xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ ประชาชนกับการปฏิวัติและรัฐประหาร (1)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล เพราะทั้งการปฏิวัติและการรัฐประหารเช่นนั้น เป็นเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กฎหมายและสังคม ซึ่งทั้งสองหนทางรัฐศาสตร์นี้สร้างความวุ่นวายโกลาหลในระบบสังคมการเมืองในภายหลัง และความยุ่งยากซับซ้อนทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เช่น ผลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ปฏิวัติรัสเซียและปฏิวัติจีนแม้กระทั่งการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน จึงต้องหลีกเลี่ยง

เอ็ดเวิร์ด ลุทท์วัค นักรัฐศาสตร์เชื้อชาติโปแลนด์ถือสัญชาติอังกฤษ แต่ปัจจุบันอยู่ในสหรัฐฯ เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์และการเมือง มีหนังสือโด่งดังอยู่เล่มหนึ่งชื่อ “คู่มือการรัฐประหาร” พิมพ์ในปี ค.ศ. 1967 ซึ่งอธิบายสาเหตุการรัฐประหารและมักเป็นเช่นนั้น เช่น การทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาล การสร้างเงื่อนไขในสังคม การทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคมหรือการทำลายศรัทธาความเชื่อของสังคม

ในเชิงรัฐศาสตร์ มีศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและการยึดอำนาจรัฐอยู่หลายคำ บัญญัติขึ้นตามภูมิภาคและพฤติกรรม เช่น การปฏิวัติ (Revolution) คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งระบบแบบเด็ดขาด สงครามการเมือง คือ สงครามเต็มรูปแบบระหว่างสองฝ่ายที่ฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มีการยึดพื้นที่ประเทศ แหล่งทรัพยากร และแบ่งประชากร หรือสถาปนาเป็นประเทศหรืออีกรัฐหนึ่ง รบกันเพื่ออำนาจรัฐเบ็ดเสร็จ โปรนันซิเอเมียนโต (Pronunciamiento) เป็นภาษาสเปน และใช้ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา หมายถึงการรัฐประหารเช่นกัน

พุทช (Putsch) การยึดอำนาจการบังคับบัญชากองทัพเพื่อก่อรัฐประหาร มักจะเกิดขึ้นในห้วงสงครามหรือหลังสงคราม เช่น นายพลคอร์นิลอฟ แม่ทัพรัสเซียนำทัพเพื่อยึดเลนินกราด หวังเข้าทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อ หลังจากคณะปฏิวัติรัสเซียปฏิวัติโค่นอำนาจพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 สำเร็จในปี ค.ศ.1917 หรือฮิตเลอร์ก่อการพุทชที่โรงเหล้าในเมืองมิวนิกในปี ค.ศ. 1923 แต่ไม่สำเร็จโดนจำคุกอยู่หลายปีแต่สร้างความนิยมมากขึ้นจนได้เป็นจอมเผด็จการ

การปลดปล่อย (Liberation) คือ การโค่นอำนาจของต่างชาติที่ครองอำนาจอธิปไตยเหนือชาติตน โดยที่อาจจะมีชาติที่สามเข้ามาช่วยเหลือก็ได้ เช่น สหรัฐฯ ช่วยปลดปล่อยชาวอัฟกานิสถานจากการปกครองของอดีตโซเวียต หรือกองกำลังทางอากาศนาโต้สนับสนุนกลุ่มปฏิวัติโค่นอำนาจกัดดาฟี ค.ศ. 2011 สงครามประกาศอิสรภาพหรือสงครามปลดแอก (War of Liberation) เช่น สงครามเวียดนาม เมื่ออดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์ ทำสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้ออกจากอิทธิพลสหรัฐฯและการรวมชาติ

