ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน
การแต่งตั้ง “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง”จากรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการ ศอ.บต.”เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และเป็นไปตามความคาดหมายของผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ฟันธงไปก่อนหน้านั้นแล้วว่า หลังพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลตำแหน่งนี้ต้องมีการเปลี่ยนตัวบุคคลอย่างแน่นอน
เพียงแต่คนส่วนใหญ่ในชายแดนใต้ยังไม่มั่นใจว่า เลขาธิการ ศอ.บต.จะเป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เพราะหลังจากรัฐบาลโยนหินถามทางด้วยการเปิดชื่อนี้ขึ้นมา กระแสสังคมในพื้นที่มีการแสดงความไม่เห็นด้วยในเกือบทุกสาขาอาชีพ
ทั้งนี้ เพราะต่างก็เห็นว่า พ.ต.อ.ทวี ไม่ใช่ลูกหม้อของกรมการปกครอง ไม่รู้ปัญหาของชายแดนใต้ดีพอ อาจต้องใช้เวลาศึกษาความซับซ้อนของปัญญา และเป็นห่วงความรู้สึกของประชาชนที่เป็นมุสลิมกว่า 80% ที่มีความรู้สึกไม่ดีนักต่อภาพลักษณ์ของตำรวจ แม้ว่าวันนี้ พ.ต.อ.ทวี ไม่ได้รับราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว แต่คำนำหน้าชื่อก็ยังบ่งชัดอยู่
ที่สำคัญก่อนที่จะมีการแต่งตั้งมีข่าวว่า การย้าย พ.ต.อ.ทวีมาเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.ไม่ได้มาเพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ แต่มาเพื่อที่จะครองตำแหน่งระดับ 11 ซึ่งเทียบเท่ากับปลัดกระทรวง เพื่อรอโอกาสที่จะย้ายกลับไปเป็น ปลัดกระทรวงมหาดไทยในปีหน้าหลังการเกษียณอายุราชการของนายพระนาย สุวรรณรัฐ
ความเข้าใจดังกล่าวจึงกลายเป็นภาพลบในตัวของ พ.ต.อ.ทวีในความรู้สึกของประชาชน ซึ่งคนมุสลิมส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นและมีความคาดหวังใน ศอ.บต.มากว่า 20 ปีว่า เป็นหน่วยงานที่พวกเขาพึ่งได้ มากกว่าตำรวจและทหาร
การตัดสินใจในครั้งนี้จึงเป็นคำตอบจากภาคการเมืองที่ส่งถึงชาวชายแดนใต้ที่ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ให้ความสนใจต่อความรู้สึกและความคิดเห็น รวมทั้งความต้องการของประชาชนในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ทุกอย่างของการตัดสินใจยืนอยู่บนหลักการความต้องการของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ กอ.รมน.ปรับแผนการแก้ไฟใต้ด้วยการปรับบทบาทของ ศอ.บต.ในพื้นที่ให้เป็น “ศอ.บต.ส่วนแยก” เพื่อให้อยู่ภายใต้หน่วยงานใหม่คือ “ศูนย์บูรณาการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบก.จชต.)” ซึ่งจะเป็นหน่วยงานใหม่ที่อยู่ในอาณัติของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยให้อำนาจ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก็คือแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้สั่งการเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว
นโยบายนี้ไม่ได้รับการเห็นด้วยจากหน่วยงานพลเรือนและประชาชนในพื้นที่ เพราะการให้กองทัพเป็นพระเอกเพียงผู้เดียวในการดับไฟใต้ ไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาความไม่สงบได้ เนื่องจาก 7 ปีที่ผ่านมาการทำงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปรากฏแต่ความล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะหากได้ผลทำไมสถานการณ์จึงไม่ยุติหรือมีแนวโน้มคลี่คลาย แต่นับวันกลับจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อีกทั้ง “พ.ร.บ.ศอ.บต.” หรือ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดที่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะได้มา ซึ่งได้แยกงานด้านพัฒนา ยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนไปให้ฝ่ายพลเรือนขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ โดยให้ตั้ง ศอ.บต.ขึ้นมารองรับ เวลานี้เพิ่งเป็นรูปเป็นร่างยังขับเคลื่อนอะไรได้ไม่มากนัก แต่ก็มาถูกเสนอจาก กอ.รมน.บอนไซเสียแล้ว
