เมื่อสองวันก่อนวันที่ 6 ตุลาคม ผมนึกยังไงไม่รู้หยิบเครื่อง iMac สีเทา รุ่นประมาณปี2000 เครื่องเก่าสมัยยังเป็นเว็บมาสเตอร์ของ MGR online ขึ้นมาจากมุมห้อง เครื่องนี้ถูกหมกอยู่ที่ซอกนั้นอยู่ร่วมสิบปี ผมหยิบขึ้นมาวางบนตู้หนังสือในห้องทำงาน ลองเสียบเมาส์ แล้วก็เปิดเครื่อง ไม่น่าเชื่อว่ามันยังทำงานเป็นปกติเหมือนครั้งสุดท้ายที่ผมปิดเครื่องและยกมาจากตึกบ้านพระอาทิตย์แล้วเอามาวางเป็นที่ระลึกในห้องทำงานใหม่ที่บ้านเจ้าพระยา
ผมใช้เวลาครึ่งวัน เปิดโน่นเปิดนี่ในเครื่อง iMac เครื่องนั้น พร้อมกันนั้นก็จำได้ด้วยว่า นี่เป็นเครื่อง iMac ตัวที่สามของผม เครื่องแรกสีฟ้าอ่อน เครื่องที่สองสีแดง และเครื่องที่สามคือเจ้าสีเทาตัวนี้ สีนี้หาไม่ค่อยเจอแล้ว เนื่องจากน่าจะเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนเปลี่ยนหน้าตา จึงไม่น่าจะมีใครซื้อมาใช้ แม้ว่าจะบอกว่ามีคุณสมบัติเหนือกว่ารุ่นสีลูกกวาด
ผมได้เครื่องตัวนี้มาก็เพราะสมัยนั้นเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่ได้รับมอบหมายนโยบายจากคุณสนธิให้มองไปยังการนำเสนอข่าวรูปแบบใหม่ เว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุที่ผมได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาเว็บไซต์ ควบคู่ไปกับการวางระบบกระทะข่าว ซึ่งก็คือระบบเก็บข้อมูลพื้นฐานของเว็บผู้จัดการออนไลน์ ที่ยังคงใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ผมจึงถือโอกาสเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองให้ใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะทำให้ และแน่นอน เครื่องเก่าก็ส่งต่อไปยังส่วนงานอื่นๆ (555)
ผมเจอข้อมูลต่างๆ มากมายใน iMac เครื่องเก่า เปิดอ่านเอกสารอย่างสนุกสนาน เปิดดูรูปอย่างตื่นตาตื่นใจ แต่สิ่งที่ทำให้นึกถึงเรื่องราวมากมายราวกับเป็นนิทานย้อนยุคก็คือเอกสารที่ทำโต้ตอบกับคุณสนธิเรื่องของการปฏิวัติรูปแบบการทำงานของสื่อหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
ในเนื้อหาเอกสารฉบับหนึ่ง จากเอกสารต่างๆ มากมายที่ผมค้นเจอ ก็คือวิธีการในการ “ปรับเปลี่ยน” ที่ผมได้รับมอบหมายนโยบายจากคุณสนธิ ว่าไว้ดังนี้
1. ตั้งกองบก.ออนไลน์รับพนักงานใหม่ เน้นการทำข่าวขึ้นเว็บอย่างเดียวโดยอาจนำบางส่วนลงในหนังสือพิมพ์(แต่ต้องผ่านการลงเว็บก่อน)
2. มีการปรับปรุงเรื่องข่าวเกาะติดสถานการณ์โดยตั้งส่วนงานมอนิเตอร์ข่าว ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นข้อมูลให้กับกองบรรณาธิการ โดยอีกส่วนหนึ่งจะดึงข้อมูลขึ้นไปเป็นข่าว Breaking News
3. ย้ายหน่วยงานโต๊ะข่าวชุมชนขึ้นเป็นหน่วยงานประสานงานกับกองบก.ออนไลน์ โดยจะเริ่มให้หน่วยงานนี้ทำข่าวป้อนขึ้นเว็บก่อน จากนั้นค่อยนำไปลงหนังสือพิมพ์
4. ตั้งกองบก.บันเทิงออนไลน์ขึ้นมาเพื่อทำข่าว+ข้อมูลบันเทิงลงเว็บ โดยป้อนข่าวส่งหนังสือพิมพ์ไปพร้อมๆ กัน
หากจะอ่าน 4 ข้อที่ว่าในตอนนี้ ใครต่อใครก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าหากคิดย้อนไปในสังคมไทยก่อนปี 2000 แล้วลองมาอ่าน 4 ข้อนี้ว่าดู ในขณะนั้น บอกได้เลยว่าคนอ่านจะคิดออกมาได้สองสามคำด้วยกัน เพ้อเจ้อ หรือไม่ก็หาเรื่องเสียตังค์เปล่าอีกแล้ว
ใครมันจะไปอ่านข่าวบนจอคอมพิวเตอร์?
