xs
xsm
sm
md
lg

ศักยภาพต่ำทำงานใหญ่ : เหตุให้ภาวะผู้นำเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ ถ้าเป็นงานที่ทำเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม และมีสายบังคับบัญชาในการสั่งการ (Line of Command) อย่างชัดเจน ผู้ที่ทำงานในลักษณะนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ผู้นำ หรือผู้สั่งการ

2. ผู้ตาม หรือผู้รับคำสั่ง

ในบุคคล 2 ประเภทนี้ ผู้นำถือว่าสำคัญที่สุดเพราะเป็นผู้กำหนดทิศทางในการทำงาน และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้คอยควบคุมมิให้ผู้ตามเดินออกนอกทิศทางที่ตนเองกำหนดไว้

ในหลักการจัดการหรือหลักการบริหารองค์กรได้แบ่งผู้นำออกเป็น 3 ระดับ โดยที่แต่ละระดับมีหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างออกไป ดังนี้

1. ระดับสูง มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการพิจารณากำหนดนโยบายบริหารองค์กร

2. ระดับกลาง มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการนำนโยบายมาจัดทำแผนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

3. ระดับต้นหรือระดับปฏิบัติการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการนำแผนมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลสูงสุด

ส่วนผู้ตามหรือผู้รับคำสั่ง ถึงจะมีความสำคัญในแง่ของผู้ดำเนินการ แต่เมื่อเทียบกับผู้สั่งการแล้วถือว่าด้อยกว่า

ดังนั้น ผู้นำในทุกระดับจะต้องมีความรอบคอบ และรอบรู้ในงานที่ตนเองรับผิดชอบ ทั้งในด้านการสั่งการ และติดตามผลงานเพื่อเป็นหลักประกันว่างานที่ได้สั่งการไปได้รับการตอบสนองด้วยดีจากผู้ตามหรือผู้รับคำสั่ง

ด้วยเหตุนี้ ผู้นำโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำระดับสูงจำเป็นต้องมีความรอบรู้ในงานแต่ละด้านที่ได้สั่งการไป จึงจะเป็นที่เชื่อและศรัทธาของผู้ตาม

นอกจากจะต้องมีความรู้ในงานแล้ว ผู้นำตามนัยแห่งคำสอนในทางพุทธศาสนาจะต้องมีธรรม 5 ประการที่ทำให้เป็นคนกล้าหาญที่เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม คือ

1. ศรัทธา อันได้แก่ความเชื่อที่มีเหตุผล เชื่อมั่นในหลักการที่ทำ และเชื่อกฎแห่งกรรมที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

2. ศีล อันได้แก่กฎเกณฑ์หรือกติกาในการควบคุมพฤติกรรมมิให้กระทำชั่วทั้งทางกาย และทางวาจา

3. พาหุสัจจะ อันได้แก่ความเป็นผู้รอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ เป็นอย่างดี

4. วิริยารัมภะ อันได้แก่การเริ่มลงมือทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอย และทอดทิ้งกลางคัน

5. ปัญญา อันได้แก่ ความรอบรู้ ความเข้าใจเหตุและผล สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก มีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์

ทำไมจึงต้องมีความรู้ และมีความเข้าใจในงานที่ตนเองรับผิดชอบ ทั้งต้องประกอบด้วยเวสารัชชกรณธรรม และถ้าไม่มีจะเกิดผลเสียอะไร

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นแห่งปัญหานี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านถามตัวท่านเองว่า ถ้าท่านเป็นผู้ตามหรือผู้รับคำสั่ง ท่านต้องการผู้ตามประเภทไหน โง่หรือฉลาด เป็นคนดีหรือเป็นคนเลว ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนจะตอบตรงกันว่าต้องการผู้นำที่เป็นคนฉลาด และเป็นคนดีมี ความสามารถ มีความรอบรู้ในทุกๆ เรื่องที่ตนเองรับผิดชอบในการสั่งการให้ท่านทำ จึงจะสามารถร่วมกันทำงานให้บรรลุผลได้

ในทางกลับกัน ถ้าท่านถามผู้นำว่าต้องการผู้ตามประเภทไหน โง่หรือฉลาด ถ้าผู้นำคนที่ว่านี้เป็นคนดีคำตอบก็จะเป็นทำนองเดียวกัน คือ ต้องการผู้ตามที่ฉลาดและเป็นคนดี ยกเว้นผู้นำเป็นคนไม่ดี และต้องการทำสิ่งที่ไม่ดีเท่านั้นที่ต้องการผู้ตามเลวเพื่อทำความเลวตามที่ตนเองต้องการ เข้าทำนองที่ว่าผู้นำเป็นอสูร ลูกน้องหรือผู้ตามต้องเป็นอสูรด้วยจึงจะไปด้วยกันได้ดี

