xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

18 วิธีรับมือน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - 1.หมั่นติดตามข่าวสาร และประกาศเตือนทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งสามารถรายงานสถานการณ์ได้อย่างทันเหตุการณ์

2.เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค ไฟฉาย และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อเอาตัวรอดในยามน้ำท่วม โดยต้องตรวจสอบเรื่องวันหมดอายุด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ หรือสามารถใช้งานได้จริงในยามจำเป็น

3.เตรียมเสื้อชูชีพ ห่วงยาง หรืออุปกรณ์พยุงตัวเพื่อใช้ในกรณีที่ปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือต้องอพยพออกมาจากพื้นที่น้ำท่วม

4.เตรียมกระสอบทรายไว้เพื่อทำผนังกั้นน้ำ แต่ห้ามวางไว้พิงกำแพง เพราะจะเพิ่มแรงดันให้น้ำทะลักเข้ามาได้ง่าย

5.ทำกำแพงกันน้ำได้ แต่ต้องระวังเรื่องความแข็งแรงและไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากรั้วบ้านที่เป็นคอนกรีตหรือก่ออิฐจะเปรียบเสมือนกำแพงเมืองที่จะกันน้ำไม่ให้เข้ามาในบ้านของเรา แต่ต้องไม่ลืมว่าน้ำหนักของน้ำที่ขังหรือถาโถมเข้ามากดที่ด้านข้างของกำแพงจะทำให้เกิดการเอียง หรือแตกร้าว หรือพังลงมากได้

6.ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกบ้าน ย้ายปลั๊กไฟขึ้นสู่ที่สูง และสับคัตเอาท์หรือตัดกระแสไฟหากเห็นว่าปริมาณน้ำอยู่ในระดับอันตราย

7..ตรวจสอบถังน้ำใต้ดิน โดยเฉพาะบริเวณฝาของถังน้ำ เนื่องจากเวลาน้ำท่วม ถังน้ำจะอยู่ใต้น้ำด้วย หากฝาของถังน้ำมีระบบป้องกันน้ำเข้าไม่ดี น้ำสกปรกที่ท่วมเข้ามาก็จะไปปนกับน้ำสะอาดในถังน้ำของเรา ปัญหาเรื่องโรคภัยต่างๆ ก็จะตามมาด้วย

8.ตรวจสอบประตูหน้าต่าง และดูแลให้อยู่ในสภาพแข็งแรง เพราะเป็นจุดหนึ่งที่ถือว่ามีความอ่อนแอมากที่สุด มีโอกาสที่จะบิด หรือเผยอตัว หรืออาจจะหลุดออกมาทั้งบาน หากมีแรงดันน้ำมากๆ ดันเข้ามา ดังนั้นเราจึงต้องตรวจสอบความแข็งแรงให้ดี ต้องพยายามที่จะใช้ “กลอน” ช่วยรับน้ำหนักทางด้านข้างด้วย การลงกลอนในบานประตูและหน้าต่างที่ไม่ได้ใช้เป็นปกติธุระ น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะป้องกันน้ำวิ่งเข้ามาที่ตัวบ้านได้ และหากมีพลาสติกซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่กลัวน้ำก็ควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

9.เก็บของมีค่า และสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้บนที่สูง หรือนำไปไว้ที่ชั้นบนของบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆที่สามารถขนย้ายได้และยังไม่ต้องใช้ตอนนี้ เช่น เตาไฟฟ้า เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องตีไข่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องชาร์จโทรศัพท์ ฯลฯ ก็อาจขนย้ายขึ้นไปไว้ชั้นบนก่อน ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังต้องใช้งานอยู่ เช่น เครื่องไมโครเวฟ โทรทัศน์ วิทยุ ก็ต้องเตรียมการขนย้ายไว้บนที่สูง ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ การขนย้ายยุ่งยาก และหาที่วางยาก เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯ ก็ต้องวางแผนว่าจะเอาอย่างไร ในปัจจุบันและอนาคต หากยังใช้อยู่แล้วยามน้ำท่วมขึ้น จะมีคนช่วยขนหรือไม่ หรือจะทิ้งเอาไว้อย่างนั้น

