ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เชื่อแน่ว่า คนเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร หากใครได้ไปเดินตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต รายใหญ่จนไปถึงรายเล็ก ก็คงจะต้องพบภาพประชาชนยกขบวนแห่เข้าไปซื้อสินค้ากันจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำดื่ม อาหารกล่องสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋องต่างๆ ตลอดจนเครื่องปรุงรส หรือแม้แต่สินค้าจำเป็นอย่างเช่นไฟฉาย ถ่านไฟฉาย ผ้าอนามัย เรียกว่าสินค้าเกลี้ยงไปจากชั้นวางของโดยปริยาย
ไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น แม้กระทั่งบ้านเรือน ร้านค้า ที่อยู่ติดริมถนน หรือที่อยู่ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ก็เริ่มที่จะก่อปูน ก่ออิฐ นำเอากระสอบทราย จำนวนมาก มาเสริมเป็นแนวกั้นหน้าบ้านของตัวเอง เรียกว่าทำเอาสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ตามร้านต่างๆ หมดสต๊อกไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนภายในเวลานี้
และนี่คงจะสะท้อนปรากฏการณ์ได้เป็นอย่างดีของคนเมืองหลวงอย่าง ประชาชนกรุงเทพฯ ถึงอาการตื่นตระหนกกับวิกฤตน้ำท่วม ที่ได้เกิดขึ้นกระหน่ำซ้ำประเทศไทย อย่างไม่มีท่าทีว่าจะลดละเกือบทั่วทุกจังหวัด ซ้ำร้ายก็คือมหันตภัยน้ำท่วมได้ลุกลามเข้าใกล้พื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ไข่ในหิน” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ภาพความตื่นตระหนกของคนกรุงเทพ ชั่วโมงนี้ดูเหมือนว่าก็ไม่ได้แตกต่างจากความเป็นจริงไปเสียเท่าใดนัก เพราะสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ลุกลามกระหน่ำ "เมืองหน้าด่าน" อย่างจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีอย่างหนัก
โดยที่ จังหวัดปทุมธานี สถานการณ์น้ำท่วมได้ทำให้ประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าว ต.บ้านปทุม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้พังลง เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา โดยมีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลเชียงรากน้อย เชียงรากใหญ่ บ้านงิ้ว และบ้านปทุม และน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก และมีแนวโน้มว่าจะขยายกว้างขึ้นไปอีก
หรือที่ รังสิต น้ำเริ่มเอ่อล้นถนนเลียบคลองรังสิตประยูรศักดิ์และหมู่บ้านในหลายจุดแล้ว ซึ่งขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ได้ทยอยขนของขึ้นชั้น 2 แล้ว ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านริมคลองได้ระดมนำถุงทรายมากั้นทางเข้าหมู่บ้าน
ขณะที่ จังหวัดนนทบุรี ระดับน้ำเจ้าพระยาสูง แตะ 2.80 ม. ซึ่งใกล้เข้าสู่ระดับแนวกั้นน้ำเข้าไปทุกทีแล้ว ที่หากไม่มีแนวกระสอบทรายนับแสนกั้นเอาไว้ ประมาณการน้ำก็คงไม่ได้ต่างจากสถานการณ์ที่จังหวัดอยุธยา สำหรับบรรยากาศบริเวณท่าน้ำนนทบุรี มีฝนตกกระจาย เจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 5 ตัว คอยสูบน้ำออกจากพื้นที่ชั้นในลงแม่น้ำเจ้าพระยา
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศปภ. ยอมรับว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมปทุมธานี และนนทบุรี ที่ยากเกินจะควบคุมสถานการณ์แล้วนั้น ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า กรุงเทพฯ ชั้นในจะปลอดภัยจากอุทกภัยในครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องดูจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ พายุลูกใหม่ที่กำลังจะเข้ามา น้ำเหนือ และน้ำทะเลที่จะหนุนสูงสุด ในช่วงวันที่ 14-17 ตุลาคม และวันที่ 28-31 ตุลาคมนี้
