xs
xsm
sm
md
lg

ภูฏาน

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่อผมอายุ 13 ปี คือเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ผมได้ไปเรียนโรงเรียนที่เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งชื่อ Kalimpong อยู่ใกล้ๆ เมือง Dargeeling เวลาจะไปต้องขึ้นเครื่องบินจากกัลกัตตาไปลงสนามบินในดาร์จีลิ่ง แล้วนั่งรถต่อไปอีกระหว่างทางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา

ดาร์จีลิ่งเป็นเมืองที่พวกฝรั่งไปพักผ่อนอย่างที่เรียกว่า Hill Station อยู่ใกล้ภูเขาหิมาลัย เวลานั้น Edmund Hillary เพิ่งพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ชาวเชอร์ปาผู้นำทางคือ Tenzing Norgay ระหว่างอยู่ดาร์จีลิ่ง ผมพักที่โรงแรมวินเดอเบีย ตอนที่เดินเล่นในเมืองได้พบเทนซิง ก็เลยไปขอลายเซ็น โรงแรมวินเดอเบียแม้จะเล็กแต่ก็สบาย อาหารการกินก็อร่อย โดยเฉพาะการกินชาซึ่งแถบนั้นปลูกกันมากและมีชื่อเสียง

กาลิมปงเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ใกล้กับรัฐสิกขิม และก็ไม่ไกลจากภูฏานนัก โรงเรียนที่นั่นจึงมีเด็กๆ จากภูฏานมาเรียนกันแยะ ผมยังจำชื่อนักเรียนพวกนี้ได้ จะมีนามสกุลวังชุก และดอร์จีหลายคน เข้าใจว่าพระญาติของพระราชาจิกมี ก็มาอยู่ที่โรงเรียนนี้หลายคน

โรงเรียนชื่อ St. Augustine มีบาทหลวงชาวสวิสเป็นครูดูแล ครูส่วนใหญ่เป็นพระ ใกล้ๆ โรงเรียนมีโรงเรียนผู้หญิงชื่อ St. Joseph สองโรงเรียนใช้โบสถ์ร่วมกัน ตอนเช้าจึงมีนักเรียนหญิงเดินแถวไปโบสถ์ มีนักเรียนไทยเรียนอยู่ชื่อ พรทิวา และพรทิพย์ พรประภา ส่วนที่ St. Augustine มีนักเรียนไทยประมาณ 8 คน ผมเป็นหนึ่งในนั้น

ไปทีแรก ผมทานอาหารไม่ได้เลย เพราะทุกวันจะมีซุปถั่วที่เรียกว่า คัล มีข้าวที่ใส่กานพลูลงไปด้วย และกะหรี่ซึ่งเป็นมังสวิรัติ เราต้องแอบไปสั่งคนรับใช้ให้ฆ่าไก่มาให้กิน แต่ก็แพงนานๆ จึงได้กินสักครั้งหนึ่ง

นักเรียนที่นี่เป็นพวกเนปาลีเป็นส่วนมาก นอกนั้นก็เป็นพวกสิกขิม และภูฏาน วันไหนอากาศดีครูใหญ่จะประกาศหยุดเรียน โดยพานักเรียนไปปิกนิกแทน การไปปิกนิกคือการไปเดินทางไกล ลดเลี้ยวตามไหล่เขาผ่านไร่ข้าวโพด ไปครั้งหนึ่งๆ ก็ไกลมากราวๆ 10 กิโลเมตรเห็นจะได้ พวกเราก็เดินจนเมื่อย อาหารที่นำติดตัวไปก็คือขนมปังแห้งๆ กินกับแยม

โรงเรียนมีสนามฟุตบอล และเมื่อเข้าไปในตัวเมืองก็จะมีสนามฟุตบอลซึ่งไม่มีหญ้าเลย ทีมฟุตบอลของโรงเรียนเคยไปแข่งกับทีมในเมืองเป็นพวกคนขับรถแท็กซี่ ทีมนี้เล่นเก่งมาก พวกเราแพ้ไป 11-0 คนเล่นเป็นโกลคือผมเอง

มีข่าวเล่าลือว่า พวกภูฏานนั้นเดินมาเรียนโดยรู้จักทางลัด ผมดูแผนที่แล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ พูดถึงภูฏานแล้ว เขามีพลเมืองแค่แปดแสนคน ที่อยู่ในภูมิประเทศที่อากาศดี ไม่มีความสกปรกเลย ชาวภูฏานจึงมีชีวิตที่เรียบง่าย เมื่อเปิดประเทศให้คนเข้าไปเที่ยวก็มีการควบคุมไม่ให้คนเข้าไปมากเกินไป นอกจากนั้นภูฏานเองยังคิดดัชนีวัดความสุขไว้เป็นเกณฑ์วัดผลสำเร็จของการพัฒนาอีกด้วย เรียกว่าไม่ได้คิดถึงแต่ความเจริญทางวัตถุ แต่คิดถึงความผาสุกของประชาชนด้วย

เมื่อภูฏานมีการเลือกตั้ง และมีรัฐสภาก็เริ่มมีการถกเถียงกันมากขึ้น เช่น การห้ามสูบบุหรี่ และขายบุหรี่ มีการคัดค้านกันมาก จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องพื้นๆ คงจะหาทางแก้ไขปรองดองกันได้ไม่ยาก

สมัยก่อนคนภูฏานเรียนแค่จบมัธยมก็ถือว่าดีแล้ว กลับไปทำงานเป็นใหญ่เป็นโต แต่เวลานี้คนภูกานไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น อินเดียเป็นที่ที่คนไปเรียนมากที่สุด แต่เวลานี้คนภูฏานรู้จักเมืองไทย และมีคนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิตมาก พระราชินีของภูฏานไปเรียนที่อินเดียก่อนแล้วจึงไปอังกฤษ

ภูฏานสนใจประเทศไทยมาก พระราชวงศ์ก็ชอบมาเมืองไทย อีกไม่ช้าพระราชาธิบดีจิกมี และพระราชินีก็คงเสด็จมา

ผมหวังว่าภูฏานคงรักษาความบริสุทธิ์ไว้ได้ ดัชนีวัดความสุขของเขากับเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องกันในแง่แนวความคิด และผมมั่นใจว่า แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาของเขาเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น