xs
xsm
sm
md
lg

ชัจจ์สั่งจัดระเบียบป้ายรถเมล์ ห้ามรถตู้-แท็กซี่จอดแช่-ซ้อนคัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ชัจจ์” สั่ง ขสมก.ร่วมมือ ขบ.และตำรวจจราจร จัดชุดปฏิบัติการ จัดระเบียบการจอดรถสาธารณะที่ป้ายรถเมล์ ห้าจอดแช่-ซ้อนคัน ดีเดย์ 19 ก.ย. ตรวจจับปรับ 500-1,000 บาท เริ่มที่อนุสาวรีย์ฯและจตุจักรสถานีบีทีเอส เหตุมีร้องเรียนมากสุด

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากมอบนโยบายให้องค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ขสมก.) เป็นหน่วยงานหลักในการวางมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการกำกับและกวดขันวินัยจราจรและกฎระเบียบผู้ขับขี่รถสาธารณะ โดยให้ประสานการดำเนินงานร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อบูรณาการร่วมกันนั้น ซึ่งได้มีการตั้งชุดปฏิบัติการร่วมกวดขันควบคุมพฤติกรรมการขับขี่รถสาธารณะทุกประเทศ ทั้งรถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ ตามโครงการ”ซ้ายตลอดจอดทุกป้าย” โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2554 ที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยฯและหน้าสวนจตุจักรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ก่อนโดยจะห้ามการจอดแช่หรือจอดซ้อนคันที่ป้ายรถเมล์โดยเด็ดขาด และขยายไปบริเวณหน้าแฟชั่นไอซ์แลนด์, หน้าม.รามคำแหง,ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต,รอบวงเวียนใหญ่ ต่อไป

“ผมได้รับร้องเรียนมาก ว่ารถบัส รถตู้ สองแถว แท็กซี่ จอดรถไม่เป็นระเบียบ กีดขวางการจราจร เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สร้างความเดือดร้อนและรำคาญให้กับประชาชน จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ไข ซึ่งมาตรการนี้เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาได้ ซึ่งหากพบการกระทำผิดเจ้าหน้าที่จะตักเตือนไปจนถึงการลงโทษปรับจับตามกฎหมาย”พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าว

นอกจากนี้ยังให้ ขสมก.เร่งศึกษาหาแนวทางในการดูแลอำนวยความสะดวกในการใช้บริการรถสาธารณะของผู้พิการ โดยเฉพาะมนุษย์ล้อเลื่อน (Wheelchair) ให้สามารถขึ้น-ลงรถเมล์ได้สะดวกและมีป้ายกดสัญญาณของคนพิการ โดยให้กำหนดเส้นทางที่มีผู้พิการใช้บริการ ทดลองนำร่อง

พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งรับผิดชอบงานด้านจราจรทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ชุดปฏิบัติการจะเริ่มกวดขันในช่วงบ่ายวันที่ 19 ก.ย.นี้ โดยกำหนดแผนปฏิบัติแบบวันต่อวัน กวดขันบริเวณป้ายรถเมล์ไม่ให้มีการจอดแช่หรือซ้อนคัน และจัดคิวให้รถเมล์สามารถเข้าป้ายรับส่งผู้โดยสารได้ โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับตั้งแต่ 500-1,000 บาท

อย่างไรก็ตาม การกวดขันเป็นมาตรการระยะสั้น เพราหาากไม่มีเจ้าหน้าที่ไปยืนเฝ้า ก็จะกลับมาเหมือนเดิมอีก ดังนั้น จะต้องหาทางแก้ปัญหาระยะยาว เช่น ป้ายจอดรถเมล์จตุจักรสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อาจจะต้องมีการเพิ่มป้ายรถเมล์ออกเป็น 4 ป้ายตลอดแนว เพื่อกระจายจุดจอดและกำหนดสายรถเมล์ที่จะจอดในแต่ละป้าย รวมถึงขยับรั้วสวนจตุจักรเข้าไปเพื่อขอพื้นที่ทำเป็นจุดจอดรถตู้โดยสาร เป็นต้น

นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า ขสมก.,ขบ.และตำรวจต้องทำงานร่วมกัน เนื่องจาก ขสมก.มีไม่อำนาจจับกุมรถที่กระทำผิด โดย ขบ.มีอำนาจตามพ.ร.บ.ขนส่ง ส่วนตำรวจ มีพ.ร.บ.จราจร จึงต้องตั้งชุดปฏิบัติการร่วมกัน จำนวน 3 ชุด ซึ่งขสมก.จะเป็นหลักเนื่องจากมีเจ้าหน้าสายตรวจพิเศษกว่า 100 นาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น