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ออกมายอมรับแล้วว่ามีปัจจัยหลายๆอย่างที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้
กล่าวสรุปก็คือ ไม่ได้ต่างจากการสารภาพเลยว่า รัฐบาลไม่ได้พร้อมกับการรับมือปัญหาใหญ่จากน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยครั้งนี้ จนลุกลาม เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ประชาชนก็ยังคงต้องนั่งลุ้นด้วยใจระทึกไปจนถึงช่วงสิ้นเดือนตุลาคมกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้น้ำคืบคลานเข้าสู่เมืองหลวงอย่าง กรุงเทพ ก็เนื่องมาจากมวลน้ำขนาดใหญ่ที่ปล่อยออกจากมาเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมเป็นต้นมา ได้ล้นเกือบเต็มความจุของเขื่อนแล้ว ผนวกกับปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างหนักใต้เขื่อนไหลลงมาสู่พื้นที่ด้านล่างทำให้จังหวัดต่างๆเป็นแหล่งเกษตรกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จมมิดใต้บาดาล
ขณะเดียวกัน หากไม่นับวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้ทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระคงคา พระปางห้ามสมุทร ให้ช่วยลดความรุนแรงของน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯแล้ว
ทาง กทม.ได้มีแผนปฏิบัติการกรุงเทพมหานคร ในการรับมือมวลน้ำเหนือก้อนใหญ่ที่จะต้องผันลงสู่แม่น้ำเจ้ายา ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงน้ำทะเลหนุนที่คาดการณ์อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน ด้วยการระดมสถานีและเครื่องสูบน้ำ ระบายน้ำจากคูคลองต่างๆ ลงสู่พื้นที่รับน้ำทั้งหมด 21 จุด อาทิ บึงพระราม9 บึงมักกะสัน บึงสีกัน บึงสวนสยาม คลองสนามชัย เพื่อผลักดันให้น้ำลงสู่อ่าวไทยโดยเร็วที่สุด
โดยจะใช้ อุโมงค์พระรามเก้า- รามคำแหงเป็นอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ ระบายน้ำปริมาณมากกว่า 60 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือเท่ากับระบายออกจากสระน้ำขนาดมาตรฐาน ภายในเวลาไม่ถึงวินาทีจุดเริ่มต้นที่คลองลาดพร้าวเชื่อมคลองแสนแสบไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากอุโมงค์พระรามเก้าแล้ว ยังมีแผนระบายน้ำทางอุโมงค์จากซอยสุขุมวิท 42 ลงสู่สถานีสูบน้ำคลองเตยและยังมี 5 จุดระบายน้ำในซอยสุขุมวิท 36 สุขุมวิท 26 บึงมักกะสัน บึงพิบูลวัฒนา และบึงคลองเปรม
แต่ตามข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวก็คือ กรุงเทพอาจจะต้องเผชิญกับมวลน้ำมหาศาล ที่ถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ กำลังไหลลงมาจากภาคเหนือสมทบกับน้ำก้อนใหญ่ที่ขังอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มรับน้ำภาคกลาง อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี ในขณะที่ขีดความสามารถในการระบายออกอ่าวไทยทำได้วันละหลักร้อยล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
แปลไทยเป็นไทยก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำบอกว่า ปริมาณน้ำ 1,157 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีน้ำพุ่งออกจากเขื่อนภูมิพล ไปรวมกับแม่น้ำวัง ที่ไหลลงทางท้ายเขื่อนอีก 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วไปรวมกับแม่น้ำน่านที่มีแม่น้ำยมมาร่วมก่อนไหลไปนครสวรรค์อีกประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