สำหรับประเด็นที่ว่า ถ้าผู้นำไม่รอบคอบและไม่รอบรู้ในงานที่ตนรับผิดชอบ ทั้งไม่ใส่ใจใฝ่ศึกษา แต่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ ผู้ตามที่มีผู้นำเยี่ยงนี้จะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้นำประเภทนี้ คำตอบก็คือไม่ศรัทธาในผู้นำ และในบางรายอาจไม่ทำตามคำสั่ง นี่คือจุดทำให้ผู้นำเสียภาวะของการนำ และถ้าได้รับคำสั่งในลักษณะนี้เรื่อยๆ สุดท้ายจะจบลงด้วยไม่เชื่อฟัง และกระด้างกระเดื่องต่อผู้นำของตนเองมากขึ้นทุกที

ถึงแม้ในความเป็นจริงผู้ตามที่ดีและมีความสามารถไม่ต้องการผู้นำที่ไม่ดี ทั้งไม่มีความสามารถ แต่ในโลกของปุถุชนคนมีกิเลสอันเป็นโลกสมมติ จะมีผู้ตามสักกี่คนสามารถเลือกผู้นำได้ตามที่ตนเองต้องการในสังคมที่ถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม และเงินซื้อทุกอย่างได้แม้กระทั่งความเป็นผู้นำประเทศ ดังที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในประเทศที่ด้อยพัฒนา หรือแม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทยด้วย

ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาที่ว่าคนโง่ที่มีวาสนา ย่อมดีกว่าและเหนือกว่าคนฉลาดที่ไม่มีโอกาสจะยังเป็นจริงอยู่แม้กระทั่งทุกวันนี้ และสำหรับประเทศไทยจะเป็นจริงยิ่งขึ้นในขณะนี้ เมื่อประเทศได้ผู้นำที่ไม่มีความพร้อมจะเป็นผู้นำ แต่จำเป็นต้องเป็นด้วยภารกิจทางการเมืองที่ตนเองปฏิเสธได้ยาก ดังที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบอยู่ในเวลานี้ ทั้งนี้จะเห็นได้ในกรณีเกิดความผิดพลาดในการให้สัมภาษณ์ และพูดผ่านสื่อหลายครั้งหลายคราดังต่อไปนี้

1. ในกรณีพูดถึงหญ้าแฝก ซึ่งเป็นพืชที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ปลูกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินจากการกัดเซาะของกระแสน้ำ แต่นายกฯ พูดถึงกรณีเดียวกัน แต่บอกว่าปลูกหญ้าแพรกแทนที่จะเป็นหญ้าแฝก

2. ในกรณีที่ต้องใช้เรือดันน้ำเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลเร็วขึ้น กลับพูดถึงเรือดำน้ำว่าได้อนุมัติไปแล้ว ทำเอานักข่าวที่ถามเรื่องเรือดันน้ำงงไปตามๆ กัน

เพียง 2 ตัวอย่างที่ยกมาเป็นการบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าไม่รอบรู้ และไม่รอบคอบในงานที่ตนเองรับผิดชอบ เพราะทั้ง 2 อย่างที่พูดถึงที่เกิดผิดพลาดมีความแตกต่างอย่างชัดเจนทั้งภาษาและเนื้อหา ถ้ามีความรอบคอบมากกว่านี้ ความผิดพลาดทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนในฐานะคนทำสื่อก็รู้สึกเห็นใจและให้อภัยในความไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำ ทั้งได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่รู้สึกผิดหวังต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

แต่ก็ออกจะแปลกใจไม่ได้ว่า ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีปกติแล้วจะมีที่ปรึกษา และแวดล้อมไปด้วยคนที่เรียกได้ว่าเป็นผู้รอบรู้ในแต่ละด้านเป็นอย่างดี ทำไมจึงปล่อยให้นายกรัฐมนตรีมีความผิดพลาดชนิดที่เรียกได้ว่า ปล่อยไก่ตัวเบ้อเร่อ ออกมาได้ และถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้ศรัทธาและความน่าเชื่อถือในตัวผู้นำลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งกว่านี้ ถ้านายกรัฐมนตรียังคงตอบปัญหาในลักษณะซ้ำซากด้วยถ้อยคำที่ว่า ยังไม่ได้รับรายงาน ยังไม่รู้รายละเอียดต้องไปศึกษาดูก่อน ขอให้ถามผู้เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเลี่ยงไม่ตอบ เช่นในกรณีที่ ส.ว.ถามเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ด้วยแล้ว บอกได้ว่าไม่มีความพร้อมที่จะเป็น แต่จำเป็นต้องเป็นเพื่ออะไรนั้นคิดว่าผู้อ่านทุกท่านเข้าใจดีอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบาย
กำลังโหลดความคิดเห็น