10.เตรียมสารสกัดชีวภาพหรือ EM ไว้ใช้ราดลงโถสุขาเพื่อให้ย่อยสลายได้เร็ว เนื่องจากกรณีที่น้ำขึ้นสูงจะทำให้สิ่งปฏิกูลลงไปในท่อได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบส้วมที่เป็นระบบบ่อเกรอะ บ่อซึมแบบเดิมที่น้ำจากการบำบัดจะต้องซึมออกสู่ดิน แต่พอน้ำท่วม น้ำจากดินภายนอกจะซึมเข้ามาในบ่อ ก็ทำให้บ่อเกรอะเต็มไปด้วยน้ำ ส้วมก็จะเกิดอาการ “อืด และ ราดไม่ลง” หากน้ำจากภายนอกท่วมมาก มีแรงดันมาก ก็อาจจะเกิดอาการ “ระเบิด” ทำให้สิ่งปฏิกูลต่างๆ ย้อนกลับมาที่โถส้วม

11.ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม เนื่องจากระบบสื่อสารทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ ระบบอินเตอร์เน็ตทั้งมีสายและไร้สาย วิทยุ โทรทัศน์ หรือ อุปกรณ์สื่อสารพิเศษอย่างอื่น (เช่นระบบดาวเทียม วอร์คกี้ทอร์คกี้ เป็นต้น) เพราะการรับข่าวสาร และการติดตามข่าวสารเรื่องภัยน้ำท่วมที่จะมาถึงตัวเราเป็นเรื่องสำคัญ และไม่น่าจะเกิดความผิดพลาดในทุกวินาที

12.เตรียมเบอร์ติดต่อ หน่วยงานของรัฐ เผื่อต้องการความช่วยเหลือ

13.หากเกิดน้ำท่วมให้หนีขึ้นที่สูง และปิดวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร พยายามหาส่วนแห้งเพื่อหลบภัย และป้องกันไฟดูด

14.หมั่นทำความสะอาดพื้น ไม่ให้ลื่นเพราะถูกโคลนที่มากับกระแสน้ำทับถม หรือสัตว์ร้ายมาอาศัย

15 ห้ามรับประทานน้ำจากแหล่งน้ำในธรรมชาติเด็ดขาดเนื่องจากเป็นน้ำที่ไม่สะอาด ทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ง่าย หากขาดแคลนน้ำดื่ม และจำเป็นจริงๆให้ต้มก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคระบาด

16.หากน้ำท่วมไม่สูงมาก ให้ระวังการใช้รถใช้ถนน และดูแลเด็กเล็กไม่ให้ออกจากบ้าน

17.ระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ พยามอุดรูต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลื้อยคลานเข้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็นรูที่ประตูหน้าต่าง หรือที่ผนังบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รูจากท่อระบายน้ำ” ที่พื้นบ้าน ทั้งนี้มีหลายวิธีที่จะป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษเข้ามาใกล้ เช่น โรย “ปูนขาว” ล้อมรอบบ้านในกรณีที่น้ำยังท่วมไม่ถึง เพราะปูนขาวจะกันสัตว์เหล่านี้ได้ หากน้ำท่วมเข้ามาแล้วให้ทาน้ำมันก๊าดไว้รอบบริเวณที่คนใช้เป็นที่พักผ่อน เพราะสัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่จะไม่ชอบกลิ่นน้ำมันก๊าด เตรียมยาฉีดฆ่าแมลงไว้ฉีดไล่กรณีที่มีสัตว์มีพิษเข้ามา หากต้องเดินฝ่าน้ำออกไปควรใช้ไม้ตีน้ำให้กระจายเพื่อให้สัตว์ที่อาจอยู่บริเวณนั้นตกใจและหนีไป ทั้งนี้ หากถูกปลิงดูดให้บีบมะนาวหรือมะกรูดลงไปที่ตัวปลิง เพราะจะทำให้ปลิงรู้สึกระคายเคืองและหลุดออกไป กรณีที่ถูกสัตว์มีพิษกัดให้ล้างแผลด้วยน้ำต้มสุกและเช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล จากนั้นหาทางไปโรงพยาบาลทันที

18.เตรียมทางหนีทีไล่เพื่อออกจากบ้าน ในกรณีที่จำเป็นต้องอพยพออกนอกพื้นที่ เพื่อให้สมาชิกในบ้านได้รับความปลอดภัยมากที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น