สมัยนั้น นักข่าวออนไลน์ของผู้จัดการออกไปทำข่าวข้างนอก ขอสัมภาษณ์ผู้คน ไม่มีใครรู้จัก ถึงกับมีคนสงสัยว่าเป็น “นักข่าวผี” ที่มาแอบอ้างหรือเปล่า
ขณะที่เขียนเรื่องนี้ 6 ตุลา สตีฟ จ็อบส์ ได้เสียชีวิตลงในวัย 56 ปี ผมมีโอกาสเปิดเฟซบุ๊กไปเจอลิงค์ยูทูป ไปดูตอนที่สตีฟ จ็อบส์กล่าวปาฐกถาในงานรับปริญญาสแตนฟอร์ด เขาพูดถึง 3 เรื่องสำคัญที่ผ่านมาในชีวิตของเขา ผมสรุปสั้นๆ ว่า เรื่องแรก คือการมองย้อนอดีตไปแล้วพบว่าสิ่งต่างๆ ที่คนเราทำมานั้น มันเชื่อมต่อกันเป็นจุดๆ แล้วก็เกิดอะไรขึ้นสักอย่าง เรื่องที่สอง คือการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ที่คนเราอาจจะประสบกับความล้มเหลว แล้วก็ไม่ท้อถอยจนเจอพลังแห่งความรัก โดยรักและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงและก้าวไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า และ สุดท้าย เขาพูดถึงเรื่องความตาย และการคงอยู่ของคนในแต่ละวัน มุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและยืนหยัดไม่ท้อถอย
ผมนั่งดูจอ iMac เครื่องเก่า แล้วนึกย้อนไปสมัยนั้นถึง สตีฟ จ็อบส์ที่ก่อนหน้าถูกขับออกจากบริษัทแอปเปิลที่เขาสร้างมากับมือ ออกไปสร้างอาณาจักรใหม่ Next กับ Pixar แล้วย้อนกลับมาฟื้นฟูบริษัทแอปเปิลอีกครั้งในช่วงปี 1997 แล้วก็เปิดตัว iMac เครื่องแรกในปี 1998 ที่โฆษณาว่า “ดูที่ตูดของคอมเครื่องนี้สิ มันแจ่มกว่าด้านหน้าของคอมเจ้าอื่นๆ อีกแน่ะ” แล้วผมก็ผูกพันอยู่กับเจ้า iMac ตัวนั้นของสตีฟ จ็อบส์
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเป็นหน่วยงานแรกๆ ของเมืองไทย ที่เปลี่ยนระบบการทำงานด้วยเครื่องพิมพ์ดีดและระบบเรียงพิมพ์ไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันทั้งกอง บก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง Macintosh เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อแรกที่คุณสนธินำมาลงโต๊ะผู้สื่อข่าว พูดได้ว่าในเมืองไทยสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทแอปเปิล ตัวผมเข้ามาทำงานครั้งแรกเป็นนักข่าวสายการเมืองในปี พ.ศ.2535 เครื่องคอมพิวเตอร์บนโต๊ะผมนั้นคือ Macintosh Classic หลังจากที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ พอกลับมาทำงานที่ผู้จัดการในปี 2538 จากนั้นผ่านไปสามสี่ปี ผมเป็นคนแรกๆ ที่ได้ iMac หน้าตาเหมือนยานอวกาศมีสีสันสดใสมาประจำการบนโต๊ะทำงาน
