฟันธงได้เลยว่า “ต้องทำลายเขาวงกตเท่านั้น สังคมไทยจึงหนีความขัดแย้งนี้ได้”

ส่วนคำถามที่ตามมาว่า “ใครจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปในทางที่ดีกว่าหรือใครจะเป็นผู้นำในการฝ่าวิกฤตนี้ได้” ผู้เขียนตอบได้เลยว่า “อยู่ที่ประชาชน” ด้วยรากเหง้าของความขัดแย้งในสังคมได้ถูกพัฒนาสู่ความรุนแรง แบ่งแยกผู้คนอย่างเห็นได้ชัด การแก้ปัญหาจึงยากที่จะอาศัยอัศวินม้าขาวมาคนเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงในโลกต่างมีที่มาที่เกิดจากคนหรือกลุ่มคนที่มีความคิด มีการศึกษาผนึกกำลังกัน ขับเคลื่อนองค์ความรู้ให้เกิดการยอมรับจนเป็นฉันทามติที่สมาชิกในสังคมยอมรับหรืออีกในหนึ่งคือการสร้างศรัทธาที่ประชาชนมีความปรารถนาร่วมกันในการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ซึ่งพันธมิตรจากสหรัฐอเมริกาอย่างคุณบรรจบ เจริญชลวานิช ได้ยกตัวอย่างสังคมอเมริกันในช่วงเริ่มต้นของการสร้างประเทศที่มีบุคคลที่ทรงคุณค่าอย่าง จอร์จ วอชิงตัน เบนจามิน แฟรงคลิน โทมัส เจฟเฟอร์สัน โทมัส เพน จอห์น อดัม ฯลฯ ที่เสียสละเลือดเนื้อ ชีวิต และทรัพย์สิน ทุ่มเทความคิด สร้างความเชื่อมั่น นำการต่อสู้นับครั้งไม่ถ้วน...และท่ามกลางการต่อสู้นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของแต่ละคนดังนี้

- ท่ามกลางความลำเค็ญ จอร์จ วอชิงตัน ไม่กล่าวโทษผู้ใด ได้แต่ถามตนเองเสมอว่า ตนเหมาะสม ในการเป็นแม่ทัพกอบกู้ประเทศ ต่อไปหรือไม่

-ท่ามกลางการกดดันของนายทุน เบนจามิน แฟรงคลิน ยืนหยัดบนหลักการของฐานันดรที่สี่ ได้อย่างสมภาคภูมิ

-ท่ามกลางความยินดีต่อความสำเร็จในการก่อกำเนิดชาติ และฟูมฟักจนแข็งแกร่ง โทมัส เจฟเฟอร์สัน ผู้เกิดมารวยบนกองเงิน กลับตายจนบนกองหนี้...

ส่วน โทมัส เพน เป็นนักปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยชาวอังกฤษ ถูก เบนจามิน แฟรงคลินชักชวนให้ไปเสี่ยงโชคที่อเมริกา โดยเข้าทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Pennsylvania Magazine ได้เขียนบทวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งหนังสือหลายเล่มแต่เล่มที่สำคัญชื่อ Common Sense ได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนอเมริกันทำสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ซึ่งโทมัส เพน มีความกล้าหาญในการปลุกสำนึก ทั้งเตือนสติ

“คนอเมริกันผู้ซึ่งพล่ามรำพันถึงความรักชาติ แต่ขอเป็นทหาร เฉพาะในยามสบายของหน้าร้อน ให้กลับมาอยู่สู้ศึกอย่างยากแค้นลำเค็ญ ในฤดูหนาวอันยาวนาน...”

จากตัวอย่างของผู้นำในยุคอเมริกันสร้างชาติ จะเห็นได้ว่า ผู้นำเหล่านี้ต่างมีศรัทธาต่อการทำสิ่งที่ดี เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนรวม มีความกล้าที่จะทำ ไม่ยึดติดในอำนาจและที่สำคัญคือไม่มีความกลัวที่จะทำความดี

เมื่อผู้นำมีศรัทธาในการสร้างชาติ บรรดาชาวอเมริกันที่เป็นเสรีชนก็เข้าร่วมแบบไม่กลัวตาย และที่สำคัญของการเป็นผู้นำนั้นต่างมีสมองหรือกระบวนการคิดที่สื่อถึงประชาชนให้เข้ามาร่วมกระบวนการจากประชาชนสู่ประชาชน จากรัฐสู่รัฐ ทำให้มาหลอมรวมประชาชนที่มาจากหลายสาแหลกแบบอเมริกันชนนั้น ไม่มีข้อสงสัยในตัวผู้นำ ไม่ว่าในความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์สุจริต หรือสติปัญญา ฯลฯ

ส่วนในประเทศไทย ปัจจัยของการสร้างชาติ เปลี่ยนแปลงสังคมสู่สังคมที่ดีกว่านั้น ก็ไม่ได้ต่างสังคมที่เป็นอารยะอื่นๆ ที่ต้องดูความเข้าใจ การรับรู้ของประชาชน และที่สำคัญอย่าทำให้ประชาชนสงสัยและไม่มีความศรัทธาในตัวผู้นำ ที่ถูกยึดถือว่าเป็นแกนนำหลักในการผลักดันสังคม ซึ่งผู้เขียนใคร่เสนอข้อความที่ คุณธัชพงศ์ จันทรปรรณิก พันธมิตรจากสหรัฐอเมริกาส่งมาให้อ่านเป็นข้อคิดว่า

“Thai PM has two sides of brain, the Left brain has nothing right, and the Right brain has nothing left” หรือ “นายกรัฐมนตรีไทยมีสมองสองด้าน สมองด้านซ้ายไม่มีอะไรที่ถูกต้อง และสมองด้านขวาไม่มีอะไรเหลือ (ว่างเปล่า)”

ข้อสรุปข้างต้นนั้น แม้ไม่ได้บอกนะครับว่านายกรัฐมนตรีไทย คนไหน แต่ก็เป็นข้อคิดว่าสังคมไทย เรานั้น “ถ้าผู้นำสิ้นคิด ประเทศไทยเราก็มีสิทธิสิ้นหวัง”
กำลังโหลดความคิดเห็น