xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลก้าวข้ามปัญหาน้ำท่วม ทอดทิ้ง “ชาวบ้าน” ทุกข์ระทม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมที่รุกคืบเข้ามาถึงเขตกรุงเทพมหานครจะลดลง ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แต่กลับเกิดปัญหามวลชนเข้ามาแทนที่ กลายเป็นปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านรวมตัวกันเป็น “ม็อบต้านน้ำ” ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลและศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมนุมที่อาศัย หลังต้องทนทุกข์ปรับตัวอยู่กับน้ำมานานนับเดือน
ในความเป็นจริงเรื่องนี้เป็นปรากฎการณ์นี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะตั้งแต่น้ำท่วมจ่อทะลักเข้าสู่เมืองกรุงมา ก็มีเกิดมาก่อนหน้านี้แล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบของเมืองหลวง ไล่ตั้งแต่การกดดันให้เปิดประตูระบายน้ำย่านคลองสามวาที่มีนักการเมืองในพื้นที่เป็นแบ็ค เช่นเดียวกับกรณีการรื้อบิ๊กแบ็ค ย่านดอนเมือง เมื่ออาทิตย์ก่อน
หรือกรณีชาวบ้านย่านบางใหญ่ บางบัวทอง บางกรวย ไทรน้อย จ.นนทบุรี ที่ไม่พอใจที่น้ำท่วมสูงในพื้นที่ไม่ลดลงมานานนับเดือน แถมยังขาดการเหลียวแลจากภาครัฐ ทำให้ชาวบ้านทนไม่ไหว รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องให้ กทม.เปิดบานประตูระบายน้ำที่เชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ จำนวน 4 จุดในระดับความสูง 1 เมตร
ขณะที่ชาวบ้านเหนือแนวบิ๊กแบ็ก ตั้งแต่ดอนเมือง รังสิต คูคต ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ก็เกิดความไม่พอใจที่การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า และต้องการให้รื้อคันกั้นบิ๊กแบ็กทิ้ง จนที่ลุกฮือบุกไปรื้อแนวคันกั้นน้ำที่แยก คปอ. ถ.พหลโยธิน และเมื่อยังไม่ได้ตามงข้อเรียกร้องจึงรวมตัวกันปิดถนนทางขึ้นดอนเมืองโทลล์เวย์ ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ จนสุดท้ายเกิดปะทะกับผู้ใช้รถใช้ถนน และส่งผลให้การจราจรติดขัดวินาศสันตะโร
            และไม่เพียงแต่ชาวบ้านเหนือประตูระบายน้ำ หรือที่อยู่เหนือคันกั้นน้ำเท่านั้น เพราะชาวบ้านที่อยู่ด้านใต้น้ำ ก็ออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน ทั้งที่บริเวณพระราม 2 - เพชรเกษม ที่ออกมาปิดถนนกาญจนาภิเษกขาเข้า เพื่อเรียกร้องให้ ศปภ.และ กทม. ลดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ต่ำลงกว่า 1 เมตร หรือประชาชนย่านรามอินทรา สายไหม ที่เตรียมรวมตัวชุมนุมหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลรามอินทรา เพื่อประท้วงการเปิดแนวบิ๊กแบ็คบริเวณแยก คปอ. ที่ทำให้ระดับน้ำในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น และหากไม่ได้รับคำตอบที่พอใจ ก็จะมีการชุมนุมปิด ถ.รามอินทรา