มีคำกล่าวว่า i ที่นำหน้า Mac นั้น อาจจะหมายถึง internet และ individual อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสองอย่าง ในยุคก่อนปี ค.ศ. 2000 สมัยนั้นคือยุคเริ่มแรกของระบบอินเทอร์เน็ตที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในหมู่ประชาชนคนทั่วไป ในแวดวงสื่อสารมวลชนก็ตื่นเต้นเช่นกันกับระบบอินเทอร์เน็ต แทบทุกค่ายต่างพากันมีเว็บไซต์ของตัวเองปรากฏอยู่บนนั้น ผู้จัดการก็เช่นกัน เพียงแต่ผู้จัดการและสื่อฉบับอื่นๆ ในสมัยนั้น ต่างพากันแยกหน่วยงานด้านนี้ออกจากกองบรรณาธิการหลัก โดยบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการทำเว็บไซต์เป็นคนในสายไอที นำเอาไฟล์งานหลังจากที่ฝ่ายศิลป์จัดหน้าเสร็จ พอส่งไฟล์ไปโรงพิมพ์ก็มีม้าเร็วเอาไฟล์เดียวกันนั่นแหละ มาส่งสายงานดังกล่าว แล้วก็เอานำขึ้นเว็บไซต์ของแต่ละฉบับ เป็นเพียงแค่การย้ายที่อ่านจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ไปอ่านบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
ระหว่างนั้นเอง คุณสนธิ เกิดประสบปัญหาทางธุรกิจเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก เป็นโชคดีในโชคร้ายของชาวผู้จัดการที่คุณสนธิได้มีโอกาสกลับมานั่งประจำการเป็นนักหนังสือพิมพ์อีกครั้งที่ตึกเก่าของผู้จัดการ หลังจากที่เราจำเป็นต้องย้ายจากบ้านพระอาทิตย์ตึกใหม่อันโอ่โถงเพราะภาวะรัดเข็มขัด
คุณสนธิ จากนักธุรกิจระดับโลกกลับมาบ้านเก่า ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์เหมือนเดิม เหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้ๆ กับสตีฟ จ็อบส์ กลับคืนแอปเปิลมาให้กำเนิดเครื่อง iMac ยังไงยังงั้นเลย
ขณะนั้น ผมที่เป็นนักข่าวจำนวนน้อยที่หลงเหลือ จากจูเนียร์กลายเป็นซีเนียร์ เพราะบรรดารุ่นใหญ่กระจัดกระจายไปที่อื่นหมด ผมนั่งอยู่หน้าจอ iMac ที่หอบหิ้วมาจากบ้านพระอาทิตย์ครั้งยังอู้ฟู่ คุณสนธิที่กลับมาประจำตึกเก่าห้ำหั่นกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ยุคธารินทร์ นิมมานเหมินทร์กุมบังเหียนคุมเศรษฐกิจ ครั้งนั้น คุณสนธิและผู้จัดการเหนื่อยสายตัวแทบขาด บาดเจ็บถลอกปอกเปิก แต่เป็นครั้งที่ผมกับคุณสนธิใกล้ชิดกันมากที่สุดในฐานะเจ้านายกับลูกน้อง
เหตุการณ์ดำเนินต่อไป อยู่มาวันหนึ่ง ผมเงยหน้าจากเครื่อง iMac แล้วบอกคุณสนธิว่า ผมอยากทำเว็บไซต์พอร์ทัล+คอมมิวนิตีขึ้นมาสักเว็บนึง (สมัยนั้นใครๆ ก็บ้าเว็บพอร์ทัล) ทั้งๆ ที่ตอนนั้นสภาพการณ์ทางธุรกิจของผู้จัดการยังไม่ดีนัก แต่ผมมันก็ดันคิดการใหญ่ คุณสนธิก็เหมือนปกติที่ชอบให้โอกาสลูกน้องเสมอ แกนั่งเงียบฟัง ไม่พูดอะไร ทั้งๆ ที่เหมือนอยากจะพูดอะไรบางอย่างกับผม