xs
xsm
sm
md
lg

“คนกล้าดำเนินคดีกับ กกต.เชิญทางนี้”

เผยแพร่:   โดย: ปัทมาภรณ์ นมพุก

ที่ผู้เขียนโปรยหัวเรื่องเช่นนี้เพราะมีความมั่นใจว่าการ “อุ้ม” นายจตุพร พรหมพันธุ์ ของ กกต.นั้น ถือเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือเป็นการประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๕๐ เพียงแต่ที่ผ่านมามักไม่ค่อยมีคนกล้าหาญเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ กกต.

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะความเป็นอดีตตุลาการผู้ใหญ่ของ กกต.หลายคนจึงทำให้เกิดอุปสรรคในทางการทำคดี และที่ผ่านมา กกต.ชุดที่ ๓ นี้ได้ถูกผู้สมัครฟ้องร้องอยู่หลายคดี แต่ด้วยสถานะในอดีต บารมี ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ตลอดจนอำนาจแฝงขององค์กรที่ กกต.มีอยู่อย่างกว้างขวางจึงทำให้คดีความต่างๆได้ถูกยุติลงไปในหลายรูปแบบ จนทำให้ไม่อาจแตะต้อง กกต.ได้เลย (ไม่เชื่อลองสอบถามผู้ฟ้อง กกต.ดู) ทำให้ กกต.เกิดความย่ามใจและอาศัยหลักการที่ว่า “การลงมติโดยสุจริต จึงไม่ต้องรับผิด” มาเป็นเกราะป้องกันตัวไม่ให้ถูกฟ้องร้องตามกฎหมาย

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ชุดนี้ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ชุด ๓ หนาไปสักเท่าใด แต่การถูกตรวจสอบกลับมีความแตกต่างกันอย่างมากราวกับว่าคนหนึ่งมีสถานะเท่าเป็นจำเลยแต่อีกคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินความ กกต.อาจแกล้งทำเป็นหูทวนลมว่าตนปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตแล้วไม่ได้ช่วยเหลือผู้ใด โดยหารู้ไม่ว่าภาคสังคมทั่วไป รวมตลอดจนถึงผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่างเอือมระอากับการทำงานของ กกต. และเมื่อส่วนหัวส่ายด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองเข้าครอบงำจึงส่งผลทำให้เกิดความเสียหายในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมของส่วนหางขององค์กรติดตามไปด้วย และเกิดพฤติกรรมเอาอย่างเจ้านายในทุกหัวระแหง ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเช่นเดิมเหมือนกับที่เคยเกิดในยุค กกต.ชุดที่ ๒ อันจะส่งผลต่อการให้องค์กรแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ตามรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเฉพาะกรณีรายนายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งมีปัญหาว่าไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่กลับได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับการสรรหามาจากที่ประชุมใหญ่ขององค์กรที่เรียกว่าเป็นที่รวมของบุคคลที่มีความยุติธรรมของประเทศชาติว่า กกต.ชุดที่ ๓ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่าง “เที่ยงธรรม” เพียงพอหรือไม่ ทันเวลาหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่ประชาชนรากหญ้าผู้ที่มีความกล้าหาญใช้หยิบยกไปดำเนินคดีใน ป.ป.ช. ต่อไป

ก่อนอื่นขอท้าวความข้อมูลที่เกิดขึ้น ซึ่งคงจำกันได้ว่าปัญหาของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้เกิดขึ้นเพราะศาลอาญาได้สั่งถอนการประกันตัวจึงมีหมายคุมขังตัวใว้ระหว่างนายจตุพรถูกดำเนินคดีอาญา โดยขังตั้งแต่วันที่ ๑๒ พ.ค. ๕๔ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการถูกคุมขังตั้งแต่ก่อนวันที่พรรคเพื่อไทยจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครในวันที่ ๑๙ พ.ค. ๕๔ ที่มีนายจตุพรอยู่ในลำดับที่ ๘ การที่นายจตุพรต้องถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลจึงส่งผลให้ความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของนายจตุพรต้องสิ้นสุดลงตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา ๒๐(๓) เพราะการต้องคุมขังนั้น เป็นลักษณะต้องห้ามของการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะผู้ต้องคุมขังอยู่นั้นไม่อาจอยู่ในสภาพที่จะร่วมดำเนินกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองได้ด้วยเหตุไม่มีอิสระภาพ ไม่ว่าการเข้าร่วมประชุม การเป็นกรรมการบริหารพรรค (ลักษณะต้องห้ามเช่นนี้ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่เคยต้องคุมขังในคดี นปช. คงทราบกันเป็นอย่างดีว่าทำให้ความเป็นสมาชิกพรรคต้องสิ้นสุดลง

ยกตัวอย่างที่ตามฐานข้อมูลพรรคการเมือง ของ สนง.กกต.ได้ปรากฏข้อมูลว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หลังจากได้รับการประกันตัว ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อ ๒ พ.ค.๕๔ แล้วเข้าสมัครเป็นสมาชิกใหม่ในวันรุ่งขึ้นเมื่อ ๓ พ.ค.๕๔ หรือรายนายก่อแก้ว พิกุลทอง ลาออกสมาชิกพรรคเมื่อ ๒๘ เม.ย.๕๔ สมัครสมาชิกใหม่เมื่อ ๓ พ.ค.๕๔ ในเวลาใกล้เคียงกัน การสมัครใหม่ดังกล่าวของทั้งสองคนก็เพื่อทำให้การลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ ๑๙ พ.ค.๕๔ ไม่เกิดปัญหาเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคสิ้นสุดลง แต่นายจตุพรคงลืมลาออกและไม่ได้สมัครใหม่ เหมือน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยอีกหลายคนที่มีปัญหาเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงท่านผู้นำด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องถือว่า กกต.ทราบเป็นอย่างดี ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้เพราะนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะ)ซึ่งเป็นลักษณะทำนองเดียวกับคนเป็นภิกษุที่ไม่อาจเกี่ยวข้องกับทางโลก หรือคนที่จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบที่ไม่อาจดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เพราะความคิดเห็นของเขาจะไม่สมบูรณ์เหมือนกับวิญญูชนทั่วไป จึงไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ซึ่งหากลักษณะดังกล่าวได้เกิดแก่ผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ ย่อมเป็นผลให้สมาชิกภาพต้องสิ้นสุดลงทันทีด้วยเพราะเหตุผลว่าเขาไม่มีความเหมาะสมเข้าดำเนินกิจกรรมทางการเมืองดังที่กล่าว และไม่ต้องรอไปจนถึงวันเลือกตั้งเสียก่อนว่าบุคคลเหล่านี้ได้ไปเลือกตั้งหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลยเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ไม่เชื่อเราท่านลองตั้งสมมุติดูว่า หากสมาชิกพรรคการเมืองคนหนึ่งอุปสมบทเป็นภิกษุ อยู่แล้วเขาสามารถเดินเข้าร่วมประชุมใหญ่พรรคการเมืองโดยที่ยังห่มผ้าเหลืองอยู่นั้นได้หรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสิ้นสมาชิกภาพพรรคการเมืองนั้นมันไม่เกี่ยวกับว่าต้องถึงวันเลือกตั้งก่อน ดังที่ กกต.พยายามจงใจตีความกฎหมายให้มีความบิดผันไป ด้วยเหตุ เพราะ กกต.นั้นมีความเกรงกลัวว่า ตนอาจต้องถูกฟ้องคดีอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับสมัครนายจตุพรว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยที่ กกต.ก็ไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้สั่งถอนการสมัครตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง ๓ ก.ค.๕๔ หลายวันด้วย เพราะ กกต.เองก็ถูกพรรคเพื่อไทยและนายจตุพรอาศัยข้อบกพร่องนี้มาข่มขู่ เหตุการณ์จึงเลยตามเลย จนทำให้ กกต. ๔ คนต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้นายจตุพรเป็น ส.ส.ไป แต่ กกต. ๑ คนลงมติให้ใบแดงนายจตุพร แต่แล้ว กกต.ก็ไม่ทำความเห็นส่งผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเสียที ทั้งที่ กกต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการแล้วตั้งหลายชุด ตั้งแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง (มติครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๑๒ ก.ค.๕๔ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยคณะที่ ๑๔) ซึ่งได้แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอย่างเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว จนทำให้ กกต. ๔ คน ยกคำร้อง แต่ประธาน กกต.ให้ใบแดงไปเลย (เป็นมติครั้งที่ ๒) จึงขอถามว่าหากหลักฐานไม่เพียงพอ แล้ว กกต.ลงมติไปได้อย่างไร มิหนำซ้ำพอประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้วแทนที่ กกต.จะทำความเห็นส่งประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วภายใน ๒-๓ วัน แต่ กกต.กลับไปให้คณะอนุกรรมการของด้านกิจการพรรคการเมือง สนง.กกต. อีก ให้ดำเนินการทำความเห็นก่อนอีกครั้ง(มติครั้งที่ ๓)

ต่อมาก็มีมติมอบหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมืองไปลบชื่อนายจตุพร ออกจากฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองของสำนักงาน กกต.ก่อน ทั้งที่ กกต.รู้อยู่เต็มอกว่า นายทะเบียนไม่มีอำนาจตามกฎหมายมาตราใดที่จะดำเนินการได้ (มติครั้งที่ ๔)ในท้ายที่สุด เมื่อ สนง. กกต.เสนอความเห็นว่านายจตุพร สมาชิกภาพพรรคเพื่อไทยได้สิ้นสุดลงไปแล้ว และเป็นผลให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรต้องสิ้นสุดลงไปด้วย แต่แทนที่ กกต.จะลงมติตามข้อเท็จจริง หลักฐานและความเห็นในสำนวนที่พร้อมแล้ว แต่ กกต.กลับมีมติว่า “เพื่อความรอบคอบ จึงสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน(คณะอนุวินิจฉัยคณะที่ ๑๘)ให้ทำความเห็นมาอีกครั้ง โดยให้พิจารณาด้วยว่า กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา ๒๐ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๘ สามารถนำมาใช้บังคับได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๖ ได้บัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสมาชิกภาพของ ส.ส. ไว้แล้ว” (มติครั้งที่ ๕) ซึ่งเป็นมติที่บ้าบอ เพราะหากไม่ให้ กกต.กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาใช้เพื่อเป็นการอธิบายบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แล้ว กกต.จะใช้กฎหมายอะไรมาอธิบายเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและการสิ้นสุดลงของสมาชิกพรรคการเมือง สาเหตุที่ กกต.ประวิงเวลาออกไปอีกอย่างน้อย ๓๐ วัน ก็เพื่อช่วยเหลือให้นายจตุพร เป็น ส.ส.ได้นานที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่า เรื่องของนายจตุพรนี้ ไม่มีปัญหาในทางกฎหมาย หรือถ้ามีจริง ศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นองค์กรที่วินิจฉัยชี้ขาดเอง การที่ กกต.อ้างเหตุผลต่างๆ จนเวลาล่วงเลยมาตั้งแต่วันรับสมัครในวันที่ ๑๙ พ.ค. ๕๔ เรื่อยมา ทำให้ไม่อาจเห็นเป็นอย่างอื่นได้เลยนอกจากเพื่อประโยชน์ของพรรคเพื่อไทยและนายจตุพร เท่านั้น ทำให้เห็นว่าองค์กรนี้ “โคตรห่วยแตก” จริงนะ จะบอกให้( แล้วจะมีใคร ทำอะไรได้หรือไม่ ??? )
กำลังโหลดความคิดเห็น