            หนำซ้ำยังมีประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ยื่นฟ้องรัฐบาล ศปภ.และ กทม. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ทำให้ประชาชนเดือดร้อน รวมทั้งกรณีฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองมิให้รัฐบาลดำเนินการตามแนวทางที่วางไว้ อย่างกรณี การคัดค้านแนวทางการกู้ทางหลวงที่ 340 และ ถ.กาญจนาภิเษก ช่วง อ.ไทรน้อย-บางบัวทอง รวมไปถึงคัดค้านการปิดประตูระบายน้ำเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ที่เป็นเขตรอยต่อกับพื้นที่ จ.นนทบุรี
ทั้งหลายทั้วงปวง เปรียบได้กับ “พฤติกรรมเลียนแบบ” ที่เมื่อไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขปัญหาจากภาครัฐก็จำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อ “ช่วยตัวเอง” ซึ่งเป็นภาพสะท้อน และตอกย้ำว่า มาตรการแก้ไขสถานการณ์ของรัฐบาลไม่รอบด้าน ทำได้เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า วิ่งไล่แก้ปัญหาในจุดที่เกิดเรื่อง
เรียกว่าได้แค่ทำงานตามน้ำ ไร้ปัญญาในการบูรณาการตามที่เคยโอ้อวดเอาไว้
            โดยเฉพาะบทบาทของ ศปภ.ที่บ้อท่าไร้ฝีมือแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำมาตั้งแต่เริ่ม พอมาวันนี้วันที่ชาวบ้านร้านตลาดยังไม่พ้นทุกข์ ระดับความเดือดร้อนยังไม่ลดลง สังเกตได้จากช่วงหลังๆมาทีมโฆษก ศปภ.ที่เคยนั่งเบียดกันจนอึดอัดแทนห่างหายจากจอตู้ จนอดคิดไม่ได้ว่าพยายามเลี่ยงการแถลงข่าว เพราะที่ผ่านมาแทนที่จะสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน แต่กลับสร้างความร็สึกอกสั่นขวัญแขวนไม่เว้นแต่ละวันเมื่อได้ยินการแถลงจาก ศปภ.
ที่สำคัญมาตรการเยียวยาชดเชยค่าเสียหายในบางพื้นที่ที่ไปเที่ยว “หยอดคำหวาน” ให้เป็นพิเศษ ให้สมเหตุสมผลกับความทุกข์ยากที่รับเคราะห์จากภัยน้ำท่วมหนักกว่าพื้นที่อื่น ก็ยังไร้ความชัดเจนใดๆออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ปลุกให้ประชาชนรวมพลังกันออกมาปกป้องสิทธิของตัวเอง
ส่วนตัว พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ. ก็ไม่ต่างกับ “แผ่นเสียงตกร่อง”ที่ไม่ได้ให้ข้อมูลหรือความกระจ่างชัดใดๆในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง มีเพียงการพูดซ้ำๆวนเวียนไม่คืบหน้า ไร้ซึ่งเสียงสว่างปลายทางให้กัลบประชาชน แต่ละเรื่องแต่ละปัญหากลับปัดความผิดชอบให้หน่วยงานอื่น ทั้งที่ตัวเองในฐานะ ผอ.ศปภ.สมควรที่จะรับผิดชอบโดยภาพรวม
อาจเป็นเพราะอยู่ในสภาพ “จิตตก” สาละวนหมกหมุ่นอยู่กับ “ศึกซักฟอก” ที่พรรคประชาธิปัตย์หมายมั่นปั้นมือจะบีบให้มั่นคั้นให้ตายกับข้อหาฉกรรจ์ร่วมขบวนการทุจริตปล้นเงินบริจาคของประชาชนอย่างน่าไม่อาย
ด้านการทำงานของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ก็มุ่งแต่การปกป้องพื้นที่ชั้นใน “กล่องดวงใจ” ของเมืองหลวงอย่างสุดชีวิต จนขาดการประสานงานกับรัฐบาลหรือ ศปภ.เพื่อหลีกเลี่ยงการซ้ำเติมทุกข์ให้กับพื้นที่ปริมณฑลหรือ “ชายขอบ” ของพระนคร