แต่ก็ยอมให้ผมทำงานควบไประหว่างดูแลหน้าการเมืองของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน กับคิดการใหญ่ในเรื่องเว็บไซต์ที่ครั้งนั้นได้ชื่อจากคุณสนธิมาว่า “ไทยเดย์ ด็อท คอม” ที่หลายคนคงแอบสงสัยชื่อบริษัทในตอนนี้ที่ทำสื่ออยู่ทั้งทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ และอื่นๆ ที่มาก็มาจากบริษัทเล็กๆ ที่คิดชื่อขึ้นมาทำเว็บนี่หล่ะครับ
หลังจากเดินหน้า “ไทยเดย์ ด็อท คอม” มาสักระยะ ในตอนนั้น เว็บไซต์ผู้จัดการยังอยู่ในส่วนของสายงานไอที เครื่อง iMac ผมก็เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ (ไล่ตามรุ่นใหม่ที่ออกมาแล้วโฆษณาว่าเร็วกว่า 555) ในช่วงเวลาประมาณนั้นเอง ผู้จัดการก็ยังไม่อยู่ในสภาวะที่เข้มแข็งเท่าไรนัก และในปี พ.ศ.2543 คุณสนธิก็ตกอยู่ในสถานะที่ศาลพิพากษาว่าล้มละลาย
ที่น่าประหลาดใจคือ ในขณะที่บริษัทอยู่ในสภาวการณ์อ่อนแอง่อนแง่น แต่ตัวคุณสนธิกลับเข็มแข็งขึ้น อยู่มาวันหนึ่ง คุณสนธิเรียกผมเข้าไปพบ และคุยกันยาว คุณสนธิทั้งดับฝันและจุดไฟกองใหม่ให้ในเวลาเดียวกัน โดยแกบอกกับผมว่า แนวทางการทำเว็บที่ผมวางแผนมานั้น “ผิดหมด” (ซึ่งผมมานึกภายหลังว่า แกคงนึกเช่นนี้อยู่ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้าไปบอกว่าจะทำเว็บ แต่แกยังไม่อยากที่จะทำลายจินตนาการแรกเริ่มของผมในตอนนั้น) แกเล่าคอนเซ็ปต์ค่อนข้างยาวว่า หลังจากนี้ (หมายถึงในตอนนั้น) โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร และสื่อมวลชนจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งผมจะไม่ลงในรายละเอียดมากนัก แต่ข้อสรุปที่ได้ในวันนั้นก็คือ หนึ่ง ข้อมูลคือพระเจ้า จงจำไว้ จะทำเว็บพอร์ทัลไปทำไม มันอยู่ได้ไม่นานหรอก เราเป็นสื่อ เราจะต้องทำเว็บคอนเทนท์ สอง จงรับมอบเว็บ manager ไป เปลี่ยนจากการขึ้นตรงต่อสายงานไอที ไปจัดการให้ประสานงานเป็นเนื้อเดียวกับกองบก.ให้จงได้ และวางรากฐานมันด้วยระบบกระทะข่าว (ที่คุณสนธิเคยคิดไว้ตั้งนานแล้วแต่ยังไม่เกิดขึ้นจริง)
ได้การบ้านมาในวันนั้น ผมก็กลับมาเคาะแป้น iMac (ตอนนั้นคาดว่าเป็นเครื่องรุ่นสีแดง อิอิ) ศึกษาข้อมูลต่างๆ กลับไปนั่งคุยกับคุณสนธิทุกเช้า รับฟังแนวทาง จากนั้นคุยกับคนอื่นๆ และก็ทำรายงานต่างๆ นำเสนอ ดังที่ผมเปิดอ่านเจอในเครื่องเก่าที่เล่าให้ฟังข้างต้น ระหว่างนั้นเอง ผมจึงเจรจาดึงตัวคุณปัจภัทร อังคสุวรรณ หรือคุณดีน มาจากเว็บชินนี่ (ของใครเอ่ย 555) คุณดีนนี่ก็คือคนที่จัดการรายเคาะไข่ใส่ข่าวอยู่กับผม คุณโสภณ องค์การณ์ และคุณแอน จินดารัตน์ ทุกวันพุธดึกๆ คนนั้นนั่นแหละ
