xs
xsm
sm
md
lg

เขาวิหารส่อเสร็จเขมร สภาถกลับถอนทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"สุรพงษ์"อ้างผบ.สูงสุดห่วงกระทบอธิปไตย จึงต้องขอเกราะป้องกันจากรัฐสภา กรณีจะถอนทหารจากพื้นที่พิพาทเขาพระวิหารตามคำสั่งศาลโลก ยกสารพัดเหตุผลไทยจำเป็นต้องปฎิบัติตามคำสั่ง หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนมุบมิบขอถกลับ บอกกลัวข้อมูลรั่วไหล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ต่อประเด็นการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กรณีมีคำสั่งให้ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวชี้แจงว่า เหตุที่รัฐบาลต้องขอประชุมร่วมรัฐสภา เพราะทาง ผบ.ทหารสูงสุด มีความกังวลว่า หากปฏิบัติตามคำสั่งอาจทำให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยในพื้นที่ดังกล่าวได้ จึงขอเสนอเรื่องให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2554 สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่างๆ ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทักท้วงว่า การปฏิบัติคำสั่งศาล เช่น การถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรคสอง แต่แม้จะไม่เข้าข่ายมาตราดังกล่าว หากเป็นเรื่องที่สำคัญก็สามารถหารือและรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภาได้ ตามมาตรา 179

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ในการประชุมครม. วันที่ 18 ต.ค.2554 เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า การปฏิบัติตามคำสั่งของศาลนั้นเป็นพันธกรณีระหว่งไทยและกัมพูชา ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสืออนุสัญญา ดังนั้น คำสั่งชั่วคราวดังกล่าวไม่กระทบเขตแดน หรือการเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย ดังนั้น ครม.ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงมีมติตามกระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอเรื่องนี้ให้ประธานรัฐสภาเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส่วนการดำเนินการของรัฐบาลชุดนี้ต่อกรณีคดีปราสาทพระวิหาร เป็นการทำงานต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา คือ ใช้ทีมทนายและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชุดเดิม และรัฐบาลตระหนักต่อการทำหน้าที่ของทหาร ดังนั้น เพื่อให้ฝ่ายมั่นคงปฏิบัติหน้าที่โดยหมดข้อกังวลใจ จึงนำเรื่องนี้มาหารือในที่ประชุมรัฐสภา

“การปฏิบัติตามคำสั่งศาลเป็นการทำตามพันธกรณี ถือเป็นผลดีกับประเทศไทยที่มีความรับผิดชอบต่อสหประชาชาติ อีกทั้งคำสั่งถอนทหารชั่วคราวดังกล่าว ไม่กระทบเขตแดนและอธิปไตยของประเทศ ฝ่ายไทยมีอำนาจบริหารและปกครองในพื้นที่อย่างเต็มที่เช่นเดิม อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวถือว่ามีความสมดุล เพราะสั่งทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา และไทยจะไม่เสียเปรียบหากทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามอย่างเท่าเทียม มองว่าหากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ทางกัมพูชาอาจร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ใช้กฎบัตรสหประชาชนกับประเทศไทยได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อไทย กระทบความเชื่อมั่น ความร่วมมือของนานาประเทศต่อไทยได้” นายสุรพงษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายสุรพงษ์ได้ขอให้เป็นการประชุมลับ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล ซึ่งอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
กำลังโหลดความคิดเห็น