ส่วนรัฐประหารนั้น คือ การโค่นอำนาจรัฐอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนก็ได้ หรือการรัฐประหารที่ไม่ได้เกิดจากกองทัพทั้งหมด แต่เกิดจากกลุ่มย่อยที่ปฏิบัติการอย่างฉับพลัน รัฐประหารไม่สามารถประชาสัมพันธ์เรียกร้องแรงสนับสนุนจากมวลชนได้ ต่างกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มักจะใช้มวลชนเป็นกลไกขับไล่อำนาจรัฐ

ครั้งหนึ่ง ดยุคแห่งเวลลิงตัน แม่ทัพและรัฐบุรุษอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1811 เคยพูดว่า “ข้าฯ คงต้องเสียใจที่เริ่มต้นศักราชแห่งสันติสุขด้วยการก่อรัฐประหาร” เพราะขณะนั้นยุโรปตกอยู่ภายใต้การยึดครองของจักรพรรดินโปเลียน และดยุคแห่งเวลลิงตันได้รับเลือกจากรัฐบาลให้เป็นแม่ทัพยกทัพไปปราบจักรพรรดินโปเลียนจนสำเร็จ แต่อำนาจการบริหารหลังสงครามยังตกอยู่กับคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาอังกฤษ ทำให้ดยุคแห่งเวลลิงตันไม่สามารถบริหารกองทัพ และดำเนินนโยบายการเมืองต่างประเทศได้อย่างเสรีและรัฐบาลอังกฤษเองก็ยอมปล่อยนโปเลียนไปอยู่เกาะโดยไม่ถูกขึ้นศาลลงโทษฐานเป็นอาชญากรสงคราม ซึ่งดยุคเวลลิงตันเกรงว่านโปเลียนจะกลับมาเป็นใหญ่อีก ยุโรปก็จะเดือดร้อนอีก

ในโลกนี้มีหลายประเทศที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรมการเมืองชั้นสูงหรือเป็นนิติรัฐสมบูรณ์แบบ จึงไม่มีใครก่อการปฏิวัติหรือก่อรัฐประหารได้ ไม่ว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมากขนาดไหน เช่น อังกฤษ มีประวัติศาสตร์การเมืองและการเรียกร้องของอัศวินเพื่อสิทธิประชาชนตั้งแต่ ค.ศ. 1215 และเกิดกฎบัตรใหญ่หรือแมคนากาตาร์ กษัตริย์จอห์นสละอำนาจบางอย่างให้ประชาชนผ่านอัศวิน และ 400 ปีต่อมาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น 2 รอบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1642 จากความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ที่ไร้ราชธรรมเรื่องงบประมาณจนรัฐสภาภายใต้ครอมเวลล์ปฏิวัติและรัฐสภาพิพากษาปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ด้วยคะแนนไม่เอกฉันท์และสถาปนาอังกฤษเป็นสาธารณรัฐแต่ต่อมาครอมเวลล์และลูกบ้าอำนาจ ก่อคดีทุจริตคอร์รัปชันมากมาย กองทัพจึงต้องต่อสู้เพื่อประชาชนและสถาบันกษัตริย์จนได้ชัยชนะกลับเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้อังกฤษมีรัฐธรรมนูญแบบไม่ได้เขียนไว้แต่แรก แต่ยึดถือขนบธรรมเนียมการปกครองมาเก่าแก่ ตั้งแต่เริ่มสร้างชาติยุคแองโกลแซกซอน หลังการปกครองของโรมเมื่อกว่า 2,000 ปี มาแล้ว

หากใครก่อรัฐประหารหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองของอังกฤษด้วยการปฏิวัติหรือรัฐประหาร จะประสบปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะว่าระบบกฎหมายอังกฤษมีความสลับซับซ้อนมาก มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้สอดคล้องกับสมัยและสังคมอังกฤษมาตลอด