แม้ กอ.รมน.จะอ้างไว้สวยหรูในการปรับรื้อโครงสร้างอำนาจในชายแดนใต้ว่า เพื่อให้เกิดเอกภาพและสามารถบูรณาการการดับไฟใต้ได้ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันแพร่หลายว่า ทหารต้องการได้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการควบคุมงบประมาณและการสั่งการกับทุกกระทรวง ทบวง กรมที่มีหน่วยงานอยู่ในชายแดนใต้
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อทุกอย่างต้องดำเนินต่อไป และรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการปรับเปลี่ยนนโยบายและโยกย้ายตัวบุคคล โดยไม่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน และไม่ต้องคำนึงว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบที่อาจจะเลวร้ายยิ่งขึ้นหรือไม่
ดังนั้น สิ่งที่ พ.ต.อ.ทวีจะต้องเร่งดำเนินการในฐานะที่เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. คนใหม่ก็คือ การสื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะกับประชาชนในชายแดนใต้ถึงการปรับโครงสร้างและบทบาทของ ศอ.บต.ว่าจะเกิดผลดีอย่างไร ทั้งต่อกระบวนการดับไฟใต้ ต่อทุกองค์กรและทุกภาคส่วน รวมถึงต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน
โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวีต้องแก้ข้อกล่าวหาสำคัญให้ตกโดยเร็วที่ว่า การมาเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.ครั้งนี้เพื่อต้องการกินตำแหน่งระดับ 11 ไม่ใช่มาเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ก่อนที่ความเชื่อนี้จะแพร่สะพัดไปถ้วนทั่ว และก่อนที่แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะหยิบยกไปโฆษณาชวนเชื่อเพื่อนำไปสู่การเกิดสงครามประชาชน
เช่นเดียวกับที่ “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งกำลังถูกสังคมมองว่าเป็นตัวแทนของกองทัพในการเผด็จอำนาจและงบประมาณไว้ในมือ โดยไม่ได้สนใจต่อความสูญเสียของประชาชนที่ยังตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง
โดยเฉพาะ พล.ท.อุดมชัย ต้องทำให้ประชาชนได้เห็นแบบกระจ่างแจ้งว่า การปรับรื้อโครงสร้างอำนาจรัฐในชายแดนใต้จนทำให้ ศอ.บต.ต้องดูเหมือนเป็นนิ้วมืออันดับที่ 11 หรือส่วนเกินของกระบวนการดับไฟใต้นั้น ต่อไปจะหยุดความตายรายวัน หยุดเสียงระเบิดและเสียงปืนได้อย่างไร และประชาชนจะได้รับอานิสงส์อะไร จากที่ทหารเป็นใหญ่ในพื้นที่แต่เพียงผู้เดียว
ความจริงแล้ว ณ เวลานี้รัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยไม่ควรตะขิดตะขวงใจ หรือหวั่นไหวต่อความรู้สึกของประชาชนอีกต่อไปแล้ว หากเห็นว่า ศอ.บต.ที่เป็นฝ่ายพลเรือนไม่มีประโยชน์ และ กอ.รมน.คือหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการดับไฟใต้ได้อย่างที่กองทัพเสนอ ก็สมควรยุบ ศอ.บต.และมอบอำนาจให้ กอ.รมน.ดับไฟใต้แต่ฝ่ายเดียวไปเลย
เนื่องเพราะการที่ยังคง ศอ.บต.เอาไว้แบบไม่เห็นคุณค่าอะไรนั้น นอกจากจะสูญเสียงบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังอาจจะทำให้หน่วยงานนี้กลายเป็นจำเลยของประชาชนไปเสียอีก เพราะนอกจากไม่ได้สร้างประโยชน์แล้ว นับวันมีแต่จะกลายเป็นกาฝากที่สร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลอีกด้วย