xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวหอม2.4แสนไร่จม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูมิภาค -น้ำมูล-ชีจมข้าวหอมมะลิเมืองช้างสูญพุ่ง 2.4 แสนไร่ ขณะที่พนังกั้นน้ำ “วังทะลุ"พังไหลรวมแม่น้ำมูล-ชี ทะลักท่วมนาข้าวหอมมะลิจมพริบตาอีกกว่า 7,000ไร่ ชาวนาถึงกับร้องไห้หลังสู้ต้านมากว่า 20 วัน เช่นเดียวกับเมืองน้ำดำกระแสน้ำชีที่ไหลแรงทลายพนังกั้นน้ำพังอีก 1 แห่งไหลท่วมนาข้าว-บ้านเรือนชาวบ้านจมมิดเป็นบริเวณกว้าง "อุบลฯ" ยังน่าห่วงจ่อท่วมถนนเศรษฐกิจ เผยผลกระทบน้ำท่วมหนักภาคกลาง-กทม.ทำสินค้าหลายชนิดทางภาคอีสานเริ่มขาดแคลนแล้ว ขณะที่พ่อค้าบางรายแวยโอกาสขูดรีดราคาซ้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุรินทร์ว่า มวลน้ำเหนือจำนวนมาก และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 18 แห่งของ จ.สุรินทร์ที่เต็มเกินความจุระดับเก็บกักทั้งหมด ชลประทานสุรินทร์ต้องระบายลงสู่ที่ลุ่มตามลำห้วยต่างๆ และไหลลงสมทบในแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ทำให้ล้นตลิ่งเอ่อทะลักเข้าท่วม ไร่นา บ้านเรือนประชาชนขยายวงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มติดริมแม่น้ำมูล แม่น้ำชีใน อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม และ อ.รัตนบุรีนั้น ถูกน้ำท่วมสูงเป็นบริเวณกว้าง

ทางจังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากภาวะน้ำท่วมแล้ว 13 อำเภอ 110 ตำบล 1,042 หมู่บ้านราษฎรได้รับความเดือดร้อน 42,936 ครัวเรือน นาข้าวเกือบทั้งหมดที่ปลูกข้าวหอมมะลิเสียหาย 245,034 ไร่

**คันกั้นน้ำ“วังทะลุ”พังชาวนาร้องไห้

นายประกิต กลางพัฒนา ผู้ใหญ่บ้านตากลาง ต.กะโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า แนวพนังกั้นน้ำกระสอบทรายที่ชาวบ้านลงทุนลงแรงช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าวตลอดเส้นทางจากบ้านตากลางไปยัง“วังทะลุ” จุดที่แม่น้ำมูลกับแม่น้ำชี ไหลลงมาบรรจบกัน เป็นระยะทางยาวกว่า 3 กม.นั้นได้ถูกแรงดันน้ำอีกฝากหนึ่งของถนนที่มีระดับสูงเท่ากับแนวพนังกั้นน้ำดันพังทลายลงแล้ว และ น้ำจำนวนมากได้ไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าวหอมมะลิที่กำลังออกรวงบริเวณทุ่งนาข้าว บ้านหนองบัว และ บ้านตากลาง ต.กะโพ อย่างรวดกว่า 7,000 ไร่ หลังจากก่อนหน้านี้ทุ่งนาอีกฟากของถนนบริเวณนี้ได้ถูกน้ำท่วมเสียหายไปแล้วกว่า 7,000 ไร่

“ชาวบ้านที่ทุ่มเทช่วยกันสร้างพนังกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมนาข้าว ต่อสู้มาได้เป็นเวลานานกว่า 20 วัน พากันเสียใจถึงกับร้องไห้ เพราะต้องสูญเสียนาข้าวหอมมะลิไปเป็นจำนวนมากในพริบตา ทั้งที่ใกล้จะได้เก็บเกี่ยวอยู่แล้ว ชาวนาบางคนที่ข้าวพอจะเกี่ยวได้บ้าง ได้พยายามลุยน้ำลอยคอเกี่ยวข้าว นำรวงข้าวที่แช่น้ำขึ้นมาผึ่งแดด หวังว่าดีกว่าปล่อยให้น้ำท่วมเน่าเสียไปทั้งหมด”

