ASTVผู้จัดการรายวัน-กระทรวงยุติธรรมยุติทุกข้อหา พร้อมทำงานตามนโยบาย คอป. ทั้งการเปลี่ยนข้อหาก่อการร้ายของ นปช.เหลืออั้งยี่ และการช่วยเหลือเยียวยา 91 ศพๆ ละ 10 ล้านบาทด้วย ส่วนแกนนำแดงฮาร์ดคอร์"กี้ร์ อริสมันต์"ยังไม่กล้าเข้าไทย หวั่นไม่ได้ประกัน โฆษกอัยการสูงสุด แจงส.ส.มีอำนาจเข้าชื่อขอถอดถอนอัยการสูงสุดได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องชัดว่า ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ยันสั่งไม่ฎีกา “หญิงอ้อ-บรรณพจน์” กลั่นกรองข้อกฎหมายดีแล้ว ชี้อัยการมีอิสระพิจารณาสั่งคดี การสั่งไม่ฎีกาเป็นตามอำนาจหน้าที่ และเป็นดุลยพินิจ
*** ยธ.เดินหน้าเยียวยาเสื้อแดง
วานนี้ (28 ก.ย.) นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โฆษกกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงถึงการดำเนินการของกระทรวงยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการเยียวยา และ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นรองประธาน เพื่อรับเรื่องมาดำเนินการ ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด เช่น ดีเอสไอ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมคุมประพฤติ เตรียมความพร้อมที่จะทำงานตามนโยบายของคณะกรรมการเยียวยาทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเปลี่ยนข้อหาหรือลดโทษ แกนนำ นปช.จากคดีก่อการร้ายเป็นคดีอั้งยี่และซ่องโจรตามข้อเสนอของ คอป.หรือไม่ นายถิรชัยกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติ ให้ตั้งคณะกรรมเยียวยาขึ้นมาพิจารณาแนวทางและข้อเสนอแนะของ คอป.โดยจะพิจารณาทุกข้อ ไม่ได้ดูเฉพาะข้อใดข้อหนึ่ง ส่วนจะดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด คงต้องให้คณะกรรมการเยียวยาเป็นผู้พิจารณา ซึ่งทุกกรมในกระทรวงยุติธรรมขณะนี้เตรียมความพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการเยียวยา เรื่องใดที่จะทำให้ข้อเสนอแนะของคอป.บรรลุถึงเป้าหมายการปรองดองของคนทั้งประเทศได้ ทุกหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการพระราชทานอภัยโทษ ที่องคมนตรีได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้วนั้น ทางกระทรวงยุติธรรมจะรับเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาประกอบ
เมื่อถามความคืบหน้ากรณีคนเสื้อแดงเรียกร้องเงินชดเชยให้ญาติผู้เสียชีวิต จากการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ รายละ 10 ล้านบาท นายถิรชัยกล่าวว่า อันนี้คงจะถือโอกาสผนวกเข้าไปเลย แต่ขอชี้แจงว่าขณะนี้ยังไม่ทราบตัวเลขว่าจะเป็นจำนวนเท่าไร จึงเป็นเรื่องของคณะกรรมการเยียวยาที่จะเป็นผู้พิจารณา
***"เจ๊ดา"มาแน่"กี้ร์"ยังไม่กล้า
ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง นายยศวริส ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนกรณีนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำคนเสื้อแดงจะเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม ว่า ได้คุยปรับทุกข์กันเป็นการภายในระหว่างนายอริสมันต์ นางดารณี กฤตบุญญาลัย และนายจรัญ ดิษฐาภิชัย แกนนำคนเสื้อแดง รับทราบมาว่าในช่วงเดือนตุลาคม ทั้ง 3 คนจะเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อมอบตัวและสู้คดี โดยกรณีของนางดารณีน่าจะเดินทางกลับมาก่อน เพราะมีเพียงคดีละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร สำหรับนายอริสมันต์นั้นยังไม่มีกำหนดที่แน่ชัด เพราะยังต้องรอดูสถานการณ์ต่างๆ ก่อน
เมื่อถามว่า นายอริสมันต์กลัวว่าจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวหรือ นายยศวริสกล่าวว่า “น่าจะเป็นอย่างนั้น ที่หนีๆ กันไปในช่วงแรกเพราะว่ากลัวจะถูกจับตัวและจำขัง จึงจะต้องมีการประสานงานกันเป็นการภายในเสียก่อน เพื่อให้ได้สิทธิในการประกันตัว”
