xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตโอดเจ๊ง เดือนละแสนล. ท่าเรือกรุงเทพฯวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ส.อ.ท. หวั่นน้ำท่วม 4 เดือนฉุดจีดีพีปีนี้ติดลบ ประเมินเบื้องต้นเจ๊งเดือนละแสนล้านบาท เฉพาะ “บางจากฯ” เผยน้ำท่วมกระทบรายได้ 80-100 ล้านบาท/เดือน ส่วนดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ย.ต่ำสุดรอบ 26 เดือนหลังสำลักน้ำท่วม กทท.เผยสินค้าท่าเรือกรุงเทพลด 20%

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนร่วงต่ำสุดรอบ 26 เดือน อยู่ระดับ 90.7 หดตัวลงจากเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 102.5 ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและคาดว่าดัชนีเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าจะลดลงอีกต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะน้ำท่วมยังคงไม่คลี่คลายและประเมินความเสียหายเบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อเดือนและหากเสียหายเกิน 4 เดือนจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยปีนี้ติดลบได้จากที่คาดการณ์จะเติบโต 3.5-4.5%
“ หากเสียหายเกินกว่า 4 เดือน อาจทำให้จีดีพีติดลบจากที่คาดการณ์เติบโต 3.5-4.5% หรือขยายตัวประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปีได้ หลังน้ำลดรัฐบาลควรเยียวและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วนทั้งภาคอุตสาหกรรมและประชาชนโดยเร็ว โดยในส่วนภาคอุตสหากรรมนั้นรัฐบาลควรผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานบางอย่างใช้เวลา 2-3 เดือน ก็ควรให้ทำได้ทันที เช่นเดียวกันกับภาคส่วนอื่นๆไม่ควรปล่อยให้เยิ่นเย้อ”นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ คาดว่าจะทำให้ยอดการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1.65 ล้านคัน ต่ำกว่าเป้าเดิมที่ตั้งไว้ 1.8 ล้านคัน หรือหายไปประมาณ 150,000 คัน โดย 9 เดือนแรกของปีนี้ผลิตรถยนต์ได้แล้ว 1.28 ล้านคัน

“ซึ่งคงต้องดูสถานการณ์เป็นรายวัน เพราะตัวเลขนี้เป็นการประมาณเบื้องต้นก่อนที่แต่ละค่ายจะหยุดการผลิต ซึ่งในเดือนหน้าคาดว่าภาพจะชัดเจนขึ้น โดยขณะนี้แต่ละค่ายก็พยายามหาชิ้นส่วนจากที่อื่นมาซัพพลายให้ทัน”นายสุรพงษ์ กล่าว

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า แนวโน้มความเชื่อมั่นภาคอุตสหากรรมในตุลาคมจะลดลงอย่างมาก เพราะอุตสาหกรรมสำคัญอย่างการผลิตไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ล้วนอยู่ในพื้นที่ภาคกลางซึ่งถูกน้ำท่วม รวมถึงภาคการเกษตรที่เกิดความเสียหายเป็นวงจึงต้องการเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในส่วนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วย และการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ควรดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

***BCP เผยน้ำท่วมกระทบรายได้

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจากปิโตรเลียม (BCP) กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันปรับตัวลดลง 6-7% จากช่วงปกติ หรือคิดเป็นปริมาณ 3 แสนลิตร/วัน โดยดีเซลลดลงกว่า 10% เบนซินและก๊าซโซฮอลล์ลดลง 4-5% และทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ไป 80-100 ล้านบาท/เดือน โดยขณะนี้บริษัทปิดทำการสถานีบริการน้ำมันไปแล้ว 43 แห่ง อย่างไรก็ตาม ส่วนของคลังน้ำมันบางจาก ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำรอบด้านเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง แต่ยังไม่ท่วมเข้ามาในบริเวณโรงงาน โดยบริษัทได้ประสานกับกองทัพบกให้ช่วยสร้างคันดินโดยรอบคลังน้ำมัน

“รายได้ทั้งปียังตามเป้าหมายแม้น้ำท่วมกระทบไตรมาส 4/54 ขณะที่ราคาน้ำมันและค่าการกลั่นทรงตัวระดับสูง โดยค่าการกลั่นคาดปี 54 ค่าการกลั่นเฉลี่ย 6-6.5 เหรียญ/บาร์เรล จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.6 เหรียญ/บาร์เรล แต่คาดกลั่นช่วงที่เหลือของปีนี้อาจปรับตัวลดลงบ้างตามปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินที่ลดลง ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันที่สิงคโปร์กลับมาเดินเครื่อง” นายอนุสรณ์กล่าว

***กทท.เผยสินค้าท่าเรือกรุงเทพลด 20%

เรือตรีวิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้การนำเข้าและส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ลดลงแล้ว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าลดลงประมาณ 20% เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าหลายแห่งรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วม ไม่สามารถผลิตได้ ส่วนการนำเข้าสินค้าลดลงประมาณ 10% เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนหนึ่งหันไปใช้ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)

ทั้งนี้ เชื่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น โดยคาดว่าประมาณปลายเดือนธ.ค.นี้จะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งคงจะไม่กระทบภาพรวมการดำเนินการงานของ กทท.ตลอดทั้งปีนี้ แต่อาจจะกระทบกับการดำเนินงานของท่าเรือกรุงเทพแน่นอน เนื่องจากผู้ประกอบการจะหันไปใช้บริการท่าเรือแหลมฉบังแทนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ท่าเรือกรุงเทพ ยังเปิดให้บริการรับส่งสินค้าตามปกติ เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม แต่เพื่อความไม่ประมาทได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์ระดับน้ำในจุดต่างๆที่สำคัญเพื่อประเมินสถานการณ์ให้ทราบทุกชั่วโมง จึงมั่นใจได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมท่าเรือกรุงเทพอย่างแน่นอน

โดยขณะนี้ ทางผู้นำเข้าสินค้าได้ขอให้ท่าเรือเก็บสินค้าไว้ก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการยังประสบปัญหาน้ำท่วม ไม่สามารถขนสินค้าออกจากท่าเรือไปได้ ทางท่าเรือจึงได้นำสินค้าไปไว้ในที่เก็บสินค้าของศุลกากร หากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทางผู้ประกอบการก็สามารถมารับสินค้าออกไปได้

***กฟผ.ยันหากท่วมกรุงยังพร้อมจ่ายไฟ

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เปิดเผยว่า ขณะนี้บริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูง (สฟ.) รังสิต ของกฟผ.ได้ถูกน้ำท่วม หลังจากนิคมอุตสาหกรรมนวนครไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำท่วมได้ กฟผ.จึงได้ปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าบางส่วนไปที่สฟ.แจ้งวัฒนะและสฟ.ลาดพร้าว ทำให้ไม่มีผลให้เกิดปัญหาต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่รังสิต

ล่าสุด กฟผ.ได้เฝ้าระวังและเสริมคันกันน้ำให้สูงขึ้นกว่าปกติที่สฟ.ไทรน้อยถึง3เมตร ที่จ่ายไฟฟ้า195เมกะวัตต์ แต่หากเกิดปัญหาน้ำท่วมสูงมากกว่านี้ก็จะย้ายการจ่ายไฟฟ้าไปให้สฟ.แจ้งวัฒนะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้แทน

นายสุทัศน์ กล่าวว่า หากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่สุด คือน้ำท่วมสฟ.ในหลายๆพื้นที่เสี่ยงของกรุงเทพในพื้นที่7 เขตอันตรายอาทิสายไหม คันนายาวฯลฯ ก็จะไม่ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับในพื้นที่กรุงเทพปริมณฑล เพราะขณะนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของพื้นที่ดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 7,800 เมกะวัตต์ แต่หลังเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายๆพื้นที่ดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 440 เมกะวัตต์ ทั้งนี้หากเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาอย่างกะทันหันหรือสฟ.บางแห่งไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ก็จะไม่มีปัญหาเช่นกันเนื่องจากขณะนี้กฟผ.ได้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึง2,035เมกะวัตต์ จากเดิมที่สำรองไว้เพียง1,800 เมกะวัตต์ ที่พร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น