xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติของชาติน้ำท่วมขนาดนี้ องค์กรวิชชาชีพวิศวกรหายไปไหนกันหมด !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภาพแสดงมวลน้ำ (พื้นที่สีฟ้า) ซึ่งได้ท่วมเข้ามาล้อมรอบกรุงเทพฯ แล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554 (ภาพที่มีการเผยแพร่ทาง social media)
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, สภาวิศวกร, สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย คือองค์กรที่ควรจะเป็นหลักทางด้าน “วิศวกรรมศาสตร์และการออกแบบ”ในการชี้ทางสว่างและหาทางออกของประเทศไทยในการเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งใหญ่เช่นนี้

หลายปีก่อน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกสยาม ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการท้วงติงความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และรณรงค์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการก่อสร้าง

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เคยมีบทบาทสำคัญที่มาช่วยแก้ปัญหาให้ความเห็นรอยร้าวบนทางวิ่งและหลุมจอดของสนามบินสุวรรณภูมิอันสืบเนื่องมาจาก “น้ำท่วมขัง”

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ยังเคยมีบทบาทในการให้ความเห็นว่าอาคารแฟลตดินแดนว่าต้องทุบทิ้งหรือไม่ หรืออาคารที่ไฟไหม้ต้องทุบทิ้งหรือไม่ในทางวิศวกรรม

จึงอดตั้งคำถามว่าสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ทำไม องค์กรวิชชาชีพวิศวกรปล่อยให้นักการเมืองและข้าราชการแก้ปัญหาแบบตาบอดคลำช้าง ทำมั่วๆจนขาดความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์กันหมดสิ้น?

ไม่อยากจะโทษฝ่ายการเมืองที่คอยกำกับข้าราชการที่คิดอยู่ในกรอบ ย่อมไม่มีทางจะมีความรู้และความเข้าใจที่จะรับมือในยามวิกฤตได้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าทำไม่รัฐบาลไม่เชิญองค์กรวิชชาชีพวิศวกรมาช่วยให้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจในยามวิกฤต

เช่นเดียวกัน หากแม้รัฐบาลไม่เชิญองค์กรวิชชาชีพวิศวกรมาร่วมงาน อย่างน้อยองค์กรวิชชาชีพวิศวกรทั้งหลายก็ควรจะแถลงจุดยืนออกมาในสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ถูกต้อง อะไรที่ควรทำต่อไปในอนาคต และประชาชนควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?

เพราะวิชชาชีพวิศวกร ถูกสอนมาว่าการจะลงมือทำสิ่งใด ต้องมีตัวเลขที่มาจากการคำนวณจึงได้คำตอบว่าเราควรจะลงมือทำจำนวนเท่าใด ลักษณะใดเสียก่อน แล้วจึงจะสามารถออกแบบและลงมือทำตามสิ่งที่คำนวณเหล่านั้น

มัวแต่จะตั้งกระสอบทราย แต่ไม่มีใครคิดกันบ้างเลยว่ามวลน้ำที่เราปล่อยจากเขื่อนอันมหาศาล บวกแรงกับน้ำฝนที่โปรยปรายลงมาจากฟากฟ้า และดันน้ำออกไม่ได้เพราะน้ำทะเลหนุนสูง ยังตามมาด้วยการสกัดกั้นหลายด่าน จนทำให้เกิดการเพิ่ม “แรงดันน้ำ” พุ่งแรงทำลายทำนบกั้นตามตลอดตั้งแต่ภาคเหนือจนมาถึงภาคกลางและเตรียมบุกรุงเทพมหานครอยู่ในขณะนี้

เริ่มตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ เรื่อยลงมาจนถึง นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และล่าสุดก็คือนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

ลักษณะการวางกระสอบทรายแทบทุกที่เป็นไปอย่างขาดความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ ไม่มีใครคำนวณว่ากระสอบทรายที่กั้นน้ำนั้น ทนแรงดันน้ำได้จริงหรือไม่?

ข้อสำคัญเป็นการผิดซ้ำซากในปัญหาเดิมถึง 4-5 ครั้ง จาก “เอาอยู่” กลายเป็น “เอาไม่อยู่”!!


