xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง!ช่วยน้ำท่วมปูได้9เต็ม10 เอแบคโพลจัดให้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ประชาชนรู้สึกดีเห็น “ปู-มาร์ค”ร่วมมือแก้ปัญหาน้ำท่วม เริ่มเห็นความหวังความปรองในชาติ เผย“กองทัพ” สร้างความพึงพอใจการทำงานเกือบเต็ม 10 สูงกว่าอาสาสมัคร-สื่อมวลชน ทิ้งภาครัฐไม่เห็นฝุ่น พร้อมเชื่อว่าน้ำท่วมครั้งนี้คนไทยจะแปรวิกฤตให้เป็นโอาสได้แน่ ด้าน“สวนดุสิต”พบร้อยละ 30 คนไทยยังเครียดมาก

วานนี้ (16 ต.ค.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง วิกฤตภัยพิบัติกับโอกาสที่ดีของคนไทย กรณีศึกษามุมมองของประชาชนผู้ไม่ได้ประสบภัยน้ำท่วมใน 19 จังหวัดของประเทศ ระหว่างวันที่ 1 - 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.0 ของคนไทยที่ถูกศึกษารู้สึกดีขึ้นเมื่อเห็นภาพน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีร่วมกันแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมให้ชาวบ้าน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 มีความหวังต่อจุดเริ่มต้นของความปรองดองของคนในชาติ หลังเห็นภาพน.ส.ยิ่งลักษณ์ กับนายอภิสิทธิ์ ร่วมกันแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงสิ่งดีๆ ที่พบเห็นในวิกฤตปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.9 ระบุเป็นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชาติ ร้อยละ 80.7 ระบุความมีน้ำใจ ร้อยละ 76.7 ระบุคนไทยไม่ทิ้งกัน ร้อยละ 67.2 ระบุความสามัคคีไม่แบ่งฝ่าย และร้อยละ 67.8 ระบุความเสียสละของคนในชาติ ตามลำดับ

เมื่อถามถึงกิจกรรมที่ศูนย์พักพิงปลอดภัยของผู้ประสบภัยน้ำท่วมควรมี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7 ระบุการทำฐานข้อมูลช่วยเหลือด้านที่ทำกิน รองลงมาคือร้อยละ 72.6 ทำฐานข้อมูลช่วยเหลือด้านการเงินหลังน้ำลด ร้อยละ 64.6 ระบุฟื้นฟูอุตสาหกรรมธุรกิจต่างๆ ร้อยละ 57.3 จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในศูนย์ที่พักพิงปลอดภัย ร้อยละ 56.8 ส่งเสริมศิลปาชีพ ร้อยละ 55.1 จัดเวรยามในการตรวจตราทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ร้อยละ 53.8 จัดกิจกรรมให้ความรู้ความปลอดภัยเมื่อมีภัยพิบัติ ร้อยละ 47.6 ทำบุญกิจกรรมทางศาสนา และร้อยละ 42.7 ทำกิจกรรมด้านบันเทิง แสดงดนตรี ภาพยนตร์ เป็นต้น

ส่วนรูปแบบความต้องการใดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 ระบุเป็นการบริจาคเงิน ร้อยละ 66.4 ระบุอาหารแห้ง ร้อยละ 56.6 ระบุน้ำสะอาด ร้อยละ 48.1 ระบุเสื้อผ้า ร้อยละ 27.2 ช่วยบรรจุหีบห่อสิ่งของบริจาค ร้อยละ 18.1 ระบุ เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ ร้อยละ 17.8 จัดกิจกรรมฟื้นฟูสภาพจิตใจ และร้อยละ 15.9 ระบุช่วยให้ที่พักพิงกับผู้ประสบภัย ตามลำดับ

**ห่วงความโปร่งใสในการบริหารเงิน

อย่างไรก็ตาม ลำดับความต้องการที่เสนอต่อการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า อันดับแรกได้แก่ ด้านความโปร่งใสในการใช้งบประมาณและเงินบริจาคได้ 9.89 คะแนน

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นว่า คนไทยจะสามารถเปลี่ยนจากวิกฤตปัญหาให้เป็นโอกาสที่ดี ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.3 คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีได้ มีเพียงร้อยละ 10.7 ที่ไม่คิดเช่นนั้น

และถ้าหลังน้ำลด สิ่งที่คนไทยอยากเห็น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.8 สานต่อโครงการพระราชดำริ เช่น โครงการแก้มลิง ขุดลอกคูคลอง ร้อยละ 76.3 เร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ร้อยละ 67.1 คนไทยรักกันไม่แตกแยก เลิกขัดแย้งทางการเมือง ร้อยละ 66.7 สร้างเขื่อน ร้อยละ 64.5 มีแผนป้องกันน้ำท่วมระยะยาวจากรัฐบาล ร้อยละ 62.9 ปราบปรามขบวนการตัดไม้ทำลายป่า และร้อยละ 56.6 ตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้งบประมาณและเงินบริจาคช่วยผู้ประสบภัย

