ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
ระเบิดทั้ง “คาร์บอมบ์” และ “จยย.บอมบ์” 3 จุดในเวลาไล่เลี่ยกันที่เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บกว่า 70 ชีวิต เป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการ ยืนยันข้อเท็จจริงต่อสังคมและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้รับรู้ว่า...
1. สถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือขบวนการบีอาร์เอ็นโดย “แนวร่วม” ของขบวนการยังสามารถกำหนดเป้าในการโจมตีและการก่อวินาศกรรมในทุกพื้นที่ตามที่ต้องการ
เพราะก่อนหน้านี้เพียง 1 วันแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้นำระเบิดไปก่อวินาศกรรม สภ.ปะลุกาสาเมาะ จนพังทลาย มีการโจมตีฐานทหารที่ อ.เจาะไอร้อง มีการกราดยิงชาวบ้านในร้านน้ำชาที่ อ.ระแงะ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส
ในขณะที่ใน จ.ปัตตานีมีการโจมตีทหารพรานที่ อ.กระพ้อ จนเสียชีวิต 5 ศพ และยึดอาวุธปืนไป 6 กระบอก ส่วนที่ จ.ยะลา แนวร่วมบุกเข้าไปยิงตำรวจและ อส.ในมัสยิดกลางเมืองยะลาเสียชีวิต 2 ศพท่ามกลางสายตาของผู้คนนับร้อย ทั้งหมดเกิดขึ้นติดกันภายใน 3 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บ 70 คน
2. เป็นการบอกให้รู้ว่า ปฏิบัติการด้านป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ภายใต้การควบคุมทาง “ยุทธการ” ของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ยังไม่สามารถทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสงบ ความปลอดภัยในเขตเมืองหรือนอกเขตเมือง
3. เป็นการบอกให้รู้ว่า นอกจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะล้มเหลวในการควบคุมทางยุทธการแล้ว กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ “การข่าว” ในพื้นที่ทุกหน่วย ตั้งแต่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สันติบาล ข่าวกรองสำนักนายกฯ และอื่นๆ อีกมากมาย ยังคงล้มเหลวในงานการข่าว เพราะไม่มีแม้แต่หน่วยงานเดียวที่ระแคะระคายและแจ้งเตือนว่าแนวร่วมจะก่อวินาศกรรมในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
โดยข้อเท็จจริง “ยุทธวิธี” หรือ “ปฏิบัติการ” ของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนนับตั้งแต่เกิดความรุนแรงครั้งใหม่ เมื่อปี 2547 เป็นต้นมายังใช้วิธีการเดิมๆ เกือบทั้งสิ้น เช่น เกาะตามหลังเจ้าหน้าที่รัฐที่นำกำลังออกลาดตระเวนเพื่อรอโอกาสโจมตี การขุดหลุมวางระเบิดบนถนนเพื่อก่อวินาศกรรมรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ นำระเบิดไปซุกซ่อนในสถานที่ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อก่อวินาศกรรม ยิงชาวบ้าน หรือสร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อรอเจ้าหน้าที่เข้าไปพิสูจน์ทราบ และวางกับระเบิดดักสังหาร ขับรถ จยย.ประกบยิง หรือพรางตัวเป็นชาวบ้าน เพื่อสังหารเจ้าหน้าที่ในชุมชนและตามศาสนสถาน
และสุดท้ายคือ ประกอบระเบิดเป็น “คาร์บอมบ์” หรือ “จยย.บอมบ์” เพื่อก่อวินาศกรรมในจุดที่เป็นย่านเศรษฐกิจของท้องถิ่น และสถานที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทย ยุทธวิธีหรือปฏิบัติการของ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” มีอยู่แค่นี้เอง
หากสังเกตให้ดี ระเบิดที่ใช้เป็นระบบ “โลว์เทคโนโลยี หรือ โลว์เทคฯ” คือล้าหลังและเป็นแบบเดิมๆ อย่างใส่ในถังดับเพลิง บรรจุในถังก๊าซหรือกล่องเหล็ก จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ รีโมตฯ นาฬิกา และสุดท้ายเป็นระเบิดแบบเหยียบ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่ทำสงครามกับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในชายแดนใต้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพียงแต่ วิธีการจุดระเบิดอาจจะซับซ้อนมากขึ้น เช่น ในระเบิดแต่ละลูกอาจจะมีการใช้การจุดระเบิด 2-3 ชนิด เพื่อหวังผลให้ระเบิดทำงานให้ได้เท่านั้น
การทำระเบิดและการวางระเบิดของแนวร่วมยังไม่มีอะไรที่ทันสมัย ดังนั้น ระเบิดที่แนวร่วมใช้จึงไม่มีอานุภาพร้ายแรงเหมือนกับที่กลุ่มก่อการร้ายสากลใช้ในประเทศต่างๆ
คำถามที่ค้างคาใจคนในพื้นที่ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องตอบคือ ปฏิบัติการเดิมๆ ซ้ำๆ ของแนวร่วมในพื้นที่ ทำไมหน่วยรบของกองทัพในพื้นที่จึงไม่สามารถป้องกันได้ เพราะความสูญเสียส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ การเข้าไปพิสูจน์ทราบ และถูกกับดักระเบิดซ้ำของเจ้าหน้าที่ยังปรากฏเป็นข่าวทุกวัน
เจ้าหน้าที่ “ประมาท” หรือการ “ประเมินสถานการณ์ไม่เป็น” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทั้งที่มีนายทหารเสนาธิการอยู่เป็นจำนวนมาก เสนาธิการทหารเหล่านั้นมีขีดความสามารถน้อยกว่าเสนาธิการของขบวนการบีอาร์เอ็น หรืออย่างไร จึงไม่สามารถทำอะไรที่ได้เปรียบต่อยุทธวิธีสงครามกองโจรในพื้นที่ การรบในพื้นที่ กำลังของกองทัพจึงเพลี่ยงพล้ำต่อแนวร่วมแบบ “ยะย่ายพ่ายจะแจ” มาโดยตลอด ทั้งที่ทุกอย่างของหน่วยงานรัฐเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และโดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ
หรืออาจจะเป็นเหมือนที่มีเสียงโจษจันคือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความคิดที่จะเอาชนะ เพราะรบด้วย “หน้าที่” แต่ไม่ได้รบด้วยความ “ตั้งใจ” และ “จริงใจ” หรือรัฐมีนายทหารระดับ “นักรบ” ที่เป็นเพียง “นักประชาสัมพันธ์” ไม่ก็ “นักโฆษณาชวนเชื่อ” อีกทั้งเป็น “นักรบเพาเวอร์พอยต์” ที่อยู่ในห้องปรับอากาศ มากกว่าไปสูดกลิ่นอายและดูสถานการณ์ของสงครามประชาชนที่แท้จริงในพื้นที่
ถ้านับความสูญเสียของกำลังพลในพื้นที่การสู้รบจะพบว่า ผู้ที่สูญเสียมากที่สุดของกองทัพจะเป็น “พลทหาร” หรือ “ไอ้เณร” หรือ “ทหารเกณฑ์” รองลงมาคือ “ทหารพราน” และ “อาสาสมัคร”
เมื่อกำลังที่ใช้มากที่สุดในสนามคือ “ทหารเกณฑ์” ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดการเพลี่ยงพล้ำในแต่ละครั้งเป็นเพราะทหารเกณฑ์เหล่านั้นฝึกยุทธวิธีแค่ 3 เดือน ความเชี่ยวชาญในการรบจึงไม่มีเท่ากับ “ทหารอาชีพ” เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่คิดเพียงอย่างเดียวว่า เมื่อไหร่จะปลดประจำการ พวกเขามาทำหน้าที่รับใช้ชาติตามที่ “กฎหมาย” บังคับเท่านั้น เขาไม่ได้สมัครใจที่จะมา “พลีชีพ” เพื่อ “มาตุภูมิ” และเขาได้รับค่าตอบแทนในการ “ขาย” ชีวิตเพียงน้อยนิดเท่านั้น
เช่นเดียวกับ “ทหารพราน” และ “อาสาสมัคร” ที่ส่วนหนึ่งมาทำหน้าที่เพราะไม่มีงานทำ และส่วนหนึ่งมาเพราะต้องการ “เครื่องแบบ” และ “อาวุธ” เป็นเกราะป้องกันตนเองจาก “ศัตรู” ทหารพรานในชายแดนใต้จึงมีขีดความสามารถที่มีไม่เหมือนกับทหารพรานจาก “ปักธงชัย” ในอดีต ความสามารถทางยุทธวิธีจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ในกรณีนี้มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องการใช้กำลังที่ไม่ใช่ “ประจำการ” เหล่านี้ไป “ตายแทน” เพื่อป้องกันความสูญเสียของกำลังหลักหรือไม่
และสุดท้ายงาน “การข่าว” คือสิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องปรับปรุง เพราะงานการข่าวคือ “หัวใจ” ของการศู้รบ ถ้างานการข่าวล้มเหลว ย่อมหมายถึงความพ่ายแพ้ในทุกสถานการณ์
ที่ผ่านมาการข่าวของทุกหน่วยงานเป็นการทำงานแบบ “คาดการณ์” ในขณะที่นักการข่าวจำนวนไม่น้อยทำการข่าวแบบ “จินตนาการ” ข่าวที่ได้จากการ “เกาะติด” ความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม และการเข้าถึง “แหล่งข่าว” ที่รู้ความเคลื่อนไหว รู้ความลับของฝ่ายตรงข้ามยังทำไม่ได้
หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ประสบความสำเร็วในการ “ปิดล้อม” และ “จับตาย” มาจากการใช้เงิน “ซื้อ” คนของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งซื้อได้เพียงครั้งเดียวก็หมดความหมายในทันที
สาเหตุของความล้มเหลวของงานการข่าวเกิดจาก “เงินไม่ถึง” และ “มือไม่ถึง” เพราะเงินในการทำการข่าวจำนวนมากไม่ถึงมือของ “นักการข่าว” แต่ไปอยู่ในมือของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่เสวยสุขกับเงินที่เป็น “งบลับ” และ “งบการข่าว”
เมื่อเจ้าหน้าที่การข่าวที่ “มือถึง” ไม่มีเงินในมือ งานการข่าวจึงอยู่ในมือของนักการข่าวที่ “มือไม่ถึง” ที่มีหน้าที่ต้องทำการข่าวที่รายงานกันในแต่ละวัน จึงเป็นข่าวพื้นๆ ซึ่งเป็นลักษณะ “คาดการณ์” และ “จินตนาการ” นั่นเอง
สงครามประชาชนในชายแดนใต้นั้น ถ้ารัฐบาลต้องการเอาชนะต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดน รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับงานการข่าวของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ สันติบาล และหน่วยข่าวต่างๆ ทั้งของกองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพบก รวมถึงหน่วยข่าวกรองสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลาง โดยต้องมีการ “ยกเครื่อง” กันใหม่ทั้งหมด และต้อง “บูรณาการ” ในเรื่องของการข่าวอย่างเป็นจริง ไม่ใช่ทำตามรูปแบบราชการ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแยกหน่วยกันทำ และทำแบบไร้ประสิทธิภาพ
รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ เช่น “ศอ.บต.” ต้องมีหน่วยงานการข่าวของตนเอง เช่นเดียวกับระดับจังหวัด อำเภอ ไปจนถึงหน่วยงานในตำบลก็ต้องมีหน่วยข่าวและงานการข่าวที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องมี “งบประมาณ” ที่ให้นักการข่าวทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพได้
เนื่องเพราะถ้าตราบใดที่หน่วยงานความมั่นคงต้องการ “ข่าวดี” แต่จ่ายเงินเดือนแค่ 4,500 บาท เชื่อเถอะว่าสถานการณ์การก่อการร้ายในชายแดนใต้จะยังเป็น “ข่าวรายวัน” ต่อไปอีกยาวนาน
สุดท้ายถ้างานการข่าวยังไม่มีการปรับปรุง และไม่ถูกให้ความสำคัญ ต่อให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณให้กองทัพอีกกี่แสนล้าน หรือส่งเงินให้ ศอ.บต.ใช้ในการยุติปัญหาความไม่สงบอีกกี่หมื่นล้าน ก็เหมือนกับการ “ตักน้ำใส่ทะเล” ซึ่งจะไม่เห็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น แต่ที่เห็นชัดเจนคือ ความสูญเสียของประชาชน และความสูญเสียของพื้นที่ชายแดนใต้
ท่ามกลางความสูญเสียที่ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้นั้น หากมองให้ชัดก็จะเห็นกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์บนความสูญเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของขบวนการ “ค้าสงคราม” และ “ค้ากำไร” บนความ “หายนะ” ของประเทศชาติและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้