ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การประสบกับเหตุการณ์วิกฤติทำให้คนทั่วไปผู้รู้จักคิดอยู่บ้างต้องหันมาทบทวนและตั้งคำถามกับวิธีคิดและวิถีปฏิบัติที่ดำรงอยู่ว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อและถือปฏิบัติมาในอดีตมีอะไรผิดพลาด แต่หากไตร่ตรองอย่างผิวเผินเร่งรีบไม่รอบคอบ เราอาจพบชุดของสาเหตุชุดหนึ่งซึ่งอาจไม่ใช่สาเหตุแท้จริงของวิกฤติที่เกิดขึ้น และหากเราดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของสาเหตุชุดนั้น อาจทำให้เราถลำลึกลงในวังวนของปัญหามากยิ่งขึ้น แทนที่จะทำให้วิกฤติคลี่คลาย กลับกลายเป็นว่าทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม
การคิดเพื่อสะสางภาวะวิกฤติ ฟื้นฟูสถานการณ์ และแสวงหาแนวทางการพัฒนาใหม่จึงต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งรอบด้าน ปล่อยวางอคติและผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องลงไป มองสาเหตุให้ทะลุลงไปถึงระดับฐานคติและความเชื่อที่เราเคยยึดถืออย่างจริงจัง สำรวจตรวจตราอย่างแยบคายว่าเรื่องใดบ้างเป็นแกนกลางสำคัญที่เชื่อมร้อยปัจจัยต่างๆอันเป็นสาเหตุแห่งการก่อเกิดวิกฤติ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล โครงสร้างและการปฏิสัมพันธ์
วิกฤติการณ์ความพินาศหายนะจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในสังคมไทยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อและแนวทางการพัฒนากระแสหลักของสังคมไทยมีความผิดพลาดอย่างมหันต์ หลายสิบปีที่ผ่านมาผู้มีอำนาจในการกำหนดแนวทางการพัฒนาสังคมไทยมีความเชื่อพื้นฐานว่า การแสวงหา บริโภคและครอบครองสิ่งของวัตถุเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายและขยายอัตตาคือเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา ดังนั้นพวกเขาจึงส่งเสริมสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่สนใจไยดีกับต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่สังคมไทยต้องสูญเสียไป
ทรัพยากรของสังคมไทยถูกจัดสรรเพื่อไปส่งเสริมและเอื้ออำนวยต่อกลุ่มทุนและการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ในหลากหลายรูปแบบอาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านถนน ไฟฟ้า ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม โทรคมนาคมและการสื่อสาร และการพลังงาน อีกทั้งยังมีการกำหนดโครงสร้างทางกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการครอบครองกรรมสิทธิและการสะสมความมั่งคั่งส่วนบุคคลของกลุ่มทุนโดยการกำหนดโครงสร้างภาษีที่พิกลพิการ เช่น การยกเว้นภาษีแก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การไม่เก็บภาษีมรดก การไม่เก็บภาษีการเพิ่มมูลค่าของทรัพสินย์อันเกิดมาจากการลงทุนของรัฐ การไม่เก็บภาษีในอัตราทวีคูณสำหรับผู้ครอบครองรถยนต์คันที่สอง เป็นต้น รวมทั้งการไม่จำกัดปริมาณการถือครองที่ดินซึ่งทำให้กลุ่มทุนสามารถครอบครองที่ดินมากเท่าไรก็ได้ตามความต้องการ
จากลำคลองหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนจำนวนมากได้ถูกแปรสภาพเป็นลำคูระบายน้ำเสียจากโรงงาน บางแห่งก็ถูกถมทำเป็นถนนขวางลำน้ำแต่โบราณ ที่ลุ่มชุ่มน้ำอันเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมในภาคกลางหลายจังหวัดก็ถูกแปลงให้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พื้นที่สำหรับรองรับน้ำตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษก็กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและสนามบิน
ยิ่งกว่านั้นค่านิยมแห่งการบริโภคซึ่งมีหลักการว่า ยิ่งผู้คนในสังคมบริโภคสินค้ามากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สังคมมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็ได้รับการยึดมั่นศรัทธาจากผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศดุจเป็นสัจธรรมอันเปล่งออกมาจากปากของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาทั้งกระตุ้น โฆษณาชวนเชื่อ และปลูกฝังค่านิยมแห่งการบริโภคลงไปในจิตสำนึกของผู้คน ผ่านระบบการศึกษาและสื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จนความเชื่อเหล่านี้ได้ตกผลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้คนค่อนประเทศซึ่งเชื่ออย่างไม่รู้สึกตัวว่าการมีเงินมากและร่ำรวย เพื่อให้ตนเองได้บริโภคมาก คือความสุขของชีวิต
และในระยะสิบปีที่ผ่านมานี้ ค่านิยมแห่งการบริโภคอย่างไร้สติก็ได้รับการส่งเสริม ปลูกฝังและตอกย้ำให้แน่นหนาลงลึกยิ่งขึ้นจากกลุ่มทุนนักการเมืองผู้ประสงค์ตำแหน่งและอำนาจ โดยการใช้นโยบายประชานิยมแจกเงินและสิ่งของอย่างเป็นระบบเพื่อให้ประชาชนเลือกพวกเขาเข้าครอบครองอำนาจรัฐ
การเติบโตทางเศรษฐกิจและค่านิยมแห่งการบริโภคนิยมทำให้กลุ่มทุนขยายตัวอย่างรวดเร็ว และพวกเขาไม่รั้งรอในการสถาปนาอำนาจทางการเมืองขึ้นมา ด้วยเหตุที่สังคมไทยรับเอาค่านิยมและวิธีการปกครองระบอบประชาธิไตยแบบเสรีนิยมจากตะวันตกเข้ามาใช้ด้วยความสุกๆดิบๆ ในบริบทของโครงสร้างสังคมแบบอุปถัมภ์ จึงส่งผลให้กลุ่มทุนฉวยโอกาสอาศัยเงินอันเป็นหัวใจของระบบทุนนิยมผสานเข้าไปกับระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์อันเป็นกระดูกสันหลังของสังคมไทย เป็นหนทางในการเข้าไปยึดกุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ ระบบการปกครองที่ถูกเรียกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยจึงแปรสภาพเป็นระบอบสัมปทานธิปไตยซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใช้อำนาจตามความปรารถนาเพราะพวกเขาถือว่าตนเองได้ซื้อหรือได้สัมปทานอำนาจจากประชาชนมาแล้ว
การมีอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทุนในสังคมไทยยิ่งทำให้ทิศทางการพัฒนาประเทศเกิดความพิกลพิการหนักขึ้นไปอีกเพราะความคิดของกลุ่มทุนไทยเป็นความคิดมิติเดียวที่มุ่งเน้นการแสวงหากำไรสูงสุดโดยไม่สนใจไยดีกับหลักศีลธรรม จริยธรรม หลักนิติธรรม ระเบียบแบบแผนประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมของสังคม และความเสียหายของสิ่งแวดล้อม การทำลายล้างวัฒนธรรมอันดีงาม การทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในขอบเขตที่กว้างขวาง ระบบราชการซึ่งเคยมีข้าราชการบางส่วนที่ทำงานโดยใช้เหตุผล ใช้วิชาการ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่บ้าง ก็ถูกครอบงำและทำให้กลายเป็นกลไกรับใช้ความต้องการและผลประโยชน์ของกลุ่มทุนนักการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ
การเกิดวิกฤติมหาอุทกภัยจึงเป็นการเปิดเผยความผิดพลาดของความเชื่อพื้นฐานในการพัฒนาประเทศหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพและความฉ้อฉลของกลไกระบบการเมืองและระบบราชการอย่างชัดเจน และยังเป็นการเปิดเผยถึงความอ่อนแอและอ่อนล้าของวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในสังคมไทยอีกด้วย เราจึงเห็นพฤติกรรมการเอาตัวรอดของคนบางกลุ่มโดยไม่คำนึงผลกระทบของผู้อื่น แน่นอนว่าเราก็เห็นวิถีที่ดีงามของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนไทยบางส่วนและหน่วยงานบางหน่วยงานที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างพอจะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
