xs
xsm
sm
md
lg

‘ฮุนเซน’งัดมุกใหม่ผ่อนโทษ ‘วีระ-ราตรี’ กร้าว!ไม่ถอนทหาร แฉไม่ชอบ”เทือก”ดอดถกพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - “ยิ่งลักษณ์” เยือนกัมพูชาท่ามกลางการต้อนรับชื่นมื่น เสนอช่วย “วีระ-ราตรี” แต่ “ฮุน เซน” อ้างขอดูก่อน หวาน! “อาจขอบรรเทาโทษ” ยกเรื่อง “เทพเทือก” ดอดเจรจาลับขึ้นฟ้อง ด้านนายกฯไทย เห็นด้วยมาตรการชั่วคราวศาลโลก “เขมร” ยังหยาม! ไม่ถอนออกจาก 4.6 ตร.กม. ด้าน “พนิช” จ่อฟ้องศาลระหว่างประเทศ อ้างเขมรละเมิดสิทธิรุนแรง

เมื่อเวลา 15.25 น. วานนี้ (15 ก.ย) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรส นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ นายสมปอง สงวนบรรพ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะเจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ

เมื่อคณะมาถึงนางอึง กัตถาภาวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสตรี ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีเกียรติยศ ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น มีเด็กนักเรียนและประชาชนเขมร ยืนเรียงแถวริมทาง โบกธงชาติไทยตลอดเส้นทาง จากนั้นคณะเดินทางไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาพร้อมภริยารอต้อนรับ มีพิธีตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ
จากนั้น นายกรัฐมนตรี เข้าหารือข้อราชการกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก่อนเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชา ณ พระราชวังเขมรินทร์ จากนั้น เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ณ สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันเดียวกันเวลา 21.20 น.

** “ปู”รับลูก “ฮุน เซน”ลดกำลังทหาร
 

สำนักข่าวฟิฟทีนมูฟ รายงานว่า ศูนย์ข่าวต้นมะขาม (เดิมอำปึล) ได้รายงานอ้างการให้สัมภาษณ์ของนายฮอ นำฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ที่กล่าวถึงผลการพบปะระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา อย่างเป็นทางการ ในวันนี้ โดยระบุว่า ผู้นำทั้งสองเห็นชอบร่วมกันในด้านต่าง ๆ ที่จะทำให้มีความร่วมมือที่ดีและการพัฒนา ทั้งในด้านการค้าขาย ท่องเที่ยว และปัญหาเขตแดน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เสนอต่อฝ่ายกัมพูชาเปิดการแสดงสินค้ากัมพูชา-ไทย ซึ่งนายกฯกัมพูชาให้การตอบรับ

ระหว่างพบปะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยกกรณีของสองคนไทย คือ นายวีระ สมความคิด และนางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเปร็ยซอขึ้นหารือ โดยฮุน เซน ตอบกลับว่า กำลังตรวจดูเรื่องนี้ แล้วอาจจะเสนอกษัตริย์กัมพูชาเพื่อขอให้บรรเทาโทษ เนื่องจากกัมพูชาจำเป็นต้องเคารพกฎหมายของกัมพูชา

ในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาเขตแดน ฮุน เซน เสนอให้กองทัพของสองประเทศ พบปะกันเพื่อให้บรรยากาศดีขึ้น และควรมีปรับลดกำลังของทั้งสองฝ่ายตามแนวชายแดนลง ในเรื่องนี้ นายฮอ นำฮง เน้นย้ำว่า เราไม่สามารถถอนออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ที่เป็นของเราได้ เราจะทำตามคำสั่งชั่วคราวของศาลโลก กรุงเฮก โดยผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียอยู่ในพื้นที่

**ฟ้อง“เทพเทือก”ดอดเจรจาลับจริง
 

นอกจากนี้ ฮุน เซน ยกประเด็นการลักลอบเจรจาลับเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในทะเล ของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ส่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาเจราลับเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.52 ฮุน เซน ได้เสนอให้สองฝ่ายเจรจาในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ตามบันทึกความเข้าใจฯ 54 และกลไกที่มีอยู่

ฮุน เซน ได้เสนอให้เจ้าหน้าที่จังหวัดตามแนวชายแดนพบหารือกันเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการละเมิดกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยของสองประเทศ อาจเปิดการประชุมร่วม พร้อมกันนั้น ฮุน เซน ก็ได้เสนอให้เปิดด่านผ่านแดนแห่งใหม่ คือ ด่านสตึงบต เพื่อเป็นด่านสินค้าเข้าออก ส่วนด่านปอยเปตให้เป็นด่านสำหรับการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ นายเขียว กัญญาฤทธิ์ รัฐมนตรีข่าวสารในฐานะโฆษกรัฐบาล แถลงว่า การเดินทางเยือนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการฟื้นความสัมพันธ์ระว่างกัมพูชา-ไทย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสองประเทศก็เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน นายเขียว กล่าวยืนยันอีกว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาพรมแดน อย่างเช่น ปราสาทพระวิหาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นด้วยกับมาตรการชั่วคราวของศาลโลก

**ปล่อยคนไทยเป็นดุลยพินิจเขมร
 

ก่อนหน้านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการปล่อยตัว2คนไทย ว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีการปล่อยตัวหรือไม่ เบื้องต้นที่จะเดินทางไปกัมพูชาคงจะไปเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา นี่เป็นภารกิจแรก และคงจะดูบรรยากาศการหารือในเรื่องการช่วยคนไทย
หากกัมพูชาพร้อมปล่อยตัวหากฝ่ายไทยหยิบยกขึ้นมาหารือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราก็ยินดีและจะหยิบยกมาหารือแต่ดุลยพินิจปล่อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับกัมพูชา ซึ่งเราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้

ทั้งนี้ไทยจำเป็นต้องมีของขวัญตอบแทนให้กัมพูชาหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะจริงๆในการทูตเราคงมีการเจรจาขอความช่วยเหลือมากกว่า ไม่ใช่การเจรจาต่างตอบแทน เป็นการเจรจาในการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องช่วยเหลือคนไทยทุกคนไม่ว่าอยู่ประเทศไหนอย่างไรบ้าง เราต้องทำทุกประเทศอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าจะส่งผลในแง่ความปรองดองให้เกิดขึ้นหรือไม่หากมีการปล่อยตัวทั้ง 2 คน ถ้ารัฐบาลช่วยกลับมาได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องแยก 2 ประเด็น คือรัฐบาลอยากเน้นเรื่องความปรองดองอยู่แล้ว ฉะนั้นที่ทำงานหรือรับใช้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน นายวีระ และน.ส.ราตรี ก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ที่ตนก็ต้องทำหน้าที่ของตน หากกัมพูชาปล่อยตัวมาก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่ได้มีโอกาสได้เอาคนไทยกลับบ้าน

**ปัดถกพลังาน-พระวิหาร
 

เมื่อถามว่าจะมีการหารือเรื่องเขาพระวิหารด้วยหรือไม่ เพราะทางกัมพูชาเตรียมคุยเรื่องพลังงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอดูเรื่องจังหวะก่อน เพราะเราไปครั้งแรก เดี๋ยวจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง

** “ปึ้ง”ไม่รับปากช่วย2คนไทยได้หรือไม่
 

เมื่อเวลา 11.50 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า จะไปเจรจาดูว่าเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้สถานทูตไทยประจำประเทศกัมพูชายังไม่ได้ประสานมายังกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนแนวโน้มที่จะให้มีการปล่อยตัวนั้นขึ้นอยู่กับทางการกัมพูชาเพราะเราไม่ได้พูดคุยไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ หวังว่าความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศจะสามารถช่วยได้ อย่างไรก็ตามได้ปรึกษากับนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯได้หารือว่าต้องการจะไปเจรจาขอความช่วยเหลือ แต่ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไรบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ทางกัมพูชาระบุว่าจะต้องรับโทษ 2 ใน 3 ก่อนถึงจะมีการปล่อยตัวได้ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับทางการกัมพูชาว่าจะทำอย่างไร ส่วนเรื่องจะแลกเปลี่ยนนักโทษกับสายลับของกัมพูชาที่ไทยจับกุมตัวได้หรือไม่ ยังไม่ได้ลงในรายละเอียดขนาดนั้น เพราะเป็นการพูดคุยครั้งแรก