แต่ที่สำคัญวัฒนธรรมการเมืองระบอบพรรคการเมืองนั้น อังกฤษมีความแข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะในเรื่องของผู้นำ เช่น ยุคแทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษระหว่างปี ค.ศ.1979 - 1990 รวม 11 ปี ได้สมญานามว่า “สตรีเหล็ก” เพราะความเข้มแข็งในการบริหารชาติทั้งภายในและภายนอกเกาะอังกฤษ แต่ต่อมาเกิดปัญหาในพรรคอนุรักษนิยม เมื่อแทตเชอร์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากเกินไป ทำให้เซอร์เจฟฟรีย ฮาวี รองนายกรัฐมนตรีลาออกในปี ค.ศ.1990 และต่อมาไมเคิล เฮเซลตีน เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมใหม่ รอบแรกแทตเชอร์ชนะ แต่คะแนนก้ำกึ่งไม่ขาดลอย ไมเคิล เฮเซลตีน เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งรอบสอง แต่สถานการณ์บ่งชี้ว่าความนิยมของแทตเชอร์ตกต่ำลง และถูกสมาชิกพรรคกดดันให้ลาออก

ด้วยเหตุนี้เองเธอจึงขอเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 เพื่อขอคำปรึกษา และแทตเชอร์ก็ประกาศลาออก และพรรคได้เลือกนายจอห์น เมเจอร์ เป็นหัวหน้าพรรค และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ส่วนสหรัฐฯ นั้น การก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐกระทำได้ยากมาก เพราะทุกมลรัฐมีกองทัพบกและอากาศเป็นของตนเองต้องเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นแน่นอน การจะเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีและนโยบายผู้นำอาจจะกระทำได้ด้วยการสังหารประธานาธิบดี แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รองประธานาธิบดีเข้ารับตำแหน่งอัตโนมัติ เช่น กรณีการสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งถือว่าเป็นการรัฐประหาร เพราะข้อมูลการสอบสวนบ่งชี้ว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันภายในอำนาจรัฐเองแต่นโยบายสำคัญหลายอย่างเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ประเทศตะวันตกอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เยอรมนี และกลุ่มประเทศเบเนลุกซ์ ต่างมีวัฒนธรรมการปกครองที่มีความเจริญทางการเมืองมายาวนาน และเกี่ยวพันกันทั้งทางวัฒนธรรม ศาสนา และเชื้อสาย ส่วนฝรั่งเศสนั้นเคยประสบปัญหาในปี ค.ศ. 1968 สมัยประธานาธิบดีเดอโกล เพราะมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเรียกกันว่ายุคสาธารณรัฐที่ 4 เมื่อเดอโกลเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดีหวังปราบพวกต่อต้านการให้เอกราชแอลจีเรียและอาณานิคมอื่นๆ จนเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ และเดอโกลมีแผนก่อรัฐประหารตัวเอง แต่เกรงว่าจะทำให้กลุ่มทหารอนุรักษนิยมหัวรุนแรงจะต่อต้านเป็นสงครามกลางเมือง จึงยอมยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเสีย เกิดสาธารณรัฐที่ 5 ในปัจจุบัน

ต้นแบบการปฏิวัติของประเทศอาหรับนั้น เกิดจากการปฏิวัติพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ในปี ค.ศ. 1979 เมื่อโคไมนี นำอิสลามปฏิวัติล้มล้างระบบกษัตริย์ของอิหร่าน เพราะว่าพระเจ้าชาห์ใกล้ชิดกับชาติตะวันตกมากเกินไป ยอมให้วัฒนธรรมตะวันตกครอบงำสังคมมากเกินไป ใช้งบประมาณในการสร้างกำลังรบเกินความจำเป็น เพราะยังมีคนจนมาก และรวบอำนาจในการจัดการเรื่องการค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นผลดีต่ออิหร่านที่ยึดกิจการน้ำมันจากต่างชาติ แต่กิจการน้ำมันกลับตกอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าชาห์เท่านั้น

แต่หากศึกษาประวัติการปลดปล่อยเรียกร้องเอกราชในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีผู้นำชาตินิยมต่อต้านชาติตะวันตกที่ปกครองดินแดน และครอบครองบ่อน้ำมันทั้งสิ้น (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น