xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษกรรมกับการอภัยโทษ

เผยแพร่:   โดย: ทวี ชูทรัพย์

สองสามวันมานี้ มีผู้คนสนใจกันมากเกี่ยวกับเรื่องการอภัยโทษและนิรโทษกรรม มีข่าวเล่าลือว่า อีกสองสามเดือนข้างหน้าจะมีงานใหญ่ มีการพระราชทานอภัยโทษ ปล่อยนักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ออกไปเป็นจำนวนมาก บ้างก็ว่าอาจมีการนิรโทษกรรมออกควบคู่กันไปด้วย

นิรโทษกรรมคืออะไร

การนิรโทษกรรม คือ การทำให้ผู้ซึ่งจะต้องรับโทษในความผิดซึ่งได้กระทำไว้ หลุดพ้นไป โดยไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษ ทั้งทางแพ่งและอาญา

นิรโทษกรรมกับการอภัยโทษแตกต่างกันอย่างไร

1) ในด้านอำนาจของการดำเนินการ

นิรโทษกรรมต่างกับการอภัยโทษตรงที่นิรโทษกรรมเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ที่จะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นมาประกาศบังคับใช้ การอภัยโทษเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะพระราชทานให้แก่นักโทษที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่

2) ในด้านกฎเกณฑ์การดำเนินการ

นิรโทษกรรมนั้นให้แก่ผู้กระทำผิดทั้งปวงอย่างเสมอหน้ากัน เป็นเรื่องที่ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดไปเลย โดยไม่จำกัดว่าจะได้มีการดำเนินคดีมาก่อนแล้วหรือไม่ การนิรโทษกรรม จะต้องมีการตราพระราชบัญญัติตามขั้นตอนของการออกกฎหมาย ยังไม่เคยปรากฏว่ามีการนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี เพราะฝ่ายนิติบัญญัติก็จะไม่ไปก้าวก่ายกับการดำเนินการตามกฎหมายของผู้มีอำนาจฝ่ายอื่น

การพระราชทานอภัยโทษมีทั้งเป็นรายบุคคล และเป็นหมู่คณะ ด้วยกฎเกณฑ์ที่เสมอภาคกัน และเป็นเรื่องของการปล่อยตัว หรือลดโทษ

การพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลต้องมีผู้ถวายฎีกา เริ่มประมวลเรื่องราวจากเรือนจำที่คุมขังนักโทษอยู่ตามกฎระเบียบต่างๆ ผ่านไปสู่การพิจารณาของกรมราชทัณฑ์ที่มีเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายการใหญ่ทำงานอยู่ แล้วเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาถวายความเห็นประกอบพระบรมราชวินิจฉัย

การพระราชทานอภัยโทษและนิรโทษกรรมนำมาใช้อย่างไร

การนิรโทษกรรมเกิดขึ้นภายหลัง จะเริ่มแต่เมื่อไรไม่ปรากฏชัด ตามหลักการจะนำมาใช้ประกอบนโยบายการปกครองเป็นหลัก เช่น เคยมีประกาศ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ผู้มีอาวุธปืนอยู่ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต (เรียกกันว่าปืนเถื่อน) เปิดโอกาสให้ผู้ที่ครอบครอง หรือมีปืนเถื่อนอยู่ เอาไปมอบให้แก่ทางราชการเสีย โดยไม่ต้องมีความผิด  ถือว่าได้ประโยชน์มาก

การนิรโทษกรรม มักจะมีเหตุผลทางการเมืองอยู่ เช่น หลังการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือการปฏิรูปแล้ว ก็มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ทำการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือการปฏิรูป (สุดแล้วแต่จะเรียกกัน) ให้พ้นผิดจากโทษฐานกบฏ หรือฐานอื่นๆ  

การพระราชทานอภัยโทษในประเทศไทย มีมาแล้วแต่โบราณกาล การพระราชทานอภัยโทษโดยมีประกาศพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เรียกกันในหมู่ผู้ต้องขังว่า “อภัยหมู่” มีในวโรกาสสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโอกาสสำคัญที่มีการเฉลิมฉลองของประเทศ มีประโยชน์มากมายตามที่ทางราชการเคยชี้แจงไว้ก่อนแล้ว

การอภัยโทษนั้น เป็นส่วนหนึ่งในหมวดการปล่อยตัวผู้ต้องโทษตามระบบของกระบวนการยุติธรรม (มีการรอการลงโทษ การลดโทษ การพักการลงโทษ และการอภัยโทษ) นำมาใช้เพื่อประโยชน์ 2 ประการ

1. เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม (Miscarriage หรือ Error of Justice) ซึ่งอาจตั้งต้นมาตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์

2. เพื่อลดความรุนแรงแข็งกร้าวของกฎหมาย (To break rigidity of laws) ซึ่งตามความเป็นจริงมิได้เกิดประโยชน์อะไรแก่สังคม

ในบางประเทศเมื่อมีนักโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกินความจุปกติมากเกินไป ประมุขของประเทศก็จะประกาศการอภัยโทษให้แก่นักโทษด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น ปล่อยนักโทษบางประเภท หรือลดโทษจำคุกให้แก่นักโทษบางประเภท ทำให้ลดจำนวนนักโทษในเรือนจำอย่างเป็นผล แต่บางประเทศก็มีกฎหมายให้อำนาจผู้บัญชาการเรือนจำ ปล่อยนักโทษไปก่อนกำหนดตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง

ที่มา : บทความจากศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย www.thaiworld.org
กำลังโหลดความคิดเห็น