ระหว่างนั้นคุณสนธิก็เดินหน้าสร้างทีมงานนักข่าวออนไลน์ขึ้นมา โดยมีผมเป็นหัวหน้าห้องรุ่นพี่ และคุณสนธิก็เปิดห้องเรียนสอนการทำงานด้วยตัวเองทุกเช้า หนึ่งในทีมงานยุคแรกๆ ก็คือคุณวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์คนปัจจุบัน
นอกจากนั้น หน้าที่ผมในแต่ละวัน ก็คือประสานงานกับคุณดีนในการวางระบบข้อมูลของเว็บ จากนั้นก็เดินไล่ตามโต๊ะของเพื่อนๆ ในกองบรรณาธิการ โม้เรื่องราวของเว็บ และโปรแกรมที่จะมาติดตั้งในทุกเครื่อง เพื่อที่การส่งข่าวปิดหน้าจะไม่ใช่การทำงานในตอนเย็นๆ ถึงดึกอีกต่อไป แต่จะต้องเป็นกระบวนการทุกชั่วโมง ทุกนาที ต่อเนื่องไปตลอดทั้งวัน การประสานงานกับนักข่าวในพื้นที่ รวมทั้งเวลาส่งข่าวยังต้องใส่คีย์เวิร์ดเพื่อการค้นหาจากถังจัดเก็บข้อมูลกระทะข่าวในวันหน้าไปด้วย และอื่นๆ อีกมากมาย โปรแกรมใหม่หน้าจอของนักข่าวส่วนกลาง ตลอดจนกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่น่าดีใจว่าทุกคนก็พร้อมร่วมมือที่จะเดินหน้าเปลี่ยนแปลง
การที่หัวเรือใหญ่คือคุณสนธิ และบรรดานักข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการยุคนั้นกล้าที่จะ “คิดใหม่” และ “เปลี่ยนแปลง” จึงเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ปัจจุบัน เว็บข่าวผู้จัดการออนไลน์กลายเป็นเบอร์หนึ่งขณะนี้
ปัจจุบัน คุณวริษฐ์ ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเว็บข่าวขึ้นบน iPhone จนแอปฯ ASTVManager กลายเป็นแอปพลิเคชันข่าวไทยบนมือถือที่คนอ่านมากที่สุดในปัจจุบันไปพร้อมๆ กับเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
สำหรับผมนั้น ผ่านมาสิบปี สตีฟ จ็อบส์ คิด iPad ขึ้นมา ตอนที่ผมนั่งเป็นบก.บห.อยู่ที่ mars magazine ผมก็ได้ทีนำเสนอไอเดียอีกครั้งกับคุณสนธิ เกิดสถานการณ์เดจาวูคล้ายๆ ที่คุยกับแกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จากนั้น mars on iPad ก็กลายเป็นดิจิตอลแมกกาซีนฉบับแรกของเมืองไทย โดยมีคู่คิดหลักที่สานฝันให้เป็นจริงคือ คุณกมลวรรณ ดีประเสริฐ หนึ่งในนักเรียนในชั้นเรียนนักข่าวออนไลน์เมื่อสิบปีก่อน
ผมมานั่งนึกๆ ดู จะว่าไปแล้ว ชีวิตของผมหรือคนในร่มเงาของค่ายผู้จัดการนี่ก็เวียนเวียนอยู่กับ เครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยสตีฟ จ็อบส์ แถมยังมีผู้นำที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตภายใต้อุดมการณ์ที่ไม่เป็นรอง “ปรัชญา 3 เรื่อง” ที่สตีฟ จ็อบส์” พูดถึงในวันปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
iMac นั้นเป็นประดิษฐกรรม ส่วนแรงบันดาลใจนั้นมาจากคน