xs
xsm
sm
md
lg

สว.จวก“นิคมอุต”ตัวขวางน้ำ ผู้ทรงเกียรติ งดประชุม 2สัปดาห์รวด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(18 ต.ค.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่ง สผ 0014/ผ14 เมื่อวันที่ 17 ต.ค. เรื่องงดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 19 และ 20 ต.ค. เนื่องจากเกิดปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด เพื่อให้สส.ได้ใช้เวลาลงไปช่วยประชาชน จึงได้มีคำสั่งงดประชุมดังกล่าว
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาฯ กล่าวว่า การพิจารณางดประชุมสภาฯในแต่ละสัปดาห์นายสมศักดิ์จะพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากน้ำท่วมใกล้กทม.เข้ามาทุกขณะและเกิดความรุนแรงในหลายจังหวัด ประธานสภาฯจึงมีดำริให้สส.ลงพื้นที่ช่วยประชาชน เช่นเดียวกับ การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญประจำสภาฯโดยในส่วนประธานกมธ.ของพรรคเพื่อไทย 19 คณะ พรรคได้มีมติงดประชุม
เมื่อถามว่า หากงดประชุมสภาฯหลายสัปดาห์มีความจำเป็นต้องเพิ่มวันประชุมภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายหรือไม่ นายวัฒนา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประธานสภาฯว่ามีวาระค้างและมีกฎหมายสำคัญจำนวนมากหรือไม่
ด้านนางตรึงใจ บูรณสมภพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง วุฒิสภา(กมธ.) แถลงว่า จากการศึกษาปัญหาอุทกภัยขณะนี้โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานและปัญหาผังเมืองแล้วพบว่า ที่ราบลุ่มภาคกลาง ทั้ง จ.พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอื่นๆ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งชาวบ้านมีวิถีชีวิตผูกพันแนบแน่นอยู่กับแม่น้ำมาตั้งแต่อดีต วิถีชีวิตปกติจึงอยู่กับน้ำท่วมในทุกฤดูน้ำหลาก
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งทั้งที่อยู่ในจ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานีต้องจมน้ำในปีนี้ เพราะการพัฒนาของทุนอุตสาหกรรมที่มุ่งสร้างโรงงานโดยขาดระบบผังเมืองที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและสอดคล้องกันทั้งระบบ เพราะไม่มีกฎหมายผังเมืองมาบังคับใช้ ประกอบกับการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนริมฝั่งน้ำอย่างไม่รับผิดชอบของทุนอสังหาริมทรัพย์ด้วยการซื้อที่ดินริมน้ำแล้วถมดินสูง ทำให้พื้นที่รับน้ำหลากตามธรรมชาติถูกทำลายลง ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมและหมู่บ้านจัดสรรรับน้ำแทน
ประธานกมธ.กล่าวอีกว่า สิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะเคลื่อนย้าย แต่รัฐบาลและสังคมไทยจะต้องเปลี่ยนทัศนะใหม่จาการเอาชนะธรรมชาติเป็นการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติของน้ำให้ได้ โดยการสร้างพนังกั้นน้ำและทฤษฎีถมถุงทรายเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้า ไม่อาจป้องกันอุทกภัยในระยะยาวได้
กมธ.เห็นว่า พระราชดำริเรื่องแก้มลิงส่งผลที่เป็นคุณมาแล้วควรดำเนินการต่อไป โดยรัฐบาลจะต้องมีนโยบายจัดการน้ำท่วมอย่างมีการวางแผนและมีการจัดการ เช่นสำรวจประเมินพื้นที่รับผลกระทบทั้งในระดับประเทศและรดับจังหวัด การกำหนดเขตน้ำท่วมทั่วประเทศเพื่อให้ท้องถิ่นไปบริหารจัดการ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในทุกขั้นตอนอีกด้วย ทั้งนี้กมธ.เสนอให้มีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการะดมพลังทุกภาคส่วนทั้งด้านเทคนิควิชาการและการปฏิบัติ เพื่อให้การแก้ปัญหาอุทกภัยมีความเป็นเอกภาพ เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น