xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวยาก หมากแพง

เผยแพร่:   โดย: ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต

หลายคนเพิ่งฉลองและดีใจที่ได้นายกฯ คนใหม่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศเมื่อไม่กี่เดือนนี่เอง นโยบายสวยหรูที่เคยหาเสียงไว้ ตอนนี้กำลังเดินหน้าอย่างตะกุกตะกัก การโยกย้ายข้าราชการระดับสูงเป็นไปอย่างกว้างขวางด้วยข้ออ้างว่า Put the Right Man On the Right Job “จัดวางคนให้เหมาะกับงาน” แต่ในขณะเดียวกันการวางตัวรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม บุคคลที่เข้าไปรับตำแหน่งในแต่ละกระทรวงกลับขาดความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารราชการ ยังไม่ทันได้แสดงฝีมือ พลังแห่งน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ก็เคลื่อนตัวเข้าถาโถมล้างแผ่นดินอาถรรพ์ ลบรอยเลือดและขี้เถ้าแห่งไฟ

น้ำท่วมมานานนับเดือนจึงค่อยมาตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.)” ที่ปฏิบัติงานได้กระท่อนกระแท่นจนชาวบ้านเขาเรียกกันว่า “ศูนย์ประจานภูมิปัญญารัฐบาล” ไปแล้ว และที่ผิดฝาผิดตัวหนักเข้าไปอีกก็คือการตั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ซึ่งโตมากับสายตำรวจ ให้มาไล่จับน้ำขังกรง งานป้องกันก็พังพินาศ การช่วยเหลือก็สุดจะเยียวยา ปล่อยประชาชนช่วยเหลือตัวเองกันตามยถากรรม

ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดกับทีมงานเพียงหยิบมือจึงต้องต่อสู้อย่างเหนื่อยยากกันโดยลำพัง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดก็มากมายจนเกินเยียวยา จนเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อที่นายกฯ จะได้สามารถสั่งการให้ทั้งทหารและพลเรือนปฏิบัติงานได้ตามอำนาจทางกฎหมาย ความขัดแย้งเรื่องการเปิดปิดทางระบายน้ำ จำเป็นต้องใช้ความเด็ดขาดในการตัดสินใจ ซึ่งจะสามารถใช้กฎหมายฉุกเฉินรองรับได้

ทหารเป็นหน่วยงานเดียวที่มีความพร้อมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ และบุคลากรที่มีวินัย ไม่ว่าจะเป็นทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมเปิดโอกาสให้ทหารเข้ามามีบทบาทตั้งแต่แรก เพราะความอคติและต้องการลดความน่าเชื่อถือของทหาร แทนที่จะเอาความเดือดร้อนของประชาชนและความเสียหายของประเทศชาติเป็นตัวตั้ง กลับใช้เหตุผลส่วนตัวและรอคำสั่งของพี่ชาย ซึ่งยังคงโจมตีทหารผ่านสื่อต่างประเทศ โดยกล่าวหาว่าทหารเสพติดอำนาจ แถมยังมีสมุนอย่างนายจตุพรที่ออกมากล่าวตำหนิการทำงานของทหารว่าทำไม่เต็มที่ ใครจะอยากแส่เข้าไปช่วย

คนที่มีความรู้และมีประสบการณ์กลับถูกตีกันออกไป เอาแต่พวกชอบสร้างภาพ สมองขี้เลื่อยเข้าไปแก้ปัญหา เหมือนที่คนเขาด่ากันว่า “เอาบัณฑิตไปขนทราย เอาควายมาวางแผน” วิกฤตครั้งนี้จึงลามจนเอาไม่อยู่ สภาพการอพยพประชาชนอย่างสับสนอลหม่านจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดที่เขตเทศบาลบางบัวทอง ซึ่งปัจจุบันเป็นชุมชนชานกรุงขนาดใหญ่ ทั้งหมู่บ้านเอื้ออาทรไปจนถึงหมู่บ้านจัดสรรหรูหราราคาแพง ต่างก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้า สภาพน่าอเนจอนาถ ทั้งเดินลุยน้ำ นั่งรถ นั่งเรือ หนีภัยน้ำกันตามยถากรรมไม่ต่างจากสภาพของทหารที่พ่ายสงคราม เกือบสองวันทหารจึงตั้งหลักได้และรวมกำลังกันเข้าไปช่วย

ผมได้ดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2538 ของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ทำให้เห็นสภาพตอนพนังคันคลองประปาแตกที่บางกระดี น้ำท่วมผ่านย่านชุมชน กองขยะ น้ำเน่าเสียจากนิคมอุตสาหกรรมไหลทะลักเข้ามาในคลองประปา เช่นเดียวกับที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ การแก้ไขปัญหาในเวลานั้นก็ใช้กระสอบทรายไปกั้นแต่ก็ไม่สามารถกั้นน้ำได้ทั้งหมด ทำให้น้ำยังคงไหลทะลักเข้าคลองประปาได้อยู่ดี จากเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านมา 16 ปี เราก็ยังคงแก้ปัญหาโดยวิธีเดิมๆ ไม่มีเทคโนโลยีใหม่หรือแผนการใหม่เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่ซ้ำรอยเดิม

จุดแตกของคลองประปาก็จุดเดิม คนที่ออกมารับหน้าไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าการการประปาหรือรองผู้ว่าฯ แม้ว่าจะเปลี่ยนไปหลายรุ่นหลายสมัยแล้ว แต่คำพูดที่ออกมาแก้ตัวก็ยังคงเหมือนเดิมจนแทบจะเรียกว่าลอกบทพูดกันมา ส่วนระบบเตือนภัยโดยการจุดพลุซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่น่าเชื่อว่ามาถึง พ.ศ. นี้ก็ยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่ แม้ว่าโลกจะเข้าสู่ยุคดิจิตอลแล้วก็ตาม ประชาชนไทยก็ยังต้องนั่งรอฟังสัญญาณอพยพด้วยเสียงพลุอยู่ แต่กลับกลายเป็นว่าเสียงที่ดังขึ้นเป็นเพียงพลุงานวัดเท่านั้น เช่น ที่ผมเคยเขียนเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ระบบเตือนภัยไทย ... ล้มเหลวหรือไม่เคยมี

