กาฬสินธุ์ - หอการค้ากาฬสินธุ์ ระบุพิษน้ำท่วม ส่งผลให้นาข้าวจมน้ำกว่า 2.5 แสนไร่ ผลผลิตข้าวไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ 1.2 แสนตัน เสียหาย 2,000 ล้านบาท ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังระดมกำลังซ่อมรอยแตกพนังกั้นชีอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (25 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณน้ำท่วมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ทำให้ระดับน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 5-10 ซม.จนเซาะพนังกั้นลำน้ำชีบริเวณหลัก กม.ที่ 21-25 ในเขตรอยต่อทั้ง 2 อำเภอแตกไปแล้ว 8 จุด ส่งผลให้ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลไหลทะลักเข้าท่วมบ้านของประชาชนกว่า 5,000 ครัวเรือน และนาข้าวที่ออกรองแล้วของเกษตรกรอีก 130,000 ไร่
โดย นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังคงระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ทางหลวงชนบท กำลังทหาร นักศึกษาวิชาทหาร และชาวบ้านเร่งอุดรอยแตกอย่างต่อเนื่องนานกว่า 6 วัน
โดยล่าสุด สามารถซ่อมได้แล้ว 60% ซึ่งยังเหลืออีก 2-3 จุด ที่การซ่อมยังทำด้วยความยากลำบาก เนื่องจากรอยแตกมีระยะยาวกว่า 100 เมตร ลึก 3 เมตร ประกอบกับกระแสน้ำค่อนข้างแรง เครื่องจักไม่สามารถเข้าไปถึง จึงทำได้เพียงชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงเท่านั้น
พร้อมกับเจาะพนังกั้นบริเวณบ้านโนนเมือง ต.ดงลิง อ.กมลาไสย เพื่อเร่งระบายน้ำที่ทะลักเข้ามาออกสู่แม่น้ำลำปาวโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายจากน้ำท่วมบ้านและนาข้าวเพิ่มอีก 3 แสนไร่ที่เหลืออยู่
ทั้งนี้ ระดับน้ำที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะท่วมบ้านเรือนและนาข้าวแล้ว ยังทำให้ถนนสาย 214 กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ถูกน้ำท่วมสูงหลายจุด ทำให้การสัญจรผ่านไปมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก รถยนต์หลายคันที่วิ่งผ่านถูกน้ำท่วมเครื่องชำรุดเสียหาย แผ่นป้ายทะเบียนหลุดออกมา เจ้าหน้าที่ต้องเก็บรักษาไว้รอคืนเจ้าขอมาขอรับแล้วอย่างน้อย 300 ป้าย
ด้าน นายชนินทร์ สังข์วิเศษ ประธานหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากสถานการณน้ำท่วมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุต่างๆ และการปล่อยน้ำของเขื่อนลำปาวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายมากกว่า 120,000 ไร่ และล่าสุดได้รับผลกระทบจากแม่น้ำชีในอ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย อีก 130,000 ไร่
ซึ่งจะส่งผลให้นาข้าวในพื้นที่เสียหายไม่น้อยกว่า 250,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดประมาณ 1,700,000 ไร่ ทั้งนี้ หากเฉลี่ยแล้วผลิตข้าวของ จ.กาฬสินธุ์จะเสียหายไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ 15% หรือประมาณ 120,000 ตัน มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ผลิตข้าวที่เสียหายแม้จะไม่ส่งผลกระทบกับตลาดข้าวในภาพรวมทั่วประเทศมากนัก
แต่ก็จะทำให้เกษตรกรเสียผลประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว เพราะไม่มีผลผลิตไปจำนำ ซึ่งรัฐบาลควรที่จะให้การช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการเยียวยา การจ่ายค่าชดเชย และการหาแหล่งเงินทุน เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น