**พอใจทหารมากกว่าสื่อ-รัฐ

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความพอใจต่อหน่วยงานและคณะบุคคลต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมของประชาชน เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ประชาชนพอใจมากที่สุดต่อการทำงานของทหาร ได้ 9.47 คะแนนและไม่แตกต่างกันในอันดับที่สองได้แก่ กลุ่มอาสาสมัครได้ 9.44 คะแนน อันดับที่สามได้แก่ สื่อมวลชน ได้ 9.12 คะแนน รองๆ ลงไป ได้แก่ ดารานักร้อง นักแสดง ฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่า อบจ. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรมชลประทาน ฝ่ายรัฐบาล ตำรวจ และฝ่ายค้าน ตามลำดับ

***อึ้งให้ "ยิ่งลักษณ์" 9 เต็ม 10

ประเด็นสำคัญคือ คะแนนเฉลี่ยความเห็นใจ ให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 9.00 คะแนน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 ต้องการให้โอกาสรัฐบาลทำงานอยู่จนครบวาระ

**ปชช.ร้อยละ 30 เครียดมากเหตุน้ำท่วม

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้โทรศัพท์สัมภาษณ์และลงพื้นที่ในบางส่วนจากตัวแทน 15 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,634 คน ระหว่างวันที่ 10-15 ตุลาคม 2554 สรุปผลได้ดังนี้

ความรู้สึกของประชาชนต่อการรับรู้รับฟังข้อมูลข่าวสารน้ำท่วมเป็นอย่างไร อันดับ 1 ค่อนข้างเครียด 44.36% เพราะกลัวบ้านตัวเองจะถูกน้ำท่วมและเห็นใจผู้ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงของประเทศไทย ฯลฯ อันดับ 2 เครียดมาก 29.37% เพราะมีการนำเสนอข่าวน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับเดือน ทำให้เกิดการวิตกกังวลไปต่างๆ นานา ฯลฯ อันดับ 3 ไม่ค่อยเครียด 16.69% เพราะมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมไว้แล้ว มั่นใจว่าที่บ้านไม่ท่วม ส่วนราชการมีการป้องกันอย่างเต็มที่ ฯลฯ อันดับ 4 ไม่เครียด 9.58% เพราะคิดว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรรับฟังอย่างมีสติและเตรียมรับมือหรือป้องกันจะดีกว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ฯลฯ

ส่วน “วิธีคลายเครียดและวิตกกังวล” ของประชาชน กรณีน้ำท่วม อันดับ 1 หยุดติดตามข่าวสารน้ำท่วมสักพัก หากิจกรรมอย่างอื่นมาทำแทน/พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเพื่อจะได้ระบายความวิตกกังวลออกมา/ไม่คิดวิตกกังวลอยู่คนเดียว 49.85% อันดับ 2 ต้องทำใจยอมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น/ให้กำลังใจตัวเอง มองโลกในแง่ดี และควรหาทางป้องกันหรือมีการเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วม 41.31% อันดับ 3 ควรมองคนที่ลำบากหรือแย่กว่าเราเพื่อจะได้มีกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ 8.84%

ส่วนวิธีป้องกันกรณีที่มีโจรขโมยฉวยโอกาสช่วงน้ำท่วมในการลักขโมยทรัพย์สินตามบ้านเรือน อันดับ 1 เพิ่มสายตรวจหรือกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตระเวน ตรวจตราพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้น/มีบทลงโทษที่รุนแรง 63.42%

**หวัง พณ.คุมเข้มราคาสินค้า

วิธีป้องกันกรณีที่มีการขายสินค้าอุปโภคบริโภคเกินราคาในช่วงน้ำท่วมอันดับ 1 กระทรวงพาณิชย์จะต้องมีการตรวจสอบราคาสินค้าอย่างเข้มงวด/เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ดูแลความเรียบร้อย 47.72%

ความคิดเห็นต่อการช่วยเหลือของประชาชน กับประชาชนที่ถูกน้ำท่วมเป็นอย่างไร อันดับ 1 คนไทยต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่/การบริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องใช้ และแรงกายแรงใจ 57.94%

สิ่งไหน/เรื่องใดควรทำเป็นอย่างแรกหลังน้ำท่วม อันดับ 1 ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายให้เข้าสู่สภาพปกติ 54.50%

การแก้ปัญหาระยะยาวเกี่ยวกับน้ำท่วมควรทำอย่างไร อันดับ 1 การศึกษา วางแผนระบบการระบายน้ำเส้นทางน้ำต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ/การเตรียมการป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในครั้งต่อไป 53.65%

**ไม่มีการปรองดองเกิดขึ้นในสยาม

ส่วนจุดเริ่มต้นหรือจุดเปลี่ยนของการสร้างความปรองดอง การร่วมมือกันระหว่าง “รัฐบาล” กับ “ฝ่ายค้าน” ได้หรือไม่ อันดับ 1 ไม่แน่ใจ 42.33% เพราะการช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมกับเรื่องการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน, ยังไม่เห็นทั้ง 2 ฝ่ายมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ฯลฯ

ขณะที่บทเรียนที่คนไทย อันดับ 1 น้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ และก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ 33.98% .
กำลังโหลดความคิดเห็น