รัฐบาลยิ่งลักษณ์อันประกอบด้วยกลุ่มทุนนักการเมืองและนักปลุกระดมมวลชนผู้ฉวยโอกาสได้สร้างความประจักษ์ชัดแก่ประชาชนส่วนใหญ่แล้วว่าคิดแก้ปัญหาวิกฤติของชาติไม่เป็นและบริหารบ้านเมืองไม่ได้ โดยทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมขยายออกไปเหลือจะประมาณการได้ กลับยังอาศัยโอกาสนี้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อหวังสร้างภาพลักษณ์และประคองสถานะอันง่อนแง่นของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.) ซึ่งมีนายวีรพงษ์ รามางกูล อดีตรมว.คลัง และอดีตที่ปรึกษาทักษิณ ชินวัตร เป็นประธาน และมีกรรมการอื่นๆอีก 14 คน ประกอบด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นายกิจจา ผลภาษี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายวิษณุ เครืองาม นายศุภวุฒิ สายเชื้อ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เมื่อดูองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้แล้วจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นนายทุนนักธุรกิจใหญ่และเทคโนแครตที่ใกล้ชิดและรับใช้ทักษิณ ชินวัตร มาก่อนทั้งสิ้น คนเหล่านี้เชื่ออย่างฝังแน่นว่าวิถีแห่งทุนนิยมและบริโภคนิยมคือวิถีที่พึงปรารถนาในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นหากให้คนเหล่านี้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ความผิดพลาดและหายนะที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็คงเกิดขึ้นต่อไปอย่างต่อเนื่องถาวร และอาจจะยิ่งทวีระดับความรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่พวกเขาเร่งคิด เร่งสร้าง และเร่งทำในสิ่งเดิมๆ พร้อมกับตั้งความหวังว่าการทำแบบเดิมจะก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบใหม่ โดยทั่วไปคงไม่มีคนจิตปกติผู้ใดเชื่อว่า วิธีคิด นโยบาย และการปฏิบัติแบบเดิมจะสร้างอนาคตแบบใหม่แก่ประเทศไทยได้
แต่ภายใต้กลไกอำนาจทางการเมืองปัจจุบันที่มีอยู่ในสังคมไทยเราก็ไม่อาจหวังอะไรได้มากกว่านี้ เราคงไม่อาจหวังได้ว่าจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทยซึ่งมาจากการผสมผสานของผู้คนอย่างหลากหลาย อาทิ นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญเศรษฐกิจพอเพียง หรือเศรษฐกิจทางเลือกอื่นๆ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน นักสื่อมวลชน ตัวแทนองค์การภาคประชาชน ตัวแทนองค์การเกษตรกร ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน และภาคธุรกิจรายย่อย กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ถูกนับรวมให้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศดังที่เคยเป็นมาในอดีต และยังคงเป็นไปในอนาคต หากกลไกอำนาจทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง
สังคมไทยผิดพลาดจนเกิดความหายนะมาแล้วหลายครั้งหลายหน อันเป็นผลมาจากกลไกอำนาจที่บิดเบี้ยวซึ่งตอบสนองและรับใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจและกลุ่มทุนชนชั้นนำของสังคมเป็นหลัก คนธรรมดาสามัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้แบกภาระ เสียสละอย่างจำยอม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกครอบงำให้หลงอยู่กับมายาภาพ ตกอยู่ในภาวะกึ่งฝันกึ่งจริงว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะมีโอกาสร่ำรวยมั่งคั่งเหมือนกับตระกูลของนายทุนและนักการเมืองบ้าง หากพวกเขาขยัน อดทน และเชื่อฟังสิ่งที่กลุ่มทุนนักการเมืองพูดหรือบอก
การนำพาสังคมไทยให้พ้นจากบ่วงกรรมและห้วงเหวแห่งความหายนะได้ เราจำเป็นต้องมีกลไกอำนาจแบบใหม่ที่สามารถผนึกรวมเอาความคิด ความเชื่อของคนทุกกลุ่ม เพื่อก่อรูปความคิดและความเชื่อในการพัฒนาแบบใหม่ และสร้างเป็นแนวทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศแบบใหม่ แต่จะมีใคร กลุ่มใดที่จะกล้าเสียสละอำนาจ หรือเป็นกลุ่มนำในการสร้างกลไกอำนาจใหม่ซึ่งเป็นปฐมบทในการสร้างประเทศใหม่ อย่างไรก็ตามหากวิกฤติของประเทศไทยยังไม่จบ โจทย์นี้คงมีคำตอบในไม่ช้าไม่นาน