xs
xsm
sm
md
lg

น้ำฝน น้ำท่า ภัยพิบัติ : ความสัมพันธ์ที่คาดไม่ถึง!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

บทความเรื่อง “คิดใหม่เถอะ…เรื่องเขื่อน!” ของผมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้อ่านจำนวนหนึ่ง มาวันนี้ผมขออธิบายขยายความในสองประเด็น ดังต่อไปนี้

หนึ่ง เรื่องภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ผมได้เรียนไปว่าหากย้อนหลังไปประมาณ 40 ปี สภาพภูมิอากาศค่อนข้างเป็นไปตามฤดูกาล แต่ในปัจจุบันกลับเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วรุนแรง เดี๋ยวก็เกิดพายุ เดี๋ยวก็แผ่นดินไหว ส่งผลให้การคาดหมายอนาคตรวมทั้งการจัดการน้ำในเขื่อนเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ในคราวที่แล้ว ผมได้นำผลการคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเกิดพายุ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความถี่ของแผ่นดินไหว การศึกษาของนักประกันภัยที่บอกว่าความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจะสูงขึ้นมาก มากกว่ารายได้ของคนทั้งโลกเสียด้วยซ้ำ

มาวันนี้ ผมขอนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนครั้ง (ที่ถูกบันทึกไว้เมื่อมีความรุนแรงระดับที่แน่นอนระดับหนึ่ง) ของทวีปเอเชีย (ที่มีประชากรเกือบสี่พันล้านคน)ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2523 - 2551) พบว่า ภัยพิบัติที่เกี่ยวกับพายุ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง (Hydrometeorological) ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าตัว จากประมาณจาก 50 เป็น 150 ครั้งต่อปี (ดูกราฟประกอบ) ภัยพิบัติทางธรณี (Geological-แผ่นดินไหว ดินถล่ม-สีชมพู) ก็เพิ่มขึ้นค่อนข้างอย่างชัดเจน หากย้อนไปถึงก่อนปี 2493 (ก่อนที่ระบอบเศรษฐกิจรวมศูนย์ของโลกยังไม่แข็งแรง) พบว่าจำนวนครั้งของภัยพิบัติแทบจะคงที่มานับร้อยปี

เรื่องภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้นใครๆ ก็ทราบ แต่ใครบ้างจะคิดถึงได้ว่า มันเพิ่มขึ้นอย่างมากมายขนาดนี้ นี่คือเหตุผลที่ผมเสนอให้ “คิดใหม่เถอะ”

สอง บทความที่แล้ว ผมได้บอกว่า ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีที่เพิ่มขึ้นกว่าในอดีตถึง 48% ไม่สามารถทำให้เราทราบได้ว่าจะทำให้น้ำท่วมมากกว่าเดิมหรือไม่ แต่มันขึ้นอยู่กับการกระจายหรือการกระจุกของปริมาณน้ำฝน (ซึ่งนำไปสู่น้ำท่า-น้ำที่ไหลบ่าตามผิวดินลงสู่ที่ต่ำ) ต่างหาก น้ำฝนจะมีผลมากต่อการเกิดน้ำท่วมก็เฉพาะแต่ในป่าคอนกรีต เช่น เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ

ผมอยากเห็นการนำเสนอข้อมูลที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง ปริมาณน้ำฝนรายวัน กับ ปริมาณน้ำท่าของแต่ละลุ่มน้ำ เพราะมันจะ “บอกความจริงบางอย่าง” แต่ผมหาข้อมูลแบบนี้ไม่เจอครับ ผมจึงขอใช้ข้อมูลที่ผมมีมาเสนอในที่นี้ กรุณาอ่านอย่างช้าๆ พร้อมดูกราฟประกอบแล้วจะเห็น “สิ่งที่คาดไม่ถึง” เป็นข้อมูลระดับน้ำ (มีหน่วยเป็นเมตร) ในอ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึง 31 ธันวาคม ปี 2542 และข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากสถานีจัดเก็บที่อยู่ห่างกันประมาณหนึ่งกิโลเมตร

ผมประมาณจากแผนที่ พบว่า สัดส่วนของพื้นที่อ่างเก็บน้ำต่อพื้นที่รับน้ำ (บนเขาคอหงส์ มีสวนยางพาราและป่าปกคลุมเต็มพื้นที่) ประมาณ 1 ต่อ 25 สิ่งที่กราฟนี้บอกเราก็คือ

(1) ในช่วงฤดูแล้งซึ่งฝนทิ้งช่วง เมื่อฝนตกประมาณ 60-80 มิลลิเมตร ระดับน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่เซนติเมตร แต่ในช่วงฤดูฝนซึ่งฝนตกบ่อย สภาพดินชุ่มน้ำ เมื่อฝนตกมาประมาณ 140 มิลลิเมตร ระดับน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นถึง 3 เมตรจนล้นอ่าง หากคิดเป็นจำนวนเท่า เมื่อปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว แต่ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 100 เท่าตัว

นี่คือสิ่งที่เราคิดไม่ถึง แม้เราจะทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า เมื่อฝนมาก น้ำท่าก็มาก แต่ใครจะคิดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 100 เท่า หรือว่าใครคิดถึง! นี่ขนาดว่าอ่างเก็บน้ำดังกล่าวนี้มีพื้นที่รับน้ำน้อยมากเมื่อเทียบกับเขื่อนทั่วไป

(2) บางช่วงเวลาเมื่อฝนหยุดตกแล้ว น้ำท่าก็ยังไหลลงอ่างอีก 5-6 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ ชั้นดิน ความลาดชันและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและอื่นๆ อีก

ความจริง 2 ประการที่กราฟนี้บอกว่า แม้ฝนได้หยุดตกแล้วน้ำก็ยังท่วมได้และอาจท่วมมากกว่าปกติอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเชื่อว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ไม่ใช่เฉพาะแต่เพราะความวิปริตของภูมิอากาศที่กล่าวแล้ว แม้แต่กลไกของธรรมชาติในภาวะปกติเราก็คาดไม่ถึง

มีผู้เสนอความเห็นในท้ายบทความ (ผ่านเว็บไซต์) ว่า ให้ใช้น้ำในเขื่อนให้มากก่อนที่จะถึงฤดูฝน จากนั้นก็เก็บน้ำท่าไว้ในเขื่อน ถ้ามันยังท่วมอีกก็ต้องยอม นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการคิดใหม่ ปัญหามีอยู่ว่าเราจะต้องใช้น้ำก่อนฤดูฝนมากแค่ไหน ปัญหานี้สถิติในอดีตพอจะบอกเราได้ ผมดูข้อมูลของเขื่อนภูมิพลพบว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมปี 2554 ระดับน้ำในเขื่อนสูงกว่าปีที่แล้ว 25 เมตรหรือ 7,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

นี่แค่ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นเหตุผลว่า เราต้องคิดใหม่ครับ จะใช้เพื่อ “อเนกประสงค์” แบบเหมารวมว่าบรรเทาอุทกภัยก็ได้ บรรเทาภัยแล้งก็ได้ และผลิตไฟฟ้าก็ได้อย่างในอดีตคงไม่น่าจะใช้ได้อีกแล้ว ข้อมูลและความคิดที่เล่ามานี้ ผมไม่มีเจตนาที่จะทำลายขวัญและกำลังใจของใคร หากผิดกาลเทศะก็ขออภัยด้วยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น