เมื่อถามว่า จะขอร้องพ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชาให้ช่วยเหลือหรือไม่ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไปด้วยตัวเอง เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยก็พูดคุยกัน ด้วยความสัมพันธ์ที่ดี ทางกัมพูชาได้เตรียมการตอนรับเรา ค่อนข้างจะให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ

**'มาร์ค' บ่หยัน “ปู”ช่วย2คนไทยได้
 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องของการเจรจานี้อย่างไร คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่กรอบการเจรจาว่าจะใช้กรอบใด โดยในรัฐบาลที่แล้วเมื่อเรามีความเห็นว่าข้อตกลงเมื่อปี 2544 มีความไม่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลควรที่จะชัดเจนก่อนที่จะกลับไปใช้หรือทำกรอบขึ้นใหม่ แต่อย่างไรหากจะมีการเจรจาอีกครั้งก็ต้องผ่านขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อถึงช่วงการเจรจาต้องมีกรอบให้ชัดเจนว่าจะหารือในกรอบไหน และเราทุกคนมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ารัฐบาลได้รักษาผลประโยชน์ของประเทศหรือไม่

เมื่อถามว่า การเดินทางไปในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ควรที่จะแสดงบทบาทในฐานะผู้นำประเทศต่อกัมพูชาอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไทยต้องยืนยันว่าเราอยากเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับกัมพูชาและอยู่ในครอบครัวอาเซียนด้วยกัน แต่ประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน เช่นความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องเขตแดน ก็ควรที่จะหาทางปรับความเข้าใจกัน แต่ละประเทศก็ต้องรักษาสิทธิ์ของชาติตัวเอง เมื่อมีการยืนยันว่าการขึ้นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว และพยายามใช้ความเป็นมรดกโลกเป็นเครื่องมือในการอนุมัติแผนบริหารจัดการพื้นที่เราก็ต้องไม่ยินยอม รวมถึงการรักษาจุดยืนถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่จะต้องมีทั้งประเด็นแหล่งผลประโยชน์ การกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลที่ผ่านมารัฐบาลที่แล้ว ความสัมพันธ์การค้าก็ปกติ แม้ในช่วงที่ขัดแย้งก็มีการดำเนินกิจกรรมที่ไปได้ด้วยดี

“ผมคิดว่า ถ้าวางทุกอย่างบนโต๊ะให้ชัดแล้วถามทางกัมพูชาว่าจะเอาอย่างไร ด้านหนึ่งบอกว่าอยากจะคุยกัน แต่อีกด้านก็รุกโดยใช้กลไกมรดกโลก ศาลโลกบ้าง ทำให้ไทยเราจำเป็นที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก”นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า จะไปคาดคั้นเพื่อให้ได้คำตอบทั้งหมดในการพบปะครั้งเดียวคงไม่ได้ แต่ก็คาดหวังที่จะให้รัฐบาลยืนยันที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้ และหากสามารถไปช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ แกนนำคนไทยหัวใจรักชาติได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้คนไทยทั้ง 2 ได้รับอิสรภาพ

ส่วนกรณีเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติอีกคนออกมาระบุว่า หากมีการปล่อยตัวคนทั้งสอง จะเป็นการตบหน้ารัฐบาลประชาธิปัตย์นั้น ยืนยันว่ารัฐบาลที่ผ่านมาได้ใช้ความพยายามแล้ว ครั้งสุดท้ายได้ใช้แนวทางการขออภัยโทษ แต่สมเด็จฮุนเซนออกมายืนยันว่า ฝ่ายบริหารไม่สามารถที่จะแทรกแซงได้ เพราะมีระเบียบและกฏหมายของเขาว่าต้องรับโทษ 2 ใน 3 ก่อนจึงจะได้รับการอภัยโทษ เราก็ท้วงติงไปว่ากรณีของนายศิวลักษณ์ ชุติพงษ์ ที่เคยติดคุกเช่นกัน ทำไมถึงทำได้ แต่สมเด็จฮุนเซนก็ยืนยันว่า ไม่อยากทำผิดซ้ำสอง เราก็บังคับเขาไม่ได้