**พนังกั้นน้ำกาฬสินธุ์พังนา-บ้านเรือนจม

ที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังวิกฤตหนัก กระแสน้ำของแม่น้ำชีที่ไหลเชี่ยวอย่างรุนแรงทำให้พนังกั้นน้ำใน ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย และ ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย พังทลายลงจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำกำลังชาวบ้าน และเครื่องจักรหนักเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมและอุดรอยรั่วของน้ำได้ ทำให้น้ำจำนวนมากไหลหลากเข้าท่วมนาข้าวและบ้านเรือนราษฎรได้รับเสียหายกว่า 5,000 หลังใน 31 หมู่บ้านทั้ง อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย และพื้นที่นาข้าวเสียหายแล้วอย่างน้อย 120,000 ไร่

ขณะที่ถนนทางหลวงหมายเลข 214 กมลาไสย-ร้อยเอ็ดถูกน้ำท่วมเป็นระยะๆ ระดับน้ำเพิ่มสูงกว่า 1 เมตร รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ทำให้แขวงการทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ต้องแจ้งให้ประชาชนปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วมดังกล่าว

นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า พนังกั้นน้ำที่พังและน้ำได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฏรในพื้นที่ 2 อำเภออย่างหนักครั้งนี้ผลมาจากการที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้เร่งระบายน้ำที่มีปริมาณมากลงมาอย่างต่อเนื่องทุกวัน นอกจากจะทำให้พนังกั้นลำน้ำชี ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ แตกไปหลายจุดแล้ว ยังทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 2 อำเภอดังกล่าวอย่างหนักด้วย

นอกจากนี้ ยังทำให้นาข้าวเกษตรกรที่กำลังรอเก็บเกี่ยวได้ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายไปกว่า 120,000 ไร่ และปริมาณน้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางจังหวัดจึงจำเป็นต้องเจาะถนนพนังกั้นบริเวณบ้านโนนเมือง ต.ดงลิง อ.กมลาไสย เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปาวโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหาย

"หากปล่อยไว้จะทำให้บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีกมาก ที่สำคัญนาข้าวจะถูกน้ำท่วมอีกไม่ต่ำกว่า 300,000 ไร่ ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ในจุดเสี่ยง โดยเฉพาะบ้านชั้นเดียวได้สั่งการให้เร่งอพยพไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัยแล้ว"

**น้ำท่วมอุบลฯจ่อท่วมถนนเศรษฐกิจ

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม จ.อุบลราชธานี ยังน่าห่วง ระดับน้ำแม่น้ำมูลที่สูงสุดในรอบ 10 ปีได้ไหลท่วมชุมชนบุ่งกาแซว ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี มีน้ำท่วมชุมชนสูงกว่า 2 เมตร ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเข้า-ออกมาทำงานและซื้อหาอาหาร ซึ่งชุมชนบุ่งกาแซว มีประชากรประมาณ 300 ครอบครัว และเพิ่งถูกน้ำท่วมในรอบ 10 ปี หลังเคยถูกน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2543-2545

ขณะเดียวกัน น้ำได้ไหลจ่อท่วมถนนสถิตย์นิมานกาล ในเขตเทศบาลมืองวารินชำราบ ระดับน้ำห่างจากถนนเพียง 10 ซม.เท่านั้นโดยถนนสถิตย์นิมานกาลมีความสำคัญทั้งการคมนาคมของคนอำเภอเมือง และวารินชำราบ ทั้งมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ปั้มน้ำมัน บริษัทห้างร้านตั้งอยู่จำนวนมาก
**ปภ.เผยตัวเลขเสียชีวิตแล้ว6ราย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่า ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมเมื่อกลางเดือน ส.ค.ถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมทั้งสิ้น 6 รายจากการจมน้ำขณะออกหาปลา และถูกไฟฟ้าช็อต ส่วนพื้นที่ถูกน้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ 50 ตำบล ถนน 166 สายชำรุด บ้านเรือนถูกน้ำท่วม 14,861 หลัง ต้องอพยพประชาชน 2,497 ครอบครัวจำนวน 9,505 คน

สำหรับพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมที่เข้าขั้นวิกฤตประกอบด้วยพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ เทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร เพราะยังมีน้ำท่วมบ้านเรือน ระดับน้ำสูงกว่า 4-5 เมตร

**สองพี่น้องโกลาหลน้ำทะลักตลาดบางลี่

มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อคืนวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดมีน้ำผุดจากใต้ดิน ได้ซึมดันจนพื้นถนนภายในตลาดสดบางลี่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี พังเสียหาย ปริมาณน้ำจากใต้ดินได้ไหลทะลักเข้าท่วมอาคาร ร้านค้า บ้านเรือน จนมีระดับสูงระหว่าง 50-80 ซม.พ่อค้า แม้ค้า ชาวบ้าน ที่กำลังจับจ่ายสินค้าต่างเร่งเก็บข้าวของให้พ้นจาสภาวะน้ำท่วมอย่างโกลาหล

นายวิโรจน์ คณูวัฒนา นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองสองพี่น้อง ได้สั่งการเร่งระดม เจ้าหน้าที่ของเทศบาล นำกระสอบทราย มาวางอุดรอยรั่วที่น้ำไหลเข้ามา พร้อมกับนำเครื่องสูบน้ำ ขนาดใหญ่กว่า 10 เครื่อง ติดตั้งสูบน้ำออกอย่างเร่งด่วน โดยใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง น้ำจึงแห้ง สามารถกู้สถานการณ์กลับคืนมาเป็นปกติได้ สร้างความชื่นชม ดีใจ ให้กับ ชาวบ้าน ในเขตเทศบาล เป็นอย่างมาก

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ที่ ต.บางตาเถร อ.สองพี่น้อง น้ำในคลองพระยาบันลือ ที่มีปริมาณสูงขึ้นมาก ได้ไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ทั้ง 2 ฝั่งในเขตพื้นที่ หมู่ 11 ต.บางตาเถร โดยระดับน้ำสูงขึ้น 1-2 เมตร ทำให้ชาวบ้านกว่า 1,250 คน จาก 450 หลังคาเรือน ต้องรีบขนของหนีน้ำกันอย่างอลหม่าน อพยพข้าวของมาอาศัยอยู่ภายในบริเวณวัดไผ่โรงวัว โดยจับจองอาคารสูง ๆ เช่น ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ โบสถ์ 100 ยอดปราสาท 3 ฤดู โดยระดับน้ำก็จ่อเข้าท่วมศาลาวัดเช่นกัน คาดว่าอีกไม่เกิน 2 วัน พื้นถนนภายในบริเวณ วัดไผ่ฯ คงถูกน้ำท่วมขัง ชาวบ้าน ต่างเป็นห่วงเรื่องที่พักอาศัย ตลอดจนเรื่องห้องน้ำ ห้องส้วม จึงขอความช่วยเหลือ มายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

**ศิลปากรเร่งนำแพลูกบวบ วางรอบโบราณสถานกรุงเก่า**

ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา วานนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานศิลปากรที่ 3 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้นำแพลูกบวบที่ทำจากไม้ไผ่ความยาว 12 เมตร ต่อเป็นแพสูง 30 เซนติเมตร วางรอบโบราณสถานวัดมหาธาตุที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้

นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 3 เปิดเผยว่า หลังจากที่โบราณสถานหลายๆ แหล่งในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมมานานกว่า 2 อาทิตย์ และมีเรือสัญจรไปมารอบ ๆ โบราณสถาน ทางสำนักงานฯ เกรงว่า คลื่นจากเรือที่สัญจรไปมาจะทำให้โบราณสถานเสียหายได้ จึงได้นำแพลูกบวบมากั้นรอบ ๆ บริเวณโบราณสถานเพื่อป้องกันคลื่นและจะเร่งนำแพลูกบวบ มาวางที่บริเวณโบราณสถานที่เหลือต่อไปเพื่อลดความสูญเสีย และจะสามารถกู้โบราณสถานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

**น้ำท่วมทำสินค้าบุรีรัมย์เริ่มขาดแคลน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านค้าขายส่งที่ จ.บุรีรัมย์ เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมหนักภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้วเนื่องจากบริษัทผู้ค้าส่ง และบริษัทผู้ผลิตประสบปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าได้ ทำให้สินค้าหลายรายการเริ่มขาดแคลนมากว่า 2 สัปดาห์แล้วโดยเฉพาะสินค้าประเภท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง น้ำดื่มบรรจุขวด และสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส ที่ผลิตในเขตพื้นที่ภาคกลาง และจังหวัดปริมณฑลซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรม โดยทางร้านค้าส่งต้องจำกัดจำนวนขายให้กับร้านค้าปลีก เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับประชาชนตามร้านค้าในหมู่บ้าน ตำบล ซึ่งเป็นการแบ่งปันกระจายสินค้าให้ทั่วถึง ลดปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านส่งของ จ.บุรีรัมย์ รายหนึ่งบอกว่า ร้านค้าส่งในเขตพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ นับ 10 แห่งต่างประสบปัญหาเริ่มขาดแคลนสินค้าเช่นเดียวกัน และขณะนี้ได้มีตัวแทนจำหน่ายสินค้าบางบริษัท ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าแล้ว แต่ทางร้านยังขายส่งในราคาเดิม เพราะเกรงว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน จึงขอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลในการควบคุมราคาสินค้าดังกล่าวด้วย

นางนิตยา โรจน์รัตน์ศิริกุล อายุ 68 ปี เจ้าของร้านค้าส่ง“ฟ้าไทย”ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้ร้านค้าส่งสินค้าในเขตพื้นที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันทั้งหมด เพราะสินค้าหลายรายการเริ่มขาดแคลน เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลย่านอุตสาหกรรม ที่บริษัทผู้ผลิตตั้งอยู่ ซึ่งหากสถานการณ์น้ำยังท่วมขังนานกว่า 1 เดือนตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เชื่อว่า ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคจะขาดแคลนเป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนเพิ่มตามไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะทางร้านค้าส่งและค้าปลีกไม่มีสินค้ามาจำหน่ายให้

*ภาคอีสานนมขาดตลาด-เด็กเริ่มอด

ด้านนายสุวิทย์ ตุนสมคิด เจ้าของร้านจูกิมเฮง ย่านถนนสนามบิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ตัวแทนค้านมพร้อมดื่มรายหนึ่งใน จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า สินค้าประเภทนมพร้อมดื่ม หลายยี่ห้อเริ่มขาดตลาดไม่มีมาส่งให้ที่ร้านได้จำหน่ายมานานกว่า 20 วัน เพราะโรงงานที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมจนต้องหยุดกิจการทั้งหมดแล้วยังไม่ทราบว่าจะเปิดดำเนินการได้เมื่อใด ปัญหาที่ตามมา คือ เด็กประถมโรงเรียนในพื้นที่คงไม่มีนมมาจำหน่ายให้บริโภค ส่วนภาคธุรกิจการค้าก็ได้รับผลกระทบตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน

**พิษน้ำท่วมทำผู้ค้าผักสดปรับราคาขาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับการซื้อขายผักสดในตลาดสดดาวน์ทาวน์ ต.ตลาดเหนือ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ว่า ยังคงมีประชาชนมาหาซื้อผักเพื่อนำไปประกอบอาหารอย่างต่อเนื่อง จากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าในภาพรวมพบว่าราคาผักสดทุกชนิดมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันมาหลายวันแล้ว เนื่องจากผักที่นำมาขายนั้นจะรับมาจากพื้นที่ภาคกลาง เช่น ตลาดมุมเมือง ตลาดไท เป็นต้น

ในช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกประสบกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้พื้นที่ปลูกลดน้อยลง ประกอบการขนส่งซึ่งทำได้ลำบาก จึงทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการยังมีอยู่ โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าใจและยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น

แม่ค้าในตลาดสดดาวน์ทาวน์รายหนึ่ง เผยว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา หลายพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักประสบปัญหาน้ำท่วม และการขนส่งที่ยากลำบาก ทำให้ราคาผักทุกชนิดมีการปรับราคาขึ้นเป็นรายวัน เช่น ผักชี ปกติราคากิโลกรัมละ 70 บาท ปัจจุบันราคากิโลกรัม 150-160 บาท ถั่วฝักยาว ปกติกิโลกรัมละ 30-40 บาท ปัจจุบันกิโลกรัม 50-60 บาท คะน้า ปกติกิโลกรัมละ 80-90 บาท ปัจจุบันกิโลกรัมละ 160-170 บาท เป็นต้น

"ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ลูกค้าบางคนถึงกับบอกว่า แม้ราคาผักจะแพง แต่เราก็ยังโชคดีกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัย เพราะแม้จะมีเงิน แต่ก็ไม่สามารถที่จะซื้อผักไปประกอบอาหารได้เอง " นางเล็กกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น