xs
xsm
sm
md
lg

“สภาที่ปรึกษาชายแดนใต้" รุมยำ “กอ.รมน.”ชงปูแดงดูดงบ-อำนาจดับไฟใต้ไว้ใต้ท็อปบูต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรง ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ก็คิดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อจัดการปัญหา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “สภาที่ปรึกษาฯชายแดนใต้” รุมยำเละข้อเสนอ “กอ.รมน.” ที่ชงให้รัฐนาวาปูแดง รื้อโครงสร้างอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดับไฟใต้ครั้งใหญ่อีกระลอก ด้วยการตั้งหน่วยงานใหม่ “ศบก.จชต.” ที่รวบเอาทั้งงบประมาณและงานพัฒนา รวมถึงหน่วยงานหลักอย่าง “ศอ.บต.” ไปไว้ใต้ท็อปบูต เผยหากยอมก็จะเป็นการถอยหลังลงคลองกลับไปสู่การใช้นโยบาย “ทหารนำการเมือง” เชื่อไม่ตอบโจทย์การแก้วิกฤตความไม่วงบและไม่ใช่ความต้องการของประชาชน เตรียมยกขบวนเข้าพบ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” เพื่อจี้ให้รัฐบาลทบทวน 19 ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประชุมสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมีนายอาซิส เบญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาฯ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ซึ่งมีวาระที่เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมากก็คือ การพิจารณาแนวทางการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบก.จชต.) ขึ้นมาใหม่ โดยเป็นข้อเสนอของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่นำเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับแนวทางที่ กอ.รมน.เสนอให้ปรับรื้อโครงสร้างอำนาจรัฐในชายแดนใต้ใหม่ดังกล่าว คือ เสนอให้ยก ศอ.บต.ให้เป็นหน่วยงานระดับเดียวกับ กอ.รมน. และย้ายเลขาธิการ ศอ.บต.ไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลาง ส่วนหน่วยงาน ศอ.บต.ในพื้นที่ให้ปรับเป็น ศอ.บต.ส่วนแยก แล้วให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

พร้อมกันนั้นให้จัดตั้ง ศบก.จชต.ขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ และให้มีแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งทำหน้าที่ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้กำกับดูแลโดยตรง โดยมีอำนาจสูงสุดทั้งในด้านการพัฒนาและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งต่อไป ศอ.บต.ส่วนแยกจะมีเจ้าหน้าที่ระดับอำนวยการ ส่วนการปฏิบัติหน้าที่จะโอนไปอยู่ในมือของ ศบก.จชต.ที่ตั้งขึ้นมาใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงวาระการปรับรื้อโครงสร้างอำนาจรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ดังกล่าว ได้มีสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ขอใช้ข้อบังคับให้เป็นการประชุมลับ จากนั้นมีการอภิปรายถึงผลดีและผลเสียในประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะมีการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในท้ายที่สุดว่า สภาที่ปรึกษาฯ ไม่เห็นด้วยกับการปรับรื้อโครงสร้างใหม่ของ ศอ.บต.ในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าขัดกับเจตารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่มักเรียกกันว่า พ.ร.บ.ศอ.บต. ซึ่งเพิ่งผ่านสภามีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เหตุผลที่สภาที่ปรึกษาฯ ไม่เห็นด้วย ได้แก่ ตาม พ.ร.บ.ศอ.บต .ได้ให้มีการแยกงานการพัฒนาและการแก้ปัญหาความไม่สงบออกจากกันไปแล้ว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการแก้ปัญหา รวมทั้ง พ.ร.บ.ศอ.บต.ก่อนจะมีผลบังคับใช้ได้ผ่านการทำประชาคมมาแล้ว อันเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม และมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ร่วมในการทำยุทธศาสตร์จากความร่วมคิดของภาคประชาชนด้วย ดังนั้น หาก กอ.รมน.ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ ศอ.บต.ก็ควรต้องทำเวทีประชาพิจารณ์ หรือสอบถามความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนก่อนในลักษณะเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในกระบวนการที่ กอ.รมน.เสนอให้ปรับรื้อโครงสร้างอำนาจรัฐในชายแดนใต้ใหม่ ในการประชุมตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.เป็นต้นมา และจะมีการประชุมสรุปความคิดเห็นและกำหนดรูปแบบการตั้งหน่วยงานใหม่คือ ศบก.จชต.ในระหว่างวันที่ 18-19 ต.ค. ก่อนที่จะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทุกขั้นนตอนดังกล่าว กอ.รมน.ไม่เคยได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใดเลย
       
       นอกจากนั้น สภาที่ปรึกษาฯยังเห็นว่า กอ.รมน.ได้ดำเนินการแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้มาเป็นเวลา 7 ปีกว่าแล้ว โดย กอ.รมน.สมารถควบคุมงบประมาณและอำนาจต่างๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ปัญหาความไม่สงบกลับยังไม่มีทีท่าจะลดลงแม้ในเวลานี้ ทว่ากลับมีแต่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการไม่ตอบโจทย์ของการแก้วิกฤตไฟใต้
       
       ดังนั้น การที่ กอ.รมน.ต้องการปรับรื้อโครงสร้าง ศอ.บต.ให้เล็กลง และให้ ศอ.บต.ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในเรื่องนี้จึงเป็นที่สงสัยของหลายฝ่ายว่า กานกระทำของ กอ.รมน.มีนัยอื่นแอบแฝงอยู่ ซึ่งไม่น่าจะใช่การตั้งอยู่บนฐานคิดเพื่อการแก้ปัญหาความไม่สงบอย่างที่กล่าวอ้าง

ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กอ.รมน.ในครั้งนี้แล้ว สภาที่ปรึกษาฯ ยังได้ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนของสมาชิกทั้ง 49 คนที่มาจากการเลือกตั้งของภาคประชาชนทุกสาขาอาชีพอีกด้วย อีกทั้งยังได้ประสานเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการปรับโครงสร้าง ศอ.บต.และตั้ง ศบก.จชต.ขึ้นมาใหม่ โดยสำนักนายกฯ ได้แจ้งกลับไปให้ทราบแล้วว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องนี้ และนัดให้เข้าพบได้ในเวลา 11.00 น.ของวันที่ 19 ต.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น