            ส่วนบทบาทของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับสิ้นความหวังยิ่งกว่า เพราะสังเกตได้ว่า ภายหลังที่จับเครื่องโกอินเตอร์ไปร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทกลับมา นายกฯหญิงก็ไร้บทบาทในส่วนของการแก้ไขจัดการปัญหาน้ำอย่างสิ้นเชิง แทบจะไม่ได้ย่างกรายเข้า ศปภ.ให้เห็นเหมือนช่วงแรกๆ อีกทั้งยังมีการเปิดเผยจากทีมโฆษกรัฐบาลว่า นายกฯจะงดหารือเรื่องน้ำตลอดสัปดาห์นี้ เพราะเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว
            และดูเหมือนจะมุ่งให้ความสำคัญกับมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดมากกว่า จากทั้งที่ระดมหาขุนศึกทั่วประเทศมาร่วมทำงานในนาม คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) รวมทั้งประกาศทุ่มเทให้กับโครงการฟื้นฟูต่างๆเต็มที่ ด้วยงบประมาณเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท บางครั้งยังไปร่วม “สร้างภาพ” แจกของ กวาดถนน ทาสีกำแพง ให้ช้ำใจรู้สึกว่าผู้นำประเทศทอดทิ้งอีกต่างหาก
            สอดคล้องกับแนวทางของพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ต่างกับ “พ่อค้าเร่ขายความฝัน”ออกเดินสายเสนอไอเดียแก้ไขฟื้นฟูประเทศไทยในหลายประเทศ ทั้งการเสนอเป็นผู้ระดมทุน 1 ล้านล้านบาท สร้างโครงการในเมืองไทย เสนอให้รัฐบาลลงทุนในระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างถาวรด้วยงบประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยไม่มีแม้แต่ไอเดียว่า จัช่วยกันผันน้ำลงทะเลอย่างไรให้เร็วที่สุด
            หากดูผิวเผินก็คงนึกว่า วันนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้วในทุกพื้นที่ ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริง ที่เห็นชัดเจนว่ารัฐบาล            พยายามกระโดดข้ามปัญหา โดยการหยิบสารพัดโครงการฟื้นฟู “โปรยยาหอม” เอาใจภาคอุตสาหกรรม ใช้มารยายิ้มโปรยยิ้มหว่านเสน่ห์ประกาศลั่นเวทีโลกว่า วิกฤติของชาติไทยผ่านพ้นไปแล้ว ซ้ำร้ายยังมี “ตลกร้าย” ที่เห็นกลาดเกลื่อนคือ ระดมอาสาร่วมกันความสะอาดอย่างคึกคัก ในชื่อ “บิ๊กคลีนนิ่ง” ในพื้นที่น้ำลดแล้ว ทั้งที่ถัดไปอีกหน่อยอาจจะเป็นพื้นที่ที่จมน้ำอยู่สูงเป็นเมตร
มาถึงวันนี้ที่สถานการณ์น้ำเริ่มดีขึ้น ปริมาณน้ำลดลงในหลายจุด แต่ความเป็นจริงปัญหาที่หมักหมม ความทุกข์ของชาวบ้านยังคงอยู่ การใช้วิธีการ “ขายฝัน” บังหน้า กระโดดข้ามปัญหา ก้าวข้ามความทุกข์ชาวบ้าน ปล่อยให้ชาวบ้านจมปลักอยู่กับความทุกข์ ก็ไม่ต่างกับการปล่อยให้ประชาชนจมน้ำตาม ย่อมไม่ใช่วิสัยของรัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศอย่างแน่นอน
ที่สำคัญวันนี้บ้านใครน้ำท่วมอยู่คงไม่มีใครอยากรู้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าฟื้นฟูอย่างไร แต่ที่อยากรู้มากกว่าคือ น้ำจะลดเมื่อไร แล้วมีแนวทางในการผันน้ำให้พ้นออกไปจากชีวิตพวกเขาอย่างไรมากกว่า
          เชื่อเลยว่าหลังน้ำลด ประชาชนไม่ต้องเดินลุยน้ำ คงมีรายการ “เช็คบิล” กันอีกยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น