เมื่อรวมกับที่นครสวรรค์ ซึ่งมีน้ำท่วมอยู่ก็จะรวมกันเป็นจำนวนสูงถึง 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวนน้ำ 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่นครสวรรค์นั้นขนาดน้องๆ น้ำท่วมปี พ.ศ.2485 ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่นครสวรรค์เท่ากับ 6,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปีนั้น ทำเอาคนกรุงเทพฯ ต้องพายเรือเล่นกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
ดังนั้นแล้ว จึงอย่าได้แปลกใจ หากทางกทม. จะออกมาเตือนว่า พื้นที่ชั้นใน กทม.จากการสำรวจพบว่า มี 15 พื้นที่เป็นจุดอ่อนและเสี่ยงต่อน้ำท่วม หากน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน ก็เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมได้ เพราะกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ง่ายต่อน้ำท่วมขัง ได้แก่ 1.เขตสาทร ย่านถนนจันทร์ เซนต์หลุยส์ สาธุประดิษฐ์ 2.เขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ช่วงคลองสามเสน-คลองบางซื่อ 3.เขตพระโขนง ถนนสุขุมวิท จากคลองพระโขนง-ซอยลาซาล 4.เขตวัฒนา ซอยสุขุมวิท 39 และ 49 5.เขตวังทองหลาง ถนนลาดพร้าว จากคลองลาดพร้าว-ห้างเดอะมอลล์ 6.เขตบึงกุ่ม ถนนนวมินทร์ จากคลองดอนอีกา-แยกถนนประเสริฐมนูกิจทั้งสองฝั่ง 7.เขตดินแดง ถนนรัชดาภิเษก หน้าห้างโรบินสัน 8.เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก แยกลาดพร้าว 9.เขตราชเทวี ถนนเพชรบุรี จากถนนบรรทัดทอง-แยกราชเทวี 10.เขตราชเทวี ถนนนิคมมักกะสัน 11.เขตราชเทวี ถนนพระรามที่ 6 หน้าตลาดประแจจีน 12.เขตบางแค ถนนเพชรเกษม ซอย 63 (ซอยวัดม่วง) 13.เขตยานนาวา ถนนเย็นอากาศ จากถนนนางลิ้นจี่- ซอยศรีบำเพ็ญ 14.เขตประเวศ ถนน ศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาสาด-คลองตาช้าง 15.เขตพระนคร ถนนสนามไชยและถนนมหาราช
ขณะเดียวกัน นาทีนี้สำหรับคนกทม. คงจะไม่มีสิ่งใดดีไปกว่าให้เตรียมรับมือให้พร้อมหรือเตรียมขนข้าวของเอาไว้ให้พร้อม หรือขนไปไว้ในที่ปลอดภัยไว้ก่อนเพื่อความไม่ประมาท แม้จะดูเหมือนตื่นตระหนกเกินเหตุก็จำเป็นต้องทำ ซึ่งจะไม่ให้ประชาชนหมดความไว้ใจไปได้อย่างไร เมื่อทั้งเกาะเมืองอยุธยา โรงงานอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาลก็ยังต้องพังพินาศมากับตา อีกทั้งเขตใจกลางเมืองนครสวรรค์ที่เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นในมาถึงตอนนี้ก็ล่มไม่เป็นท่าไปแล้วอีกเช่นกัน
เพราะหากขืนอย่าไปเชื่อคำยืนยันของทางการ ที่เล่นบทพลิกลิ้นรายวัน บ้างก็ให้สัมภาษณ์ว่ารับมือน้ำไหวบ้าง วันต่อมาก็ออกมายอมรับว่ากันไม่ไหวไปเสียอย่างนั้น จึงอย่าได้แปลกใจประการใด หากจะเห็นภาพประชาชนคนกรุงตื่นกลัวสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้
นอกจากนี้ยังมีความเป็นจริงที่น่ากลัวก็คือ หากปล่อยให้น้ำน้ำเจาะเข้าพื้นที่ชั้นในของ กทม.สำเร็จเพียงจุดเดียว พลังมหาศาลของน้ำจะแหกเข้าท่วมกรุงเทพฯชั้นในกลายเป็นเมืองบาดาลภายในไม่กี่ชั่วโมง เปรียบก็คือ กทม.จะเกิดปรากฏการณ์ที่ระบายน้ำออกทะเลไม่ได้ เพราะท่อระบายน้ำดันกลับ
ดังนั้น เวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลที่นอกจากจะต้องงัดมาตรการตั้งรับสุดฝีมือเท่าที่จะพอมีอยู่ กันไม่ให้น้ำท่วม พื้นที่ไข่แดง ของประเทศแล้ว มาถึงตอนนี้แล้วรัฐบาลควรยอมรับความจริงและควรบอกความจริงให้ประชาชนเพื่อเตรียมรับมือวิกฤตที่จะต้องเผชิญ
ยิ่งเมื่อได้ฟังประโยคเด็ดจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ที่กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า “ผมไม่ใช่ขงเบ้งที่จะหยั่งรู้ฟ้าดินได้” ก็ยังทำให้หัวใจของคนกรุงเวลานี้วังเวงยิ่งนัก