เอเอฟพี - ทุกวันนี้มีชาวพม่าและกัมพูชาจำนวนมากที่ทำงานเป็นลูกเรือประมงไทย ทว่าหลายคนกลับเป็นเพียงผู้อพยพที่ถูกบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาสในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย และถูกข่มขู่เอาชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ฮลา มินต์ (นามสมมติ) ได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรก เมื่อกลุ่มผู้ค้ามนุษย์พาเขาบุกป่าฝ่าดงจากพม่าข้ามมาขึ้นเรือที่ฝั่งไทย
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “นรกบนดิน” ตลอด 7 เดือนต่อมา ซึ่งเขาถูกเฆี่ยนตี “ทุกวัน ทุกชั่วโมง”
ชะตากรรมของ ฮลา มินต์ เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องราวของทาสต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงมูลค่านับล้านดอลลาร์ของไทย ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนระบุว่า อาหารทะเลสดๆที่ถูกส่งไปยังภัตตาคารและซูปเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกคือผลผลิตจากหยาดเหงื่อและความทุกข์ทรมานของแรงงานเหล่านี้
หลังจากที่เห็นกัปตันเรือสังหารลูกเรือคนหนึ่งอย่างโหดเหี้ยม ฮลา มินต์ จึงตัดสินใจหลบหนี โดยกระโดดลงทะเลและลอยคอด้วยชูชีพอยู่นานกว่า 5 ชั่วโมงจึงขึ้นฝั่งได้
เขาเล่าว่า ชายที่ถูกฆ่าพยายามจะหลบหนี จึงถูกนำมาเฆี่ยนตีและทรมานต่อหน้าลูกเรือคนอื่นๆ
“จากนั้นพวกเขาก็นำคนๆนั้นไปที่ท้ายเรือ จับให้ยืนบนกราบเรือ แล้วยิงเข้าที่หัว ใจผมเต้นแทบระเบิดตอนที่เห็นภาพนั้น”
ปัจจุบันเขาทำงานกับกลุ่มช่วยเหลือแรงงานในท้องถิ่น เพื่อช่วยแรงงานต่างด้าวคนอื่นๆให้หลบหนี
ฮลา มินต์ เล่าประสบการณ์ของเขาระหว่างเดินทางไปช่วยหนุ่มพม่า 4 คน ซึ่งหลบหนีออกจากห้องขังได้สำเร็จ และซ่อนตัวอยู่ในป่าใกล้กับจังหวัดระยอง
“พวกเขาบอกว่า ถ้าเราคิดจะหนี ลูกปืนลูกเดียวราคาแค่ 25 บาทเท่านั้น” เมียว โอ (นามสมมติ) วัย 20 ปี เผย
องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ระบุเมื่อไม่นานมานี้ว่า รัฐบาลไทยสามารถจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์ได้ดีขึ้น ทว่ายังต้องเดินหน้าต่อไป พร้อมเตือนด้วยว่า การบีบบังคับให้เป็นทาสในอุตสาหกรรมประมงกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ศิริรัตน์ อายุวัฒน์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า รัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าว และมีแผนจะตั้งคณะกรรมการเพื่อจดทะเบียนเรือประมงทุกลำ ตลอดจนลูกเรือที่ทำงานบนเรือเหล่านั้น
“เราไม่อาจทราบได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่เรือออกจากฝั่งไปแล้ว ลูกเรืออาจถูกทรมานหรือกักขังหน่วงเหนี่ยว กัปตันเรือจะมีอำนาจควบคุมทุกอย่าง และอาจข่มเหงลูกเรือของตนเองได้” ศิริรัตน์ กล่าว
องค์กรผู้โยกย้ายถิ่นฐานนานาชาติ (ไอโอเอ็ม) ระบุว่า ลูกเรือประมงจำนวนมากต้องทำงานตลอด 7 วัน สูงสุดถึงวันละ 20 ชั่วโมง โดยจะมีเวลารับประทานอาหารหรืองีบหลับได้บ้างระหว่างลงอวนเท่านั้น
เรือประมงบางลำจะใช้วิธีเติมเชื้อเพลิงและรับลูกเรือใหม่จาก “เรือแม่” เพื่อหลีกเลี่ยงการกลับขึ้นฝั่ง ลูกเรือบางคนจึงต้องติดอยู่กลางทะเลนานหลายเดือน บางคนก็ไม่ได้กลับขึ้นฝั่งเลยเป็นปีๆ
ฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์กร ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ผู้เขียนรายงานดังกล่าว เปิดเผยว่า ตำรวจน้ำซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เมืองชายทะเลแห่งหนึ่งของไทย เล่าว่า ทุกๆเดือนจะพบศพลอยมาติดชายหาดประมาณ 10 ศพ
จากการสำรวจความคิดเห็นลูกเรือชาวกัมพูชาบนเรือประมงไทยโดยโครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (UNIAP) เมื่อปี 2009 พบว่า ลูกเรือส่วนใหญ่เคยเห็นกัปตันสังหารเพื่อนร่วมงานของพวกเขา
ด้าน มานะ ศรีพิทักษ์ ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ไม่มีการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงอย่างแน่นอน และลูกเรือต่างด้าวก็ทำงานบนเรือประมงไทยด้วยความเต็มใจ
ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนเป็นลูกเรือประมงไทยราว 35,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าและกัมพูชา แต่นักสิทธิมนุษยชนชี้ว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานที่โหดร้ายทำให้ลูกเรือชาวไทยหันไปประกอบอาชีพอื่น กัปตันเรือจึงต้องหาผู้อพยพต่างด้าวมาบังคับใช้แรงงานแทน