xs
xsm
sm
md
lg

ขอฟ้อง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพิ่มอีกคดี!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ผมเคยสงสัยมานานเกือบสิบปีแล้วว่า ทำไมราคาก๊าซที่ประเทศไทยซื้อจากประเทศพม่าเพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าที่ราชบุรีจึงมีราคาแพงกว่าราคาที่เราซื้อจากแหล่งก๊าซที่ผลิตได้ในอ่าวไทย (ซึ่งเป็นของคนไทยเอง) ค่อนข้างมาก โดยคิดเป็นมูลค่าเฉพาะส่วนที่แพงกว่าเป็นเงินถึงประมาณ 4.5 แสนล้านบาทตลอดอายุโครงการประมาณ 40 ปี

ในตอนนั้นผมคิดว่า ราคาก๊าซจากอ่าวไทยเป็นราคาปกติของตลาดโลก แต่ราคาก๊าซจากพม่าเป็นราคาที่ได้ “รวมค่าโกง” เรียบร้อยแล้ว ผมคิดอย่างนี้จริงๆ ครับ ผมไปพูดที่ไหนก็ไม่มีสื่อมวลชนใดสนใจ พิมพ์เป็นหนังสือก็แล้ว พูดง่ายๆ คือเรื่องนี้ “จุดไม่ติด”

มาในวันนี้สิ่งที่ผมสงสัยยังคงเป็นความจริงอยู่ครับ คือ ก๊าซจากพม่ายังคงแพงกว่าจากอ่าวไทยจริง

แต่สิ่งที่ผมคิดกลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามครับ คือ ก๊าซจากพม่าเป็นราคาปกติของตลาดโลก(คิดเองอีก) แต่ราคาก๊าซจากอ่าวไทยเป็นราคาที่ถูกกดให้ต่ำกว่าราคาในตลาดโลกถึง 40-67%

ข้อมูลดังกล่าวมาจากผลการศึกษาเรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา (โดยมีคุณรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน ซึ่งมีอำนาจในการเชิญข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงได้ แต่ประชาชนธรรมดาอย่างผมถึงจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อขอข้อมูลข่าวสาร แต่เอาเข้าจริงก็คงต้องเหนื่อยอีกเยอะ)

เมื่อผมเล่ามาถึงตอนนี้แล้ว สิ่งซึ่งเราต้องสงสัยต่อไปมี 4 ประการ ซึ่งผมขออนุญาตตอบไปพร้อมกัน ดังนี้ คือ

1. เขากดราคาก๊าซในอ่าวไทยให้ต่ำลงเพื่ออะไร คำตอบคือ เพื่อให้บริษัทขุดเจาะจะได้จ่ายค่าภาคหลวงน้อยๆ โดยอัตราค่าภาคหลวงที่เก็บจากบริษัทขุดเจาะในปัจจุบันประมาณ 12.5% ของราคาปากหลุมเจาะ (ซึ่งถือเป็นอัตราในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลกแล้ว) ถ้าราคาที่ปากหลุมถูกกดลง 50% บริษัทขุดเจาะก็เสียค่าภาคหลวงต่ำไปถึง 50% ในปี 2552 เราได้ค่าภาคหลวงจากก๊าซธรรมชาติประมาณ 15,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐหรือประชาชนก็ขาดรายได้ที่ควรจะได้ไปถึงประมาณ 15,000 ล้านบาทด้วย น้อยเสียเมื่อไหร่!

2. ถ้าเขาซื้อขายกันในราคาต่ำๆ ตามข้อที่ 1 แล้ว บริษัทขุดเจาะจะยอมหรือ? เพราะเขาก็ขาดรายได้ไปด้วย ตอบ เขายอมครับ เพราะเขาไปตั้งบริษัทลูกขึ้นมา แล้วให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะเข้ามาถือหุ้นด้วย ว่ากันตรงๆ ก็คือ มีการจัดตั้ง บริษัท จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด ซึ่งเว็บไซต์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เล่าความเป็นมาพร้อมหุ้นส่วนไว้ว่า

"หลังจากที่มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติปริมาณมากในอ่าวไทย รัฐบาลจึงเริ่มนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาอุตสาหกรรม บริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนองนโยบายรัฐบาล โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บริษัท Tractebel S.A. ประเทศเบลเยียม บริษัท British Gas Plc. ประเทศอังกฤษ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 และได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน ในปีเดียวกัน โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลง จนถึงปัจจุบันประกอบด้วย”

เมื่อบริษัทขุดเจาะ (ทั้งที่เป็นของ ปตท.สผ. และเป็นของบริษัทต่างชาติ) ก็ขายให้กับ บริษัท จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด ในราคาถูกๆ เพื่อลดค่าภาคหลวง จากนั้นบริษัทนี้ก็ส่งไปขายต่อให้กับโรงไฟฟ้าในราคาที่เขาอยากจะขาย (เพราะเป็นระบบผูกขาด) ข่าวลึกๆ ที่ผมทราบก็คือ เขาให้ กฟผ. ในราคาที่แพงกว่าขายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเสียอีก หากมีเวลาจะรื้อค้นเอกสารออกมาเผยแพร่กันอีกครั้ง

3. ข้อสงสัยประการที่ 3 คือ การกระทำในข้อที่ 2 นั้น ผิดกฎหมายหรือไม่? ตอบ จากพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 หมวดทั่วไป มาตรา 4 ระบุว่า "ราคาตลาด” หมายความว่า ราคาในตลาดเปิดเผย หากไม่มีราคาดังกล่าว หมายความว่า ราคาที่พึงคิดกันระหว่างบุคคลซึ่งเป็นอิสระต่อกันโดยไม่มีความสัมพันธ์ใน ด้านทุนหรือการจัดการ”

ผมเชื่อว่า บริษัท จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด กับบริษัทที่ได้รับสัมปทาน มีความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือการจัดการ อย่างชัดเจน แม้ว่าในเวลาต่อมาได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเรื่อยมา แต่ผมได้ตรวจสอบแล้ว (ทั้ง 6 ฉบับ, หลังสุด 2550) ความหมายในหมวดทั่วไปไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแน่นอน

4. ประการสุดท้าย ทำไมไม่มีการลงโทษ (ตามมาตรา 110) ที่ระบุว่า "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง หรือกระทำการใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาคหลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท”

แม้บทลงโทษจะเบาและจิ๊บๆ มากเมื่อเทียบกับความสูญเสียนับหมื่นล้านบาทต่อปี แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายตลอดมา ดังนั้น เราควรจะฟ้องใครบ้าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ข้าราชการและนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ที่น่าเจ็บใจอีกอย่างหนึ่ง ทุกครั้งที่แก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่เคยเพิ่มโทษในมาตรา 110 เลย มีแต่เอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนมากว่าเดิมเสมอ

สำหรับวันนี้ ผมขอฟ้องประชาชนก่อนนะครับ จะจุดติดอีกหรือไม่ก็ไม่รู้ เฮ่อประเทศไทย!
กำลังโหลดความคิดเห็น