*** "อัยการฯ"ยันทำตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกร้องให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ชี้แจงและตอบคำถามแก่สังคม กรณีสั่งไม่ฎีกาคดีคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หรือ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน ในคดีหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) โดยมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมเข้าชื่อถอดถอนนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด นั้น นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า แม้ว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ประกอบ 271 จะระบุให้ ส.ส.มีอำนาจเข้าชื่อขอถอดถอนอัยการสูงสุดได้ก็ตาม แต่ก็ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคดีนี้อัยการได้พิจารณาจากปัญหาข้อกฎหมายแทบทั้งสิ้น ส่วนพยานในสำนวนก็เพิ่งมาพบกันในชั้นพิจารณา อัยการจึงไม่รู้ข้อบกพร่องของพยาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า อัยการกลัวการถูกตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายธนพิชญ์ กล่าวว่า ไม่อยากตอบว่ากลัวหรือไม่กลัว จะกลายเป็นการตอบโต้ แต่ขอชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ มาตรา 255 วรรค 2 บัญญัติว่า อัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และยังมีอำนาจสั่งคดีตามพระราชบัญญัติอัยการ ปี 2553 มาตรา 21 ประกอบมาตรา 22 ซึ่งการพิจารณาสั่งไม่ฎีกาจึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และเป็นดุลพินิจ ดังนั้นอัยการจึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า เบื้องหลังการไม่ยื่นฎีกาคดีนี้เป็นอย่างไร นายธนพิชญ์ กล่าวว่า แม้กฎหมายจะกำหนดให้สำนวนคดีที่มาจาก ป.ป.ช.ให้อัยการสูงเป็นผู้เดียวในการสั่งฎีกา ต่างกับคดีทั่วไปที่อัยการเจ้าของสำนวนจะต้องทำบันทึกว่าสมควรฎีกาและส่งไปให้สำนักงานอัยการคดีศาลสูงกลั่นกรองก็ตาม ซึ่งคดีนี้ก่อนถึงมืออัยการสูงสุดก็ได้ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง โดยมีตนซึ่งเป็นอธิบดีอัยการจากสำนักงานคดีพิเศษ นายวินัย ดำรงมงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา นายเศกสรรค์ ปางสมบุญ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจฯ ผู้แทนอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย และอัยการผู้เชี่ยวชาญมากลั่นกรองก่อนเสนออัยการสูงสุดแล้ว
***ปชป.ขอข้อมูลเพิ่มเติม
ที่รัฐสภา นายถาวร เสนเนียม สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ คณะทำงานด้านกฎหมาย แถลงว่า ในวันที่ 29 ก.ย. นายสกลธี ภัททิยะกุล คณะทำงานด้านกฎหมายจะทำหนังสือไปถึง นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดเพื่อขอ 1.สำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฎีกาในคดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 2. สำเนาความคิดเห็นของอัยกาการสูงสุดที่มีความเห็นไม่ฎีกาในคดีดังกล่าว และ 3.หนังสือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ทำหนังสือถึง อัยการสูงสุดเพื่อ ให้ยื่นฎีกาในทุกข้อหาและกับจำเลยทุกคน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการตัดสินใจที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป ทั้งนี้ ทางอัยการสูงสุดไม่ควรอ้างว่าเป็นข้อมูลลับที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องใช้พ.ร..บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาดำเนินการ
นายถาวร กล่าวว่า คดีลักษณะดังกล่าวตามหลักการต้องมีการฎีกา เนื่องจากความเห็นของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความขัดแย้งกันในประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่ศาลอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ถึงประเด็นอำนาจในการทำหนังสือเรียกจำเลยมาชี้แจงของกรมสรรพากรไม่เป็นไปตามกฎหมาย ส่งผลให้คำให้การดังกล่าวของจำเลยเป็นเท็จ ซึ่งเมื่อเกิดความเห็นต่างเช่นนั้น โดยหลักจะต้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
นอกจากนี้ ประธานศาลอุทธรณ์ยังทำความคิดเห็นแย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยไม่เห็นด้วยกับการรอลงอาญาของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เพราะคดีนี้เกี่ยวข้องกับการหลบเลี่ยงภาษีที่มีจำนวนเงินสูงถึง 273 ล้านบาท ซึ่งเมื่อในหน่วยงานเดียวกันยังมีความเห็นขัดแย้งกัน ก็ควรจะส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาด อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าระยะเวลาไม่กี่ปีซึ่งในช่วงปี 2540 อัยการสูงสุดมีความเห็นว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิดจึงนำคดีขึ้นฟ้องศาล แต่ระยะเวลาผ่านไปไม่นาน อัยการสูงสุดกลับมองว่าคุณหญิงพจมานไม่มีความผิด
นายถาวร กล่าวว่า คดีนี้ถือว่าจบไปแล้วเนื่องจากอัยการสูงสุดไม่อุทธรณ์ภายใน 30 วัน ทำให้คดีหมดอายุความ และทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 273 ล้าน ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆทั้งเรื่องน้ำท่วมที่ประชาชนจำนวนมากกำลังเดือดร้อน และ ป.ป.ช. ได้แต่ทำตาปริบๆ เพราะไม่ได้มีอำนาจทำเรื่องนี้ตั้งแต่แรก เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) เป็นผู้ดำเนินการและส่งให้อัยการดำเนินส่งฟ้อง รอให้ประชาชน 2 หมื่นคน หรือ สส.จำนวน 1 ใน 4 ในสภา เข้าชื่อถอดถอน
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ คณะทำงานด้านกฎหมาย กล่าวว่า โดยปกติแล้ว 99.99 % คดีที่มีความขัดแย้งกันในสองศาลจะต้องนำขึ้นฎีกาทั้งสิ้น โดยเฉพาะมีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่เห็นขัดแย้งกันเรื่อง อำนาจเจ้าหน้าที่พนักงานเรียกจำเลยมาสอบสวน จนเป็นเหตุให้ศาลใดศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ควรจะต้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยในข้อกฎหมาย อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูง
***พท.ชี้ปชป.ต้องรับดุลยพินิจอสส.
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ตามพ.ร.บ.องค์กรอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 อัยการ ย่อมมีอิสระในการปฎิบัติหน้าที่ ดังนั้นการที่อัยการสูงสุดได้มีความเห็นเช่นนี้ ถือว่าได้เป็นการใช้ดุลยพินิจตามที่กฎหมายให้อำนาจแล้ว แม้ความเห็นดังกล่าวจะไม่ถูกใจพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ควรที่จะยอมรับดุลยพินิจของอัยการ การที่พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ผู้อื่นเคารพต่อกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด แต่พอความเห็นของอัยการไม่ถูกใจตนเอง ก็มีปฏิกิริยาทันที จึงขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยุติการโจมตีสถาบันอัยการในเรื่องนี้ และควรที่จะเร่งช่วยกันไปตรวจสอบในรื่องที่คนของพรรคกำลังถูกตรวจสอบในเรื่องกล้องซีซีทีวีของกทม. รวมถึงมารดาของส.ส.ประชาธิปัตย์บางคนที่ถูกกล่าวหาในคดีฉ้อโกงธนาคารมูลค่าพันล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังหลบหนีการจับกุมอยู่
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า เมื่อกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ได้สิ้นสุดลงแล้วขอให้ทุกฝ่ายยุติการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของอัยการ เพราะมิฉะนั้นแล้วหากอัยการมีความเห็นในคดีใดที่ไม่ถูกใจพวกตนเอง ก็ออกมาตอบโต้เช่นนี้ ก็เท่ากับไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม