ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
การที่พรรคเพื่อไทย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดในการเปลี่ยนตัว เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของคนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยต้องพบกับความพ่ายแพ้ใน 3 จังหวัดชายแดนคือ ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส แม้แต่ที่นั่งเพียงหนึ่งเดียวของ ซูการ์โน่ มะทา อดีต ส.ส.เขต 2 จ.ยะลา น้องชายของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ “แบนอ” ซึ่งถือเป็น”ไข่แดง” ก็ยังสูญเสียไปกับอำนาจรัฐ และอำนาจเงินที่ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย
และหนึ่งในอำนาจรัฐดังกล่าวที่ “เกื้อหนุน” ให้พรรคประชาธิปัตย์กวาด ส.ส.ได้ 9 ที่นั่ง จาก 11 ที่นั่ง ส่วนหนึ่งถูกมองว่ามาจากนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบรรดาข้าราชการระดับหัวหน้าส่วน ตั้งแต่ ผวจ. ผบก. ลงมาจนถึงนายอำเภอ ดังนั้น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์พ่ายเลือกตั้ง ข้าราชการส่วนหนึ่งต่างเตรียมพร้อมในการโยกย้ายในครั้งนี้
ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเปลี่ยน เลขาธิการ ศอ.บต. จาก ภาณุ อุทัยรัตน์ ซึ่งถูกมองว่านอกจากเป็นผู้ที่มี “คราบไคล” ของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ยังติดยี่ห้อเป็น “ลูกป๋า”
แต่การที่พรรคเพื่อไทยไม่ยุบทิ้ง ศอ.บต. ตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ เนื่องจากยังเห็นความสำคัญของ ศอ.บต. ในการใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยุบทิ้ง ศอ.บต. จนทำให้เกิดเหตุ รุนแรงครั้งใหม่ในพื้นที่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ยุคใหม่ ที่ตั้งโดยพรรคประชาธิปัตย์มีโครงสร้างที่มีงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบจำนวนมาก เช่นเดียวกับงบของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ของกองทัพบก พรรคเพื่อไทยจึงต้องสรรหาเลขาธิการ ศอ.บต. ที่เชื่อใจได้มาทำหน้าที่เลขาธิการ เพราะนอกจากเป็นการดูแลงบประมาณแล้ว พรรคเพื่อไทยยังเห็นชัดเจนว่า ศอ.บต. สามารถเป็น “เครื่องมือ”ทางการเมืองในการสร้างฐานการเมืองในพื้นที่ เพื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคเพื่อไทย จะไม่ทำเก้าอี้ ส.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หลุดมืออีกต่อไป
ทว่า เหนือความคาดคิดคือ ว่าที่เลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ นั้นคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นอดีตตำรวจมือดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้วางใจ เพราะในความรู้สึกของคนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานที่ผู้เป็นผู้นำหน่วย ต้องเป็นคนที่มาจาก “มหาดไทย” เป็นผู้ที่มาจากกรมการปกครอง เนื่องจากงานของ ศอ.บต. เป็นงานที่มีเนื้องานเกือบทั้งหมดเกาะเกี่ยวอยู่กับข้าราชการกรมการปกครอง ปกครองท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา รวมทั้งกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ ต่าง คุ้นชิน กับภาพของ ผู้นำ ศอ.บต. ที่ต้องเป็น “นักปกครอง” เพราะจะ “ง่าย” ในการเข้าถึงประชาชน และคนของกรมการปกครอง ที่มีหน้าที่ “ยึดโยง” อยู่กับพื้นที่และประชาชน การพูดภาษาเดียวกันและมีวัฒนธรรมเดียวกัน ย่อมทำให้การประสานงาน การแก้ปัญหาสำเร็จลุล่วงโดยเร็ว
ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นคนไม่มีฝีมือ หรือทำงานการปกครองไม่เป็น สู้นายภาณุ อุทัยรัตน์ ไม่ได้
สำหรับคนที่รู้จัก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ย่อมรับรู้ว่าในสมัยที่เป็นตำรวจเป็น “มือดี” และเป็น “น้ำดี” ของกรมตำรวจ และเมื่อมาอยู่ที่ “ดีเอสไอ” ก็เป็น “มือดี” ในยุคบุกเบิกของ ดีเอสไอ ในขณะที่นายภาณุ อุทัยรัตน์ แม้จะเป็น “ลูกหม้อ” ของกรมการปกครองก็จริง แต่ฝีมือในการทำงานนั้น แม้เป็นผู้ที่รู้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างลึกซึ้งแต่ก็ยังไม่มีอะไรโดดเด่นในการแก้ปัญหา “ไฟใต้” และสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าลักษณะการทำหน้าที่แก้ปัญหาในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการ “สร้างภาพ” มากกว่าข้อเท็จจริง การแก้ปัญหาที่ผ่านมามาการคิด ยุทธวิธี “รายวัน” แต่ล้มเหลวทาง “ยุทธศาสตร์” มาโดยตลอด
แต่การที่จะตั้งบุคคลใดมาเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. นั้น สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ คือความรู้สึกของคนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ ”อ่อนไหว” และความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่มีผลต่อสถานการณ์ และมีผลต่อการปฏิบัติการทางจิตวิทยาของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่รอ “ฉกฉวย” โอกาสจากความอ่อนด้อย ของรัฐบาลในการแก้ปัญหา
อีกทั้งเมื่อเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ มียศนำหน้าว่า พ.ต.อ. ในความรู้สึกของคนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “มุสลิม” กว่าร้อยละ 80 ยังฝังใจว่า ตำรวจคือผู้ที่ไม่น่าไว้วางใจ ตำรวจคือ “ศัตรู” ความรู้สึกที่ว่า ศอ.บต.คือ เพื่อนแท้ ศอ.บต.คือหน่วยงานที่แก้ปัญหาของพวกเขาได้ย่อมเลือนหายไป ความไว้วางใจของคนในพื้นที่ซึ่งมีต่อ ศอ.บต. ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างแน่นอน และ “บีอาร์เอ็นฯ” คงจะไม่โง่พอที่จะไม่ “ฉกฉวย” สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “เงื่อนไข” ในการปลุกระดมเพื่อดึงมวลชนไปเป็นพวกของเขา
แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง พ.ต.อ.ทวี จะเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องงานสืบสวนสอบสวน งานด้านยุติธรรมดีกว่าคนของกรมการปกครองหลายคน แต่โดยเนื้อแท้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มาจากเรื่องของความยุติธรรมอย่างเดียว สุดท้ายแล้วต้องใช้เวลาในการทำให้สังคมยอมรับ
แต่ที่กลายเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้ คือ “สื่อ” สังคมส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งปฏิกิริยาจากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และองค์กรเอกชน ต่าง “ฟันธง” ว่า พ.ต.อ.ทวี ถูกส่งมา เพื่อทำงาน “การเมือง” ให้แก่พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ถูกส่งมาเพื่อดับ “ไฟใต้” ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรู้สึก”ต่อต้าน” และจะส่งผลถึงการ ไม่ให้ความร่วมมือ และสุดท้ายคือความ “ล้มเหลว” ของการแก้ปัญหาความไม่สงบ และอาจจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงละลอกใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง
หรือสุดท้าย กงล้อประวัติศาสตร์ในการแก้ปัญหา “ไฟใต้” ของพรรคเพื่อไทยที่วันนี้มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังจะเดินซ้ำรอยเดิมกับอดีตนายกฯผู้เป็นพี่ชายผู้ใช้ “กำปั้นเหล็ก” มากกว่า “ถุงมือกำมะหยี่”ในการแก้ปัญหา จนเกิดปัญหาอุ้ม ฆ่า เและ ผู้สั่งยุบ ศอ.บต.และ พตท.43 ในครั้งนั้น และส่งผลให้วันนี้ไฟใต้ยังลุกโชนเพื่อรอให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้กลับมาแก้ปัญหาต่อไป ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จึงต้องไม่ผิดพลาดซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมา เพราะ ประชาชนและแผ่นดินปลายด้ามขวาน ไม่มีเวลาให้ “นายกฯฝึกงาน” ใช้ในการ “ทดลองยา” อีกแล้ว