xs
xsm
sm
md
lg

พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับลับเป็นกระบวนการการกระทำความผิดอาญาของคณะรัฐมนตรี

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

จากการที่มีข่าวปรากฏในสื่อสาธารณะถึงการประชุมลับอันเป็นวาระจรของคณะรัฐมนตรีโดยที่นายกรัฐมนตรีไม่เข้าร่วมประชุม และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษในวาระพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นประเพณีที่ฝ่ายบริหารจะต้องดำเนินการให้มีการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศล และเพื่อให้โอกาสแก่บุคคลผู้ต้องราชทัณฑ์เหล่านั้น กลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี ซึ่งก็ปรากฏเป็นข่าวถึงการต่อต้านการออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ไม่มีผู้ใดทราบเนื้อหาใน พ.ร.ฎ.อภัยโทษนั้นว่ามีข้อความเป็นอย่างไร แต่ประชาชนมีความสงสัยว่าจะเป็นการอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิใช่เป็นผู้ต้องราชทัณฑ์ด้วยหรือไม่ สื่อมวลชนได้พยายามทำหน้าที่ในการเสนอข่าวต่อสาธารณชนเพื่อให้เห็นการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของรัฐบาล ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ที่จะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ สื่อมวลชน และสื่อสาธารณะทุกประเภทได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม ( ตามนโยบายรัฐบาลข้อ 8 – 8.3 ) แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ แม้พรรคฝ่ายค้านจะได้ตั้งกระทู้สอบถามในสภาฯถึงสาระสำคัญของ พ.ร.ฏ.อภัยโทษ ก็ได้รับการปฏิเสธที่จะให้ประชาชนได้รับรู้ความลับของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษดังกล่าว การกระทำของรัฐบาลโดยการปกปิดข้อเท็จจริงของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษลับนั้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา ซึ่งผลของการกระทำดังกล่าวจะเป็นอย่างไรผู้เขียนจะไม่กล่าวถึง

ผู้เขียนไม่ได้ทราบถึงข้อความใน พ.ร.ฎ.อภัยโทษลับ แต่จากการคาดเดาจากข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นในอดีตที่อาจนำมาเป็นผลในปัจจุบันคือ การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษจะต้องครอบคลุมถึง พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้ต้องราชทัณฑ์จะได้รับประโยชน์ด้วย รัฐบาลจึงต้องรักษาความลับในเนื้อหาสาระของพ.ร.ฎ.อภัยโทษดังกล่าวไว้ จนกว่าจะมีการลงพระปรมาภิไธยเสียก่อน ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างยิ่ง และอาจเป็นการกระทำเข้าขั้นเป็นการล้มล้างการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนประเทศไทยเป็นรัฐไทยใหม่ได้ โดยการใช้พระปรมาภิไธยที่ได้ลงในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนั้นเป็นช่องทางไปดำเนินการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างแยบยล

รัฐธรรมนูญมาตรา 8 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ทางใดๆมิได้ “ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์สามารถทำผิดกฎหมายได้ เพียงแต่บัญญัติไม่ให้ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้เท่านั้น พระมหากษัตริย์จึงอยู่ในฐานะที่จะทำผิดกฎหมายไม่ได้ หากพระมหากษัตริย์ได้กระทำการใดๆอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม ย่อมทำให้เป็นที่เสื่อมเสียซึ่งพระเกียรติยศ เกียรติศักดิ์แห่งองค์พระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์รวมทั้งประเทศชาติได้ ซึ่งการกระทำผิดกฎหมายของพระมหากษัตริย์แม้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ก็ตาม แต่ไม่ได้ห้ามมิให้สังคมทั้งภายในและต่างประเทศดูหมิ่น เหยียดหยาม ประณาม จนถึงขั้นอาฆาตมาดร้ายกดดันเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นได้ แต่อย่างใดไม่

การนำเรื่องกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษจะต้องเป็นการอภัยโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด เฉพาะผู้กระทำความผิดที่ศาลได้พิพากษาลงโทษไปแล้ว และไม่อาจจะใช้การอภัยโทษให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดทางอาญาขึ้นใหม่ได้เลย ไม่ว่าการกระทำความผิดอาญาที่กระทำขึ้นใหม่นั้นจะเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายในประเทศ ( ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ) หรือเป็นการกระทำความผิดทางอาญาตามมาตรฐานความผิดอาญาในสากลก็ตาม [ Crime Of Violence , Criminal Syndicalism ฯลฯ ] เพราะการลงพระปรมาภิไธยอภัยโทษที่ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่ได้กระทำผิดอาญาดังกล่าวแล้ว ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ทำให้พระมหากษัตริย์กระทำผิดกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับในประเทศได้ และสุ่มเสี่ยงต่อการอภัยโทษให้แก่ผู้กระทำทางอาญาตามมาตรฐานความผิดอาญาในสากลได้