นี่แหละทำให้คนเขาไม่เชื่อ กระสอบทรายจากที่หายากอยู่แล้ว ก็เลยยิ่งหายากมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะชาวบ้านเกิดความตื่นตระหนกหนักขึ้นกว่าเดิมเพราะเชื่ออำนาจรัฐไม่ได้

เช่นเดียวกันกับกรณีการเปิดพิธีเรือดันน้ำ 1,100 ลำ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2554 ที่ปล่อยให้เรือต่างๆใช้ใบพัดขนาดเล็กอยู่เพียงผิวน้ำ และไม่มีการเชื่อมโยงต่อกันเป็นทอดๆ แถมยังเลือกกดปุ่มเปิดงานในวันที่น้ำทะเลหนุนสูงอีก ได้แต่การสร้างภาพเท่านั้น

ถึงได้แปลกใจ เพราะความรู้เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการ “คำนวณ” จึงตามมาด้วยออกแบบทางวิศวกรรม ซึ่งฝ่ายการเมืองและข้าราชการที่รอคำสั่งฝ่ายการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถหาคำตอบได้ นอกจากสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ก็คือแก้ปัญหาตาม “สามัญสำนึก” และ “ภาพทางการเมือง” โดยปราศจากความรู้ทางด้าน “วิศวกรรมศาสตร์”รองรับแม้แต่น้อย

เพราะที่ผ่านมาเราปล่อยระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีนช้าเกินไป จึงปล่อยภาระอันหนักอึ้งให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา เพียงเพราะต้องการช่วยเมือง “สุพรรณบุรี” ให้รอดจากน้ำท่วมใช่หรือไม่ ภาคกลางจึงเจอปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักอย่างที่ไม่ควรจะเป็นในหลายพื้นที่ ?

และเราอาจจะต้องทบทวนเสียด้วยซ้ำว่า เราสะสมระดับน้ำในเขื่อนเกินความจำเป็นหรือไม่?

บทเรียนราคาแพงที่สำคัญก็คือเราเห็นปัญหาตั้งแต่น้ำท่วมที่เชียงใหม่ที่ทำนบฝายพังทลายล้น ลามมาถึงภาคเหนือตอนล่าง เหตุใดเขื่อนทั้งหลายไม่เร่งระบายน้ำออกอย่างรวดเร็ว หรือป้องกันจุดสำคัญอย่างเร่งด่วนตั้งแต่เห็นสัญญาณอันตรายนี้

แนวคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานคร ก็คือถนนยกสูงรอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งความจริงส่วนใหญ่ก็เป็น “คันดิน” ซึ่งถึงวันนี้ก็ไม่มีใครแสดงได้อย่างเป็นวิชาการว่า “แนวคันกั้นน้ำ”จะรับแรงดันน้ำได้มากเท่าไร?

มวลน้ำประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็นส่วนเกินที่ไม่สามารถระบายออกได้ทัน และไหลทะลักไปที่ต่างๆ ทั้งปทุมธานี และนนทบุรี หมายความว่าหากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและฝนยังไม่หยุดตก ต่อให้พนังกั้นน้ำที่ปกป้องกรุงเทพมหานครก็จะไม่สามารถรับแรงกระแทกของแรงดันน้ำได้ ซึ่งตอนนี้ที่ปทุมธานีได้เริ่มพังแล้วหลายจุด

แล้วถามว่าทำอย่างไรจะไม่ให้แนวคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานครพัง คำตอบที่น่าจะเป็นทางเลือกมีดังต่อไปนี้

1.ต้องลดแรงดันของน้ำเพื่อรักษาแนวคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทางเลือกก็คือยอมให้กรุงเทพมหานครท่วมบ้าง(เป็นการท่วมแบบจัดการได้)
โดยการปล่อยน้ำเข้าตามคลองในระดับสูงขึ้น ดีกว่าปล่อยให้แรงดันน้ำสูงขึ้นจนพังแนวกั้นน้ำแล้วเข้ามาในกรุงเทพมหานครจนไม่สามารถควบคุมระดับน้ำได้ (ซึ่งจะทำให้ประชาชนเตรียมความพร้อมก่อนรับมือได้)

เพราะถ้ากรุงเทพมหานครจะเลือกหนทางไม่ท่วมเลย ก็ต้องไปเสี่ยงเอาว่าแนวคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานครจะรับแรงดันที่เพิ่มสูงขึ้นได้หรือไม่?

2.ต้องเร่งระบายน้ำให้เร็วขึ้น ซึ่งนอกจากการขุดลอกคลองเพิ่มเติมแล้ว อาจจะต้องยอมตัดถนนบางสายที่ขวางทางน้ำในฝั่งตะวันออก
เพื่อเร่งระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งในเวลานี้ระดับน้ำทะเลหนุนและเริ่มทำยากขึ้นแล้วในการระบายน้ำ


3.จุดสำคัญที่จำเป็นต้องสกัดแรงดันน้ำ ตามแนวคันกั้นน้ำที่มีลักษณะต้องรับแรงกระแทกอาจจำเป็นต้องพิจารณาใช้แผ่นเหล็ก Sheet Pile
ฝังลงไปในดินเป็นแนวอีกชั้นเพื่อไม่ให้แนวคันกันน้ำของกรุงเทพมหานครต้องพังลง

ข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างแนวคิดที่มีการเสนอกันในหมู่วิศวกรบางกลุ่ม เพียงแต่ว่ายังขาดน้ำหนักที่จะพิจารณากันให้รอบคอบโดยผ่านองค์กรวิชชาชีพ หากองค์กรวิชาชีพวิศวกรหลายแห่งร่วมกันพิจารณาเสนอทางออกอย่างเร่งด่วน ย่อมจะมีน้ำหนักที่จะทำให้รัฐบาลไทยได้พิจารณาเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ให้ได้

ซึ่งความจริงแล้วไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา เพราะความจริงดินของกรุงเทพมหานครมีความอ่อนตัวเหลวมาก ถือได้ว่ามีความท้าทายทางวิศวกรรมศาสตร์มาโดยตลอด ดังนั้นวิศวกรไทยซึ่งสัมผัสในเรื่องนี้จึงย่อมมีความเชี่ยวชาญมากกว่าวิศวกรชาติอื่นแน่นอน

เพราะเชื่อมั่นว่า วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, สภาวิศวกร,สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะสามารถหาทางออกที่เป็นรูปธรรมในการรอดพ้นวิกฤติครั้งนี้ได้

และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย จะสามารถรวบรวมระดมนายช่าง และวิศวกรจำนวนมาก ซึ่งสามารถลงมือทำจริงในทางปฏิบัติอย่างถูกวิธี พร้อมด้วยช่างเทคนิคและแรงงาน ย่อมดีกว่าที่จะไปใช้ทหารหรือชาวบ้านที่ไม่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่างแท้จริง


แรงงานที่ขาดแคลนรัฐบาลอาจเสริมกำลังแรงงานในโครงการของภาครัฐ โดยการให้หยุดการก่อสร้างหลายโครงการพร้อมยอมจ่ายค่าชดเชยในเวลาที่เสียไป เพื่อระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนมาใช้งานให้อย่างมีเอกภาพและมีทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อนั้นกำลังจากทหารหรือชาวบ้านที่เข้ามาเสริมก็จะสามารถร่วมมือกันกู้วิกฤติครั้งนี้อย่างถูกต้องในทางวิชาการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้แล้ว องค์กรวิชชาชีพเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศในสิ่งที่ควรจะเป็น ทั้งการฟื้นฟูบูรณะความเสียหาย

หลังวิกฤติครั้งนี้แล้ว สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ควรจะมีส่วนสำคัญในการให้องค์ความรู้ทั้งต่อรัฐบาลและประชาชนในการวางผังเมืองใหม่ หรือการย้ายเมือง ในสถานการณ์ที่น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น 2.3 เมตรในทุกๆ 10 ปี เพราะน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายลงเพราะโลกร้อนขึ้นไปเรื่อยๆ

แต่วันนี้รู้สึกเศร้าใจและน่าผิดหวัง ที่องค์กรวิชชาชีพเหล่านี้ไม่แสดงบทบาทในวิกฤติครั้งนี้ให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

เพราะประชาชนเมื่อเขาไม่สามารถฝากความหวังไว้กับนักการเมืองได้ องค์กรวิชชาชีพวิศวกรทั้งหลายก็ควรเป็นที่พึ่งของประเทศชาติและประชาชนในยามวิกฤติครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น