xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แก้3 ล้านบริจาคได้ “เด็จพี่”หัก ส.ส.หัวละหมื่นช่วยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 ต.ค.) นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย วันที่ 11 ต.ค.นี้ ตนจะเสนอประธานพรรคและ หัวหน้าพรรคให้หักเงินเดือน ส.ส. และรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทย เบื้องต้นจะเสนอ หักคนละ 10,000 บาท เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตามเบื้องต้น ได้ปรึกษาส.ส.ในพรรคแล้วส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วย และตนก็จะเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ต.ค.ด้วย อย่างไรก็ตามยังไม่ได้นำไปหารือกับประธานวิปรัฐบาล เพื่อไปประสานกับวิปพรรคร่วมอื่น ๆรวมทั้งพรรคฝ่ายค้านด้วย

**“วิปรบ.” เมิน หักเงินเดือนบอกไม่เวิร์ค
เวลา 13.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงภายหลังการประชุมวิปรัฐบาล ว่า ได้ประสานให้ส.ส.ในเขตจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหรือได้รับผลกระทบเพียงเบาบาง ไปช่วยเหลือในพื้นที่มีผลกระทบอยู่ โดยทำการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยในประชุมได้มีกานำเสนอประเด็นเรื่องการหักเงินเดือน ส.ส. เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แต่เห็นว่ายังติดขัดเรื่องของกระบวนและวิธีการต่างๆ รวมทั้งอาจล่าช้าไม่ทันการณ์ เพราะกว่าจะถึงสิ้นเดือนก็คงจะอีกนาน โดยคาดว่าน่าจะมีการเสนอให้ประชุมสภาในวันที่ 12 ต.ค. นี้ แต่คิดว่าการช่วยเหลือน่าจะเป็นการบริจาคทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการหักเงินเดือน อีกทั้งการบริจาคเงินเดือนอาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนดว่าห้ามส.ส.บริจาคเงินเกิน 3,000 บาท แม้ล่าสุดจะมีข่าวว่าประธานกกต.ได้ลงนามแก้ไขแล้ว แต่ก็ต้องดูให้รอบคอบก่อน
“วันนี้ต้องเข้าใจว่าส.ส.ส่วนใหญ่ก็อยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย จะต้องลงไปช่วยเหลือด้วยตนเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเรื่องเงิน สิ่งของก็ต้องทำกันอยู่แล้ว ดังนั้นการบริจาคเงินเดือนเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ส่วนการที่ส.ส.ฝ่ายค้านจะบริจาคเงินช่วยเหลือนั้น ต้องอย่าลืมว่าส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ส.ส.ในรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ฝ่ายค้ายจะทำก็ถือเป็นเรื่องดี คงไม่ใช่เรื่องเสียหน้าอะไรที่รัฐบาลจะเลือกทำอีกแบบหนึ่ง นอกจากนี้ ในที่ประชุมวิปฯยังเสนอให้มีการหักเงินเดือนข้าราชการด้วย แต่ผมเห็นว่ามันไม่ดี เที่ยวไปจี้บอกให้คนนั้นคนนี้ทำ แค่กระตุ้นเตือนเฉยๆก็พอ ไม่จำเป็นต้องไปวางหลักเกณฑ์อะไร”นายอุดมเดช กล่าว

**สว.รุมจวกเด็กพี่ อ้างบริจาคแล้ว
นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ในฐานะรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วย โดยเชื่อว่าไม่ทางที่ ส.ว.จะร่วมในการบริจาคเงิน เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ส.ว.ก็ได้ร่วมกันจัดรายการ “ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม” ผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 โดยได้รับยอดเงินบริจาคกว่า 36 ล้านบาท ส่วนตัวก็ได้ร่วมบริจาคไป 2 หมื่นบาท และเชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมบริจาคอีกจำนวนมาก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมากกว่าที่จะมาเรี่ยไร ส.ส.และ ส.ว.คนละ 1 หมื่นบาท เพราะในส่วน ส.ว. 149 คน ก็จะได้เพียง 1.49 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งที่ผ่านมาทางวุฒิสภาได้ดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาก เช่น การสนับสนุนจัดหาเรือเล็กและเรือใหญ่ จำนวน 200 ลำ ให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้ว โดยลำดับต่อไปจะมีตั้งคณะกรรมการจำนวน 7 คน โดยมี นางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นประธาน เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินที่ได้รับการบริจาค 36 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประภัยต่อไป โดยเบื้องต้นจะมีการนำเงินวันละ 1 แสนบาท เพื่อจัดซื้อของสด และไปเปิดโรงครัวทำอาหารเลี้ยงประชาชนที่ จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธารนนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน เพราะเห็นว่าการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารมากกว่า และอยากให้รัฐบาลเร่งรัดมาตรการต่างๆออกมาให้รวดเร็วกว่านี้ แม้จะเห็นด้วยกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล แต่หลายส่วนก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อย่างการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ที่วันนี้ประชาชนไม่แน่ใจว่าข้อมูลของหน่วยงานต่างๆถูกต้องหรือไม่ และรัฐบาลควรมองในภาพกว้าง ให้มีการแก้ไขกฎหมายหรือจัดตั้งกนมหรือกระทรวงขึ้นมาดูแลเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน จะมีประโยชน์มากกว่าการช่วยเหลือเยียวยาที่ทำเป็นประจำทุกปี ในการมอบเงินช่วยเหลือ หรือนำไปซ่อมถนนหนทางนั้น ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะมีแนวโน้มว่าปัญหาจะใหญ่ขึ้นๆทุกปี

**กกต.รับลูกแก้กม. บริจาคหลักล้าน
นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการกกต.กิจการพรรคการเมือง เปิดเผยว่า นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ลงนามประกาศกกต.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ตามปกติประเพณีของพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกซึ่งเป็น ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2554 ตามที่ที่ประชุมกกต.มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้ยกเลิกประกาศฯดังกล่าวฉบับปี 2551 และเห็นชอบประกาศฯฉบับใหม่ โดยให้ส่งประกาศฯไปยังสำนักประกาศิตเพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว
ทั้งนี้ประกาศฯฉบับดังกล่าวนั้นได้มีการแก้ไขในเรื่องการให้เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ตามปกติประเพณีของพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกซึ่งเป็น ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากเดิม ที่กำหนดให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกซึ่งเป็น ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถบริจาคทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ในแต่ละโอกาส ไม่เกิน 3 พันบาท หากบริจาคเกินวงเงินดังกล่าว จะต้องนำเงินส่วนที่เกิน 3พันบาท มารวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่าย ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น ก็แก้ไขปรับเพิ่มวงเงินโดยหากเป็นการบริจาคภายในเขตเลือกตั้งของตนในแต่ละโอกาสให้ได้ไม่เกิน 3 พัน บริจาคให้ภายเว้นแต่การให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยพิบัติเช่น อุทกภัย วาตภัย ให้ได้ไม่เกิน 3 แสนบาท ถ้าเกินวงเงินดังกล่าวก็ต้องนำไปร่วมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนพรรคการเมืองบริจาคได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากส.ส.ในระบบเขตเลือกตั้งหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการที่ประสงค์จะบริจาคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติที่อยู่นอกเขตเลือกตั้งของตน ก็สามารถบริจาคในแต่ละโอกาสได้เกินว่า 3 แสนบาท โดยไม่ต้องนำไปคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ทั้งการบริจาคดังกล่าวต้องไม่เป็นไปเพื่อหวังผลการเลือกตั้งทางการเมือง

**อดีตติดปัญหาบริจาคเกิน3พันบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้นนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่ายังไม่มีแนวคิดการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการให้ส.ส.บริจาคเงินเดือน โดยอ้างว่าขณะนี้ทราบว่า ส.ส.แต่ละคนก็ย่ำแย่พอสมควร
สำหรับการหักเงินเดือน ส.ส. นั้นไม่ได้เป็นครั้งแรก เพราะอุทกภัยใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมาที่ช่วงนั้นพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นอ้างปัญหาในเรื่องการบริจาคเงินของ ส.ส.ที่ระเบียบของ กกต.ระบุว่า ส.ส.ห้ามบริจาค หรือรับเงินเกิน 3,000 บาท
รายงานแจ้งว่า ครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล ส.ส.วิปรัฐบาล มีมติที่จะขอความร่วมมือ ส.ส.ให้ร่วมสมทบเงินโดยการหักจากเงินเดือนคนละ 3,000 บาท ส่วน ผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาประจำตัว ส.ส. คนละ 1,000 บาท ในส่วนของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา จำนวน 35 ชุด ก็จะขอความร่วมมืองดรับเบี้ยประชุม เบี้ยรับรองไปต่างจังหวัด โดยครั้งนั้นได้เงินประมาณ 7-8 ล้านบาท
ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เคยมีมติกรณีที่พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยว่าจะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 98 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 หรือไม่ โดยมีมติเสียงข้างมากว่าการบริจาคเงินหรือสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ถือเป็นการให้ตามประเพณี ตามประกาศ กกต.ว่าการให้เงินหรือทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ ส.ส.แต่ละโอกาส ถ้ามีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท สามารถทำได้ แต่หากบริจาคเกินกว่า 3,000 บาท จะต้องนำส่วนที่เกินไปแสดงรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตาม มาตรา 50 ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.
สำนักกฎหมายและคดีของ กกต.เห็นว่าในเรื่องนี้จะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป แต่อย่างไรก็ดีไม่ถือว่าเป็นโทษทางอาญาหรือถึงขั้นต้องยุบพรรค
อนึ่ง การพิจารณาของ กกต.ในกรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากประธานคณะกรรมมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือด่วนที่สุด มายัง กกต.กรณี ส.ส.บริจาคเงินหรือสิ่งของซึ่งคิดเป็นมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามโครงการ "สภาร่วมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม" ปี 2553จะเข้าข่ายการกระทำอันเป็นความผิดต่อกฎหมายการเลือกตั้งหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น