ประชาคมโลกได้เห็นและทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไปทั่วโลก ประชาคมโลกได้เห็นการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ มีการอ้างการแบ่งแยกทางชนชั้นเป็นข้ออ้างในเรื่องไพร่กับอำมาตย์ มีการเผาบ้านเมือง ร้านค้า สถานที่ราชการ ประชาคมโลกได้ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นเพราะมีการกระทำหลายอย่างเกิดขึ้นเป็นสาธารณะ ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในสากลย่อมทราบเป็นอย่างดีถึงผู้ที่อยู่ในขอบข่ายของการเป็นผู้กระทำผิดอาญาทั้งในมาตรฐานสากลและความผิดอาญาในประเทศ และรู้ว่าการกระทำความผิดทางอาญาดังกล่าวไม่อาจถูกล้มล้างได้ เพราะผลของการชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล การที่คณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่ออภัยโทษแก่นักโทษที่ต้องราชทัณฑ์ 26,000 คนซึ่งหากรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยนั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งชาติและประชาคมโลกให้ความสนใจและเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด การลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับลับของรัฐบาลในครั้งนี้ จึงถูกจ้องมองโดยคนไทยและประชาคมโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การดำเนินการของคณะรัฐมนตรีในการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับลับ จึงเป็นการกระทำของรัฐบาลที่ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับบนคมดาบที่มีความคมกริบอย่างน่าสะพึงกลัว

ตามหลักสากล หลักปฏิบัติตามจารีตประเพณี ตามหลักกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือกฎหมายธรรมชาติ ( Natural Law ) การอภัยโทษนั้นจะกระทำต่อผู้กระทำผิดและต้องเป็นผู้ที่ต้องรับโทษทัณฑ์ การอภัยโทษไม่อาจกระทำได้กับผู้ที่ไม่ได้รับโทษทัณฑ์ตามความผิดที่ได้กระทำลง และไม่อาจใช้หลักการอภัยโทษกับบุคคลที่ไม่ยอมรับโทษทัณฑ์ซึ่งในระหว่างการไม่ยอมรับโทษทัณฑ์นั้นก็ได้กระทำความผิดอาญาอื่นขึ้นมาใหม่ได้แต่อย่างใดทั้งสิ้น การหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศเพราะไม่ต้องการจะถูกลงทัณฑ์ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษนั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้คุมขังได้หลบหนีไปในระหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจศาล เพราะการที่ได้การประกันตัว หรือการปล่อยตัวชั่วคราวไปจากศาล( Release on Bail ) เป็นการที่ศาลได้ให้อิสระจากการคุมขังตามอำนาจศาล (Competent Jurisdiction ) การที่ได้รับการประกันตัวไปจากศาล จึงเป็นกรณีที่ผู้ได้รับการประกันตัวไปนั้นยังคงเป็นผู้ที่ถูกคุมขังตามอำนาจศาล เมื่อมีการหลบหนีไปในระหว่างการได้รับการประกันตัว การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายของการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรมอันเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “ ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ดังนั้นในระหว่างที่พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีไปนั้น กรณีจึงเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญามาตรา 190 วรรคแรก และเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันมาจนปัจจุบัน สิทธิที่ได้รับการอภัยโทษจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย เพราะมีการกระทำความผิดอาญา (หลบหนีคดีอาญา) ในขณะที่รัฐบาลออกกฎหมาย( พระราชกฤษฎีกา) ขอพระราชทานอภัยโทษ

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีไปในระหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ตามมาตรา 190 วรรคแรก การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการอภัยโทษ โดยไม่ต้องรับโทษ หลุดพ้นจากการคุมขัง หรือ เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม การออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าวของคณะรัฐมนตรี ย่อมเป็นการกระทำความผิดอาญา เกี่ยวกับการยุติธรรม ตามาตรา 191 วรรคแรกและ มาตรา 192 และการออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษ ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องถูกจำคุก และพ้นจากการจำคุกนั้น ยังเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญาในฐานะเป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 203 อีกด้วย เพราะการออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าว เป็นการป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เมื่อการออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญา มาตรา 191 วรรคแรก มาตรา 192 และมาตรา 203 ดังนั้น พ.ร.ฏ.อภัยโทษที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยอภัยโทษนั้น จึงเป็นเครื่องมือใช้เป็นเกราะกำบังในการกระทำความผิดอาญาของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 191, มาตรา 192 และมาตรา 203 ดังกล่าว

[ มาตรา 191 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาลของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวนหรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หลุดพ้นจากการคุมขังไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 192 ผู้ใดให้พำนัก ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ให้ผู้ที่หลบหนีจากการคุมขังตามอำนาจศาล ของพนักงานสอบสวนหรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 203 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ]


การออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 84 พรรษา อันนับได้ว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติในวาระสำคัญของการครบรอบพระชนมพรรษา ซึ่งมีการอภัยโทษให้กับพลเมืองจำนวนหนึ่ง ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ไม่ต้องถูกคุมขังอีกต่อไป หรือได้รับการคุมขังให้น้อยลง (ลดโทษให้) ซึ่งปรากฏตามข่าวว่า จะมีผู้ถูกคุมขัง จำนวน 26,000 คน ที่จะได้รับการอภัยโทษเป็นอิสระในครั้งนี้ การออกพ.ร.ฏ.อภัยโทษที่มีข้อความในพ.ร.ฎ.อภัยโทษที่แตกต่างไปจากเดิม มีการตัดข้อความหรือเพิ่มข้อความ เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของการอภัยโทษโดยปกติธรรมโดยทั่วไป โดยมุ่งหวังที่จะให้บุคคลที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับประโยชน์ไปด้วย โดยใช้พลเมืองซึ่งเป็นผู้ต้องขังจำนวน 26,000 คน มาเป็นเป้าหมายซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษโดยพระมหากษัตริย์ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานอภัยโทษดังกล่าวนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการใช้อิสรภาพของพลเมือง 26,000 คน ที่จะพ้นจากการคุมขังมาเป็นอำนาจต่อรองในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระมหากษัตริย์ การกระทำดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีเป็นการกระทำที่ใช้ระบบ( การออกกฎหมาย ) อันมีผลกระทบต่อพลเมืองจำนวนหนึ่ง ( Committed systematic attack directed against any civilian population ) ที่จะพ้นจาการคุมขังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการลงพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การกระทำของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเข้าข่ายของการกระทำความผิดทางอาญาตามมาตรฐานสากล ( Crimes against humanity ) ซึ่งบัญญัติไว้ Rome Statute of the International Criminal Court ( Article 7) จึงเป็นการนำเอาพฤติการณ์การกระทำผิดอาญาสากลของคณะรัฐมนตรี มาดำเนินการถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งในกรณีเช่นนี้ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยใน พ.ร.ฏ.อภัยโทษหรือไม่ก็ตาม ก็จะถูกนำมากล่าวอ้างให้เป็นที่เสื่อมเสียซึ่งพระเกียรติยศแห่งองค์พระมหากษัตริย์ในสังคมและประชาคมโลกได้ อันเป็นการดึงเอาพระมหากษัตริย์มาอยู่ในเกมการเมืองที่สามารถนำไปขยายผลเพื่อทำลายล้างระบบสถาบันพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบอื่นได้โดยไม่ยาก

การเสนอ พ.ร.ฏ.อภัยโทษ ซึ่งเป็นความลับของคณะรัฐมนตรี จึงเป็นที่กังขาของสังคมทั้งในและนอกประเทศ สื่อต่างประเทศได้สอบถามนายกรัฐมนตรีในเวทีอาเซียน แต่ไม่มีการนำข้อเท็จจริงออกมาเปิดเผยถึงเนื้อหาสาระของ พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าว เมื่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีจึงเป็นบุคคลที่สวมหมวกสองใบ โดยเป็นทั้งสมาชิกพรรคการเมือง และเป็นทั้งฝ่ายบริหารในคณะรัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบ สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่าการดำเนินงานของพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารในคณะรัฐบาลนั้นได้ดำเนินการไปตามเจตนารมณ์พรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ในการดำเนินการทางการเมือง นโยบายพรรคการเมือง และข้อบังคับพรรคการเมืองทุกพรรค จะต้องดำเนินการตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นหลักพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ในกรณีนี้เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งทำการสืบสวนสอบสวนแล้ว หากปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นการสั่นคลอนต่อพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้กระทำโดยหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง อันเป็นกรณีที่ขัดต่อเจตนารมณ์ในการดำเนินการทางการเมือง ที่พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการทางการเมืองบริหารงานแผ่นดินโดยขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรคการเมือง ขัดต่อนโยบาย ข้อบังคับและขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะสถานภาพของพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุข เป็นหลักพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยตามรัฐธรรมนูญ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องมีหนังสือเตือนหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นในเวลาที่กำหนด หากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการ นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ต้องดำเนินการยุบพรรคการเมืองตามอำนาจหน้าที่ในทันที ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 วรรคหนึ่ง วรรคสอง , มาตรา 235 วรรคสอง มาตรา 236(5) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 6 , มาตรา 7 วรรค สอง , มาตรา 9 วรรคแรก , มาตรา 10 , มาตรา 17 วรรคแรก , มาตรา 18 วรรคแรก , มาตรา 31 มาตรา 94 , พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 21

22 พ.ย.54
กำลังโหลดความคิดเห็น