xs
xsm
sm
md
lg

“ดุสิตโพล” เผย ปชช.ยังไม่เชื่อน้ำท่วมช่วยฝ่ายค้าน-รบ.ปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เมื่อ 11 ต.ค. แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของการปรองดอง
“สวนดุสิตโพล” เผยประชาชนเกือบร้อยละ 30 เครียดมากต่อสถานการณ์น้ำท่วม เพราะเกิดต่อเนื่องยาวนานจนวิตกกังวล เกือบร้อยละ 60 เห็นว่าคนไทยยังช่วยเหลือกันเต็มที่ แต่ยังไม่เชื่อจะเป็นจุดเปลี่ยนของการปรองดองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพราะการช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมกับการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน และยังไม่เห็นทั้ง 2 ฝ่ายมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง

วันที่ 16 ต.ค. “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยใช้การโทรศัพท์สัมภาษณ์และลงพื้นที่ในบางส่วนจากตัวแทน 15 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,634 คน ระหว่างวันที่ 10-15 ตุลาคม 2554 สรุปผลได้ดังนี้

ความรู้สึกของประชาชนต่อการรับรู้รับฟังข้อมูลข่าวสารน้ำท่วมเป็นอย่างไร อันดับ 1 ค่อนข้างเครียด 44.36% เพราะกลัวบ้านตัวเองจะถูกน้ำท่วมและเห็นใจผู้ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงของประเทศไทย ฯลฯ อันดับ 2 เครียดมาก 29.37% เพราะมีการนำเสนอข่าวน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับเดือน ทำให้เกิดการวิตกกังวลไปต่างๆ นานา ฯลฯ อันดับ 3 ไม่ค่อยเครียด 16.69% เพราะมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมไว้แล้ว มั่นใจว่าที่บ้านไม่ท่วม ส่วนราชการมีการป้องกันอย่างเต็มที่ ฯลฯ อันดับ 4 ไม่เครียด 9.58% เพราะคิดว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรรับฟังอย่างมีสติและเตรียมรับมือหรือป้องกันจะดีกว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ฯลฯ

ส่วน “วิธีคลายเครียดและวิตกกังวล” ของประชาชน กรณีน้ำท่วม อันดับ 1 หยุดติดตามข่าวสารน้ำท่วมสักพัก หากิจกรรมอย่างอื่นมาทำแทน/พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเพื่อจะได้ระบายความวิตกกังวลออกมา/ไม่คิดวิตกกังวลอยู่คนเดียว 49.85% อันดับ 2 ต้องทำใจยอมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น/ให้กำลังใจตัวเอง มองโลกในแง่ดี และควรหาทางป้องกันหรือมีการเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วม 41.31% อันดับ 3 ควรมองคนที่ลำบากหรือแย่กว่าเราเพื่อจะได้มีกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ 8.84%

ส่วนวิธีป้องกันกรณีที่มีโจรขโมยฉวยโอกาสช่วงน้ำท่วมในการลักขโมยทรัพย์สินตามบ้านเรือน อันดับ 1 เพิ่มสายตรวจหรือกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตระเวน ตรวจตราพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้น/มีบทลงโทษที่รุนแรง 63.42% อันดับ 2 เก็บรวบรวมทรัพย์สินที่มีค่าไว้ในที่ปลอดภัย ปิดประตูหน้าต่างให้แน่นหนา 21.98% อันดับ 3 คนในชุมชนหรือเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันควรช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแล 14.60%

วิธีป้องกันกรณีที่มีการขายสินค้าอุปโภคบริโภคเกินราคาในช่วงน้ำท่วมอันดับ 1 กระทรวงพาณิชย์จะต้องมีการตรวจสอบราคาสินค้าอย่างเข้มงวด/เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ดูแลความเรียบร้อย 47.72% อันดับ 2 มีการประกาศเตือนพ่อค้าแม่ค้า/พร้อมแจ้งมาตรการ บทลงโทษที่รุนแรงกับผู้ที่ฉวยโอกาสขายสินค้าเกินราคา 45.44% อันดับ 3 ประชาชนเองไม่ควรซื้อสินค้ากับร้านที่ขายเกินราคา หากพบเจอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐทันที 6.84%

ความคิดเห็นต่อการช่วยเหลือของประชาชน กับประชาชนที่ถูกน้ำท่วมเป็นอย่างไร อันดับ 1 คนไทยต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่/การบริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องใช้ และแรงกายแรงใจ 57.94% อันดับ 2 รู้สึกซาบซึ้งถึงน้ำใจของคนไทยด้วยกัน คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน เป็นการแสดงออกซึ่งความรัก สามัคคี 33.67% อันดับ 3 ยังมีคนบางกลุ่มที่ฉวยโอกาสจากเรื่องน้ำท่วมมาแอบอ้างเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตนเอง 8.39%

สิ่งไหน/เรื่องใดควรทำเป็นอย่างแรกหลังน้ำท่วม อันดับ 1 ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายให้เข้าสู่สภาพปกติ 54.50% อันดับ 2 สำรวจความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมให้การช่วยเหลือและดูแลผู้ประสบภัยจนกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ 23.67% อันดับ 3 การเยียวยา ฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ประสบภัย เพื่อให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป 21.83%

การแก้ปัญหาระยะยาวเกี่ยวกับน้ำท่วมควรทำอย่างไร อันดับ 1 การศึกษา วางแผนระบบการระบายน้ำเส้นทางน้ำต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ/การเตรียมการป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในครั้งต่อไป 53.65% อันดับ 2 ระดมความคิดเห็นทั้งผู้เชี่ยวชาญในไทยและจากต่างประเทศมาประชุมหารือเพื่อหาแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยเฉพาะ เรื่องงบประมาณ 23.65% อันดับ 3 การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเรื่องน้ำท่วมในการรับมือและป้องกันเมื่อจะต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วม/นำเรื่องน้ำท่วมขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนหรือเป็นวาระแห่งชาติ 22.70%

จากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดเปลี่ยนของการสร้างความปรองดอง การร่วมมือกันระหว่าง “รัฐบาล” กับ “ฝ่ายค้าน” ได้หรือไม่ อันดับ 1 ไม่แน่ใจ 42.33% เพราะการช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมกับเรื่องการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน, ยังไม่เห็นทั้ง 2 ฝ่ายมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ฯลฯ อันดับ 2 ได้ 29.55% เพราะความสามัคคี ปรองดองเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ การร่วมแรงร่วมใจเป็นสิ่งสำคัญ ฯลฯ อันดับ 3 ไม่ได้ 28.12% เพราะต่างฝ่ายต่างมีวิธีการหรือมีแนวคิดที่แตกต่างกัน, เป็นธรรมชาติของการเมืองไทยที่จะต้องมีการแบ่งขั้วทางการเมือง ฯลฯ

ส่วนหัวข้อบทเรียนที่คนไทยได้รับจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ อันดับ 1 น้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ และก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ 33.98% อันดับ 2 ภาครัฐจะต้องมีการดำเนินการป้องกัน แก้ไขเรื่องน้ำท่วมในระยะยาวอย่างจริงจังและจะต้องทำทันที 30.83% อันดับ 3 วิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ/ขาดการสำรวจความพร้อมของการรองรับน้ำจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ เขื่อน แม่น้ำ คูคลอง และทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ 18.77% อันดับ 4 การเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับน้ำท่วมที่อาจจะมีขึ้นอีกในครั้งต่อไป/ประชาชนจะต้องศึกษา รู้จักดูแลตนเองในการเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับน้ำท่วม 16.42%
กำลังโหลดความคิดเห็น