**"พนิช"จ่อฟ้องศาลระหว่างประเทศ
 

นายพนิช วกิตเศรษฐ์ อดีตผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ ผู้ที่เคยต้องโทษร่วมคณะกับนายวีระ กล่าวแสดงความยินดีหากรัฐบาลจะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐบาล เจรจาช่วยเหลือนายวีระ และน.ส.ราตรี ให้ออกจากเรือนจำ ซึ่งหากทำได้จริงก็เป็นการตอกย้ำว่าหลักกฎหมายของกัมพูชานั้นแอบอิงอยู่กับการเมือง การกล่าวอ้างว่าผู้ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษจะต้องได้รับโทษก่อนอย่างน้อย 2 ใน 3 นั้นไม่เป็นจริง เพราะกระบวนการสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามเงื่อนไขทางการเมือง เช่นเดียวกับคดีของนายศิวรักษ์ ชุติพงศ์ วิศวกรชาวไทย ซึ่งก็ถูกพิพากษาในคดีเดียวกับนายวีระ ก็ไม่ต้องรับโทษ 2 ใน 3 แต่ติดคุกเพียง 14 วันก็ได้รับการพระราชทานอภัยโทษเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ตัวเองเป็นผู้ต้องหาหนึ่งเดียวที่ยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลกัมพูชา เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำความผิด จุดที่ถูกจับกุมก็ยังเป็นจุดที่ยังไม่มีปักปันเขตแดน ขณะเดียวกันกำลังหารือกับทนายความชาวต่างประเทศเพื่อดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลสิทธมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เนื่องจากถูกละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง หลังถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวไปขึ้นศาล พร้อมทั้งพิพากษาทั้งที่พื้นที่นั้นยังไม่ชัดเจนว่าเป็นของประเทศใด

**“ปานเทพ” ยินดีรัฐช่วยพ้นคุก หากไม่อธิปไตย
 

ที่ศาลฎีกา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นพี่น้องกัน และกรณีการเข้าพบนายฮุน เซน ก็เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีผลประโยชน์จากการลงทุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าจะช่วย2คนไทยก็ถือเป็นข่าวดี และเราก็ยินดี เพียงแต่ว่ากรณีการช่อวยเหลือทั้ง 2 คนนั้นไม่สามารถทำให้เรามองข้ามเรื่องอื่นที่มีความสำคัญได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเขตแดนไทย-กัมพูชา และการอ้างสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

“แม้ว่าเราจะยินดีถ้าคุณวีระและคุณราตรีถูกปล่อยตัวมา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรู้สึกถ้าเราจะสูญเสียดินแดน หรือสูญเสียอธิปไตยในพื้นที่ทางทะเลมากขึ้นอย่างที่ไม่ควรจะเป็น การที่รัฐบาลมีความสัมพันธ์ที่ดีถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ยิ่งต้องระวังด้วยว่าความสัมพันธ์ที่ดีนั้นแลกมาด้วยอะไร หากแลกมาด้วยความเสียเปรียบของเขตแดนทางบก หรือการสูญเสียสิทธิ์ทางพลังงาน ผมคิดว่าประชาชนไม่ควรจะยอม” นายปานเทพ กล่าว

ทั้งนี้ หากช่วยเหลือนายวีระและ น.ส.ราตรีได้จริง จะสามารถยกเครดิตผลงานนนี้ให้รัฐบาลได้หรือไม่ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า คงกล่าวเช่นนั้นไม่ได้เต็มที่ เพราะต้องถือว่าเป็นกระบวนการที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกและมีลักษณะของการเอื้อประโยชน์ระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับนายฮุนเซน การที่นายวีระและ น.ส.ราตรี จะได้รับการปล่อยตัวเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ก่อนล่วงหน้าว่า หากพรรคเพื่อไทยชนะจะมีผลที่ตามมาแบบนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าชื่นชมว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมของรัฐบาล เพียