xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ยอมรับดอกเบี้ยขึ้นยาก! เหตุความเสี่ยงศก.กดดันหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปในวันที่ 19 ต.ค. การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยได้ยากขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น แรงกดดันที่จะไปสร้างความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อก็จะลดลงตามกลไกไปในตัว เพราะเมื่อเศรษฐกิจหด การใช้น้ำมันหรือสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง จึงส่งผลให้ราคาชะลอลง
"บอร์ด กนง.จะเป็นผู้ชั่งน้ำหนักเรื่องนี้ให้เหมาะกับสถานการณ์ โดยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มเห็นความเสี่ยงด้านนี้มากขึ้น ทำให้การประชุม กนง.อาจตัดสินใจแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา" นางอัจนากล่าวและว่า การดำเนินนโยบายการเงินตลอด 1 ปีที่ผ่านมาที่มีเหตุผลชัดเจนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาต่อเนื่อง เพราะความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างชัดเจนกว่าความเสี่ยงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่แย่ลงอาจมีโอกาสให้ภาคส่งออกไทยได้รับผลกระทบบ้าง ประกอบกับความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดทุนและตลาดการเงินโลกก็ส่งผลต่อความมั่งคั่งของคนในโลกและอำนาจซื้อลดลง อย่างไรก็ตามเชื่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในเอเชียจะไม่ลดลงมากนัก เพราะแม้ความเสี่ยงการเติบโตเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีกระสุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลัง ซึ่งเป็นข้อดีของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ด้วย

**คาดกรอบเงินเฟ้อเป็นเลขตัวเดียว**
สำหรับการปรับกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นโจทย์ที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ฝากไว้นั้น นางอัจนากล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกอึดอัดใจ มีประเด็นที่คลังและ ธปท.สนใจตรงกัน คือ ช่องว่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดและสูงสุดมีความห่างมากเกินไป โดยหากกำหนดแบบกว้างจะส่งผลดีให้ กนง.ไม่ต้องปรับนโยบายการเงินบ่อยเกินไป แต่ข้อเสียอาจใช้นโยบายการเงินแบบขึ้นแรง ลงแรง หรือคงดอกเบี้ยจนตลาดตามไม่ทันได้ แต่การมีช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อที่แคบก็จะช่วยยึดการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน และภาคเอกชนได้ดีกว่า
“ธปท.อยากได้แบบมีแบนด์ คือ เป็นเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อตัวเดียว แต่มีช่วงบวกลบ เช่น ในต่างประเทศบางประเทศ ใช้ เป้าหมายเงินเฟ้อ 2% แบบ มีบวกลบได้ 1% ซึ่งแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ ธปท.เคยอยากทำมาก่อนเพื่อปรับกรอบเงินเฟ้อให้ดีขึ้น แต่หากเป็นการขยับช่วงห่างให้แคบลงนั้น ถ้าช่วงแคบมากเกินไป จะทำให้การทำนโยบายการเงินต้องเข้มข้นมากเกินไป แต่เรื่องนี้คงต้องฟังกระทรวงการคลังด้วย”.
กำลังโหลดความคิดเห็น