หลายคนเริ่มเบื่อเรื่องน้ำแล้ว แต่เราก็ยังจำเป็นต้องพูดถึงเพราะน้ำท่วมใหญ่คราวนี้ ทำลายประเทศชาติอย่างย่อยยับ ความน่าเชื่อถือในสายตาต่างชาติเริ่มติดลบ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเริ่มหมดศรัทธาในหน่วยงานของรัฐ ผลกระทบขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ไม่เฉพาะพื้นที่ที่โดนน้ำท่วมเท่านั้น ประชาชนที่ยากจนอยู่แล้วต้องสิ้นเนื้อประดาตัว รัฐเองก็สุดปัญญาเยียวยา จะเอาเงินแจกผู้เดือดร้อนกี่แสนล้านจึงจะพอ ยังไม่จบแค่นั้น ณ วันนี้สินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มขาดแคลนไปทั่วประเทศ เพราะแหล่งผลิตในนิคมอุตสาหกรรมได้หยุดผลิตไปแล้ว โรงงานบางแห่งแม้จะอยู่นอกนิคมแต่ก็ถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

การคมนาคมบางเส้นทางก็ถูกตัดขาด ทำให้บางแห่งไม่มีน้ำดื่มขาย ตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น ชั้นวางสินค้าว่างโล่งเพราะไม่มีของมาส่ง ร้านอาหารหลายร้านต้องหยุดให้บริการเพราะขาดวัตถุดิบ สัญญาณของ ยุคข้าวยาก หมากแพง ได้มาถึงแล้ว

เมื่อผ่านพ้นปัญหาน้ำท่วมไปแล้ว เราจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหาใหม่ที่จะตามมาอีกมากมาย แรงงานต่างด้าวนับล้านคนไม่มีเงินกลับบ้าน ไม่มีที่อยู่ ไม่มีอาหารจะกิน คนในประเทศนับล้านคนที่ไม่มีงานทำทั้งภาคการเกษตรและภาคบริการ หากขาดการจัดการที่ดีจะเกิดการแย่งชิงอาหาร ปัญหาเรื่องโจรผู้ร้ายที่จะเพิ่มขึ้น จะเกิดกลียุคอีกครั้งหลังน้ำลด น้ำดื่มและอาหารขาดแคลน ณ วันนี้หลายบ้านเริ่มกักตุนอาหารและของใช้จำเป็นกันแล้ว บางคนกักตุนไว้เกินจำเป็นเสียด้วยซ้ำ

พ่อค้าบางรายฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า กักตุนเพื่อหวังเก็งกำไร ระบบการขนส่งบางเส้นทางเกือบอัมพาต ภาคอีสานก็มาโดนอุทกภัยซ้ำอีก และต่อไปก็เป็นภาคใต้ สรุปแล้วหายนะครั้งนี้ลุกลามไปทั่วประเทศ มันเป็นภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่ส่วนหนึ่งก็มาจากน้ำมือมนุษย์เอง

นับแต่นี้ไปทุกคนจะต้องตั้งสติให้ดี เฟ้นหาผู้นำที่แท้จริง เพื่อพาชาติให้ผ่านพ้นจากภัยพิบัติและเตรียมแผนฟื้นฟูประเทศอย่างเป็นระบบ อย่าปล่อยให้นักการเมืองแบบเดิมๆ ใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสหากินกับงบประมาณนับแสนล้านที่กำลังจะกู้มาเพื่อฟื้นฟูประเทศ การวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมมือกัน โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมด้วย ที่สำคัญต้องใช้เวลาวางแผนอย่างรอบคอบและเป็นขั้นตอน อย่าให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำอีกเลย เพราะเท่าที่ผ่านมาก็ล้มเหลวมาตลอดจนพาประเทศไทยมาถึงจุดนี้ กองทัพต้องปรับตัวเองเข้าหาประชาชนและยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง มากกว่าการคำนึงถึงแค่ตำแหน่งและเก้าอี้ของตนเองและพวกพ้อง

ขณะนี้ประเทศชาติกำลังอ่อนแอในทุกๆ ด้าน ต่างชาติกำลังจ้องตาเป็นมันเพื่อหาโอกาสเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในบ้านเรา สหรัฐฯ เป็นมหามิตรจริงหรือ จีนคิดอะไรกับไทยบ้าง นานาชาติมองประเทศของเราอย่างไร วิกฤติหลังน้ำลดน่ากลัวกว่าขณะที่น้ำกำลังท่วมเสียอีก นี่คือสัญญาณเตือนภัยว่าชาติไทยกำลังจะล่มสลายภายใต้การบริหารงานของคนโง่ๆ นี่คือวิกฤตของผู้นำที่ล้มเหลวและบทพิสูจน์ของระบบประชาธิปไตยจอมปลอม

หากคนไทยยังนิ่งเฉย ไม่ยอมรับความจริง และหลงเชื่อคำลวงของนักการเมืองกันต่อไป ประเทศไทยของเราจะผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปได้อย่างไร

ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนแปลงและปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แม้ว่าน้ำที่ท่วมอยู่จะลดลงไป แต่ประเทศชาติก็อาจจะยิ่งจมดิ่งลึกจนยากจะเยียวยา
กำลังโหลดความคิดเห็น