xs
xsm
sm
md
lg

“เฟซ-ทวิต”แย่งพื้นที่ข่าวน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (16 พ.ย.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง พฤติกรรมการติดตามข่าวภัยพิบัติน้ำท่วมจากสื่อมวลชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและ 16 จังหวัดของประเทศ 3,096 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9 - 15พ.ย.54 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์มาเป็นอันดับแรกไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจำแนกตามพื้นที่หรือช่วงเวลาก่อนและหลังเกิดภัยพิบัติโดยผลสำรวจ พบอยู่ประมาณร้อยละ 97.0 - 98.0 อย่างไรก็ตามที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนติดตามข่าวทางหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษลดน้อยลงในพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากร้อยละ39.7 เหลือร้อยละ 29.9 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และลดลงจากร้อยละ 29.7 เหลือร้อยละ 20.4 ในพื้นที่ 7 จังหวัดประสบภัย แต่ไม่แตกต่างกันนักในพื้นที่โดยภาพรวมทั้ง 17 จังหวัดของประเทศ คือ จากร้อยละ 39.1 เหลือร้อยละ 35.1 ตามลำดับ
สำหรับพฤติกรรมติดตามข่าวสารจากคลื่นวิทยุ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากร้อยละ 29.1 ในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติมาอยู่ที่ร้อยละ 43.8 ในช่วงหลังเกิดภัยพิบัติ เช่นเดียวกับพื้นที่ 7 จังหวัดประสบภัย คือ ติดตามข่าวสารทางวิทยุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 38.5
ที่น่าสนใจคือ หนังสือพิมพ์ (ออนไลน์) เว็บสำนักข่าวมีสัดส่วนผู้ติดตามเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 16.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 24.8 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจากร้อยละ 15.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 21.5 ในพื้นที่ 7 จังหวัดประสบภัย เช่นเดียวกับการใช้ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น มือถือ SMS เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ พบว่าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.5 มาอยู่ที่ ร้อยละ 25.1 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 24.3 ในพื้นที่ 7 จังหวัดประสบภัย
พฤติกรรมการติดตามข่าวสารผ่านทางโทรทัศน์ของประชาชนช่วงเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมผ่านทางโทรทัศน์ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปจนอาจกล่าวได้ว่า คนหันมาติดตามข่าวสารทางวิทยุ โซเชียลเน็ตเวิร์ค และสื่อออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษคนติดตามน้อยลงซึ่งอาจเป็นเพราะความยากลำบากในการเข้าถึงในพื้นที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น