xs
xsm
sm
md
lg

อีสานใต้จม ศูนย์พระพยอม อพยพสัตว์หนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูมิภาค-อีสานใต้อ่วมหนัก บ้านเรือนประชาชนหลายพื้นที่ในศรีสะเกษถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคา ศูนย์ร่มโพธิ์แก้วของ “พระพยอม” เร่งอพยพพันธุ์ไม้เศรษฐกิจกว่า 1,000 ต้นและสัตว์เลี้ยงร่วม 100 ตัวขึ้นที่สูงรับมวลน้ำเขื่อนโคราชไหลลงสมทบลำน้ำมูล 28 ต.ค.นี้ หอการค้ากาฬสินธุ์ระบุพิษน้ำท่วมส่งผลผลิตข้าวไม่สามารถออกสู่ตลาดได้กว่า 1.2 แสนตันเสียหาย 2,000 ล้านบาท ผู้ว่าฯพิษณุโลกเตรียมฟื้นฟู 4 อำเภอหลังน้ำลดแล้ว

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษยังวิกฤตหนัก น้ำมูลที่เขื่อนราษีไศลได้เพิ่มระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่น้ำในลำห้วยสำราญ ที่ไหลผ่านตัวเมืองศรีสะเกษ ได้ไหลเอ่อขึ้นท่วมบ้านเรือนราษฎรที่ชุมชนสะพานขาว คุ้มหนองหมู คุ้มหนองบัว คุ้มโนนงาม ชุมชนโนนสวรรค์ ชุมชนโนนพะยอม คุ้มสนามเป้า ชุมชนโนนทรายทอง ชุมชนมิตรภาพ 2 ซึ่งชุมชนทั้งหมดอยู่ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โดยเฉพาะที่ชุมชนโนนสวรรค์ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก รถไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ต้องใช้เรือเท่านั้น ส่วนที่คุ้มหนองหมู น้ำท่วมจนมิดหลังคาบ้านมา 2 วันแล้ว ทางเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ต้องร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำถุงยังชีพและน้ำดื่มน้ำใช้มาแจกเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน

นางฐิติพร แก้วคำ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 321/38 คุ้มหนองหมู ม.9 ต.โพธิ์ อ.เมืองศรีสะเกษ กล่าวว่า น้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะลด ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานราชการได้นำถุงยังชีพและน้ำดื่มมามอบให้อยู่หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งกินไม่อิ่ม อยากได้ข้าวสารมาหุงกินเองจะดีกว่า ตอนนี้หนาวแล้ว อยากได้ผ้าห่มมาบรรเทาความหนาวเย็นบ้าง และเงินช่วยเหลือน้ำท่วมหลังละ 5,000 บาทจะได้รับไหม ฝากถามทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าระดับน้ำจะสูงขึ้นมากกว่าเดิมอีก ซึ่งตนได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติไปแล้ว 21 อำเภอ 1,590 หมู่บ้าน และยังได้สั่งการให้ทุกอำเภอเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยให้จัดส่งผลการสำรวจภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ เพื่อจะได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยเหนือต่อไป

วันเดียวกันที่บริเวณสะพานบ้านกุดปลาขาว หมู่ 12 ต.น้ำอ้อม อ.กันทรลักษ์ นายสมศักดิ์ และคณะ ได้นำชาวบ้านกุดปลาขาว และหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันก่อสร้างสะพานชั่วคราวแทนสะพานคอนกรีตของเดิมที่ถูกน้ำท่วมพัดพังเสียหายไปตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้ประชาชน 7 หมู่บ้านใน 2 ตำบล ประกอบด้วย ต.น้ำอ้อมและ ต.สังเม็ก อ.กันทรลักษ์ ต้องถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่สามารถใช้เส้นทางสายนี้สัญจรไปมาได้ และได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ซึ่งผู้ว่าฯ ได้ร่วมกับชาวบ้านใช้เวลาช่วยกันก่อสร้างสะพานชั่วคราวดังกล่าวประมาณ 3 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ ทำให้ขณะนี้รถยนต์ทุกชนิดสามารถสัญจรไปมาได้แล้ว

**ศูนย์ฯพระพยอมเร่งย้ายพืช-สัตว์หนี

ด้านสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ก็ยังคงวิกฤตหนักเช่นเดิม โดยวานนี้ (25 ต.ค.) น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน จ.บุรีรัมย์ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พระวุฒิ พระผู้ดูแล ศูนย์ร่มโพธิ์แก้ว สาขา 7 ที่บ้านวังปลัด ต.บ้านแพ อ.คูเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 สาขาของพระพยอม กัลญาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ได้ระดมคนงานขุดพันธุ์ไม้เศรษฐกิจที่ปลูกใหม่ เช่น ต้นปาล์ม ไผ่ และต้นมะม่วงรวมกว่า 1,000 ต้นขึ้นเก็บไว้บนที่สูง พร้อมย้ายสัตว์เลี้ยงร่วม 100 ตัวขึ้นไปเลี้ยงไว้บนชั้น 2 ของอาคารเอนกประสงค์หลังใหม่

นอกจากนั้น ยังได้วางแนวกระสอบทรายกั้นตัวอาคารและบริเวณวัดที่เป็นพื้นที่ต่ำป้องกันน้ำที่จะไหลทะลักเข้าท่วมได้ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่เกินปริมาณความจุเขื่อนของ จ.นครราชสีมาที่จะระบายลงมาสมทบกับน้ำในลำน้ำมูลจำนวนมากในวันที่ 28 ต.ค.นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มวลน้ำดังกล่าวไหลเอ่อเข้าท่วมร่มโพธิ์แก้ว ทำให้พืช สัตว์ และทรัพย์สินเสียหายซ้ำรอยปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท

**ขอยืดเวลาผ่อนชำระบ้านน้ำท่วม

ด้านสถานการณ์น้ำมูลที่ไหลท่วมหลายสิบชุมชนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ยังคงวิกฤตหนักเช่นกัน โดยวานนี้ ได้ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านเสาวลักษณ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านจัดสรรริมแม่น้ำมูลน้อย ที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นกว่า 500 คน โดยทางชาวบ้านหมู่บ้านจัดสรรได้ช่วยเหลือตัวเอง โดยก่ออิฐบล็อกรวมทั้งตั้งกระสอบทรายกันไม่ให้น้ำไหลเข้าบ้าน แต่บ้านบางหลังที่ทานกระแสน้ำไม่ไหว ก็นำเครื่องสูบน้ำสูบออกจากตัวบ้าน เพื่อไม่ให้พื้นบ้านได้รับความเสียหายมาก

ทั้งนี้ หมู่บ้านแห่งนี้ถูกน้ำไหลท่วมมาตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแม่น้ำมูลมีระดับน้ำสูงในรอบ 10 ปี และระดับน้ำท่วมหมู่บ้านสูงกว่า 1 เมตร

นางพนิตา บุญมานัส ผู้อาศัยอยู่ในบ้านจัดสรรเสาวลักษณ์ ถนนพโลชัย ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลฯ กล่าวว่า น้ำไหลเข้าท่วมบ้าน เพราะกำแพงรั้วด้านหลังบ้านพังทำให้น้ำไหลเข้าตัวบ้านอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่นาที สำหรับความช่วยเหลือต้องการให้รัฐช่วยเจรจากับสถาบันการเงินให้ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระค่าบ้านออกไป เพราะตั้งแต่น้ำท่วมบ้านไม่มีเวลาไปประกอบอาชีพค้าขายตามปกติ เนื่องจากรู้สึกเครียดและต้องอยู่ดูแลบ้าน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ระดับน้ำแม่น้ำมูลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ล้นพนังกั้นน้ำด้านฝั่งเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งมีความสูงกว่าฝั่งเทศบาลเมืองวารินชำราบราว 2.50 เมตรแล้ว ทำให้น้ำไหลท่วมถนนเลียบแม่น้ำและบ้านเรือนในชุมชนวัดหลวง ชุมชนวัดกลาง ชุมชนวัดใต้ และชุมชนท่ากกแห่ เป็นบริเวณกว้างกว่า 100 ครอบครัวโดยระดับน้ำสูงประมาณ 50 ซม.ทำให้ปัจจุบันในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ และเทศบาลนครอุบลราชธานี มีน้ำท่วมชุมชนแล้วร่วม 42 ชุมชน

**ถนนกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ดจมบาดาล

สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังไม่คลี่คลายเนื่องจากแม่น้ำชีที่ไหลหลากมาในพื้นที่มีจำนวนมากทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอยู่ต่อเนื่อง ขณะที่ทางหลวงหมายเลข 214 ซึ่งเป็นเส้นทางระหว่างกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ดน้ำยังคงท่วมสูงระดับน้ำอยู่ที่ 80 ซม.ถึง 1 เมตร รถใหญ่สัญจรไปมาอย่างยากลำบาก รถยนต์หลายคันที่วิ่งผ่านถูกน้ำท่วมเครื่องชำรุดเสียหาย แผ่นป้ายทะเบียนหลุดออกมา เจ้าหน้าที่ต้องเก็บรักษาไว้เพื่อรอคืนให้กับเจ้าของอย่างน้อย 300 ป้าย

**ข้าวกาฬสินธุ์เสียหาย1.2แสนตัน

นายชนินทร์ สังข์วิเศษ ประธานหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า น้ำที่ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ครั้งนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุต่างๆ และการปล่อยน้ำของเขื่อนลำปาวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายแล้วมากกว่า 120,000 ไร่ และล่าสุดได้รับผลกระทบจากแม่น้ำชีใน อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย อีก 130,000 ไร่ ซึ่งจะส่งผลให้นาข้าวในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เสียหายไม่น้อยกว่า 250,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดประมาณ 1,700,000 ไร่ หากเฉลี่ยแล้วผลิตข้าวของ จ.กาฬสินธุ์จะเสียหายไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ 15% หรือประมาณ 120,000 ตัน มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท

"ผลผลิตข้าวที่เสียหายแม้จะไม่ส่งผลกระทบกับตลาดข้าวในภาพรวมทั่วประเทศมากนัก แต่ก็จะทำให้เกษตรกรเสียผลประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว เพราะไม่มีผลผลิตไปจำนำ ซึ่งรัฐบาลควรที่จะให้การช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการเยียวยา การจ่ายค่าชดเชย และการหาแหล่งเงินทุน เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น"

**น้ำท่วมอุทัยฯเริ่มลดลง

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุทัยธานี วานนี้ จากระดับที่ท่วมในตัวเมือง ย่านการค้า ศูนย์ราชการสูงกว่า 1 เมตร ส่วนในตำบลรอบนอกโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง พื้นที่ 7 ตำบลของ อ.เมืองอุทัยธานี ระดับน้ำยังท่วมสูง 2-5 เมตร ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว 40 ซม.และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเส้นทางคมนาคม ยังคงต้องใช้ทางเลี่ยงพื้นที่น้ำท่วม เนื่องจากเส้นทางหลักหลายสายยังพบว่ามีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 333 ที่เชื่อมต่อ จ.อุทัยธานี กับ ถนนสายเอเชียที่บ้านท่าน้ำอ้อน อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 16 กม.ยังคงปิดการจราจรต่อเนื่องไปอีก เนื่องจากระดับน้ำที่ท่วมเส้นทางบางช่วงยังท่วมสูงรถยนต์ทุกชนิดยังผ่านไม่ได้

ในส่วนของพื้นที่ที่ระดับน้ำเริ่มลดลง ปั๊มน้ำมันบางแห่ง ที่เคยหยุดกิจการมาก่อนหน้านี้ เริ่มเปิดให้บริการตามปกติ นอกจากนี้ หลังน้ำเริ่มลดลง ได้มีประชาชนเริ่มจัดหาเครื่องมือในการทำความสะอาดบ้านเรือนเตรียมเข้าไปขัดทำความสะอาดไล่หลังระดับน้ำที่ลดลง แต่ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากยังต้องอาศัยในเต็นท์บนถนนสายต่างๆ ต่อไปอีก เนื่องจากระดับน้ำยังท่วมบ้านในระดับสูงไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ในบ้านได้ตามปกติ

**พิษณุโลกเตรียมฟื้นฟู4อำเภอหลังน้ำลด

ที่ห้องประชุม POC ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า สถานการณ์อุทกภัยของ จ.พิษณุโลกเริ่มดีขึ้นโดยลำดับ ใกล้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว มีการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องทั้งการจ่ายเงินชดเชย การแจกถุงยังชีพ การเยียวยาจิตใจ การฟื้นฟูสิ่งสาธารณูปโภค

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 4 อำเภอที่เป็นเป้าหมายให้ความช่วยเหลือต่อไปอย่างใกล้ชิด ได้แก่ อ.บางระกำ พรหมพิราม บางกระทุ่ม และ ฮ.เมือง โดยจังหวัดจะจัดทำโครงการ “เยี่ยมยามถามไถ่ ให้กำลังใจหลังน้ำลด” โดยระดมความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ลงพื้นที่ไปพบปะเยี่ยมเยียนดูแลราษฎร นำบริการต่างๆ ไปให้ราษฎร เช่น ถุงยังชีพจุดละ 500 ชุด เลี้ยงอาหารชาวบ้าน 1,000 รายบริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือเกษตร บริการสุขภาพ บริการตัดผม เสริมสวย การฝึกอาชีพ บริการทางการศึกษาห้องสมุดเคลื่อนที่ บริการบ้านเด็กและเยาวชน แจกต้นไม้ พืชผักสวนครัว และนันทนาการ เป็นต้น

โดยจะมีการจัดโครงการดังกล่าวจำนวน 15 ตำบล 15 ครั้งในพื้นที่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และ อ.บางกระทุ่ม โดยจะดำเนินการตามโครงการให้เสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ย.54 เริ่มครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านแม่ระหัน ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ เวลา 09.00-15.00 น.

**ผู้ประกอบการหาดใหญ่เตรียมรับมือ

นายชาญชัย สุขสวี ผู้บริหารบริษัทสงวนพาณิย์ เอวี จำกัด ตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมสำหรับรับมืออุทกภัยในช่วงปลายปีนี้ว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้เตรียมพร้อม เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดโดยมีการสั่งซื้อกระสอบทรายกว่า 3,000 กระสอบมาเตรียมต่อเติมชั้นสำหรับวางสินค้าในที่สูงประมาณ 2 เมตร เตรียมรถบรรทุกเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้ากรณีระดับท่วมสูงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมของตัวเอง แทนการอาศัยการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาก็เจ้าหน้าที่มีจำกัด การช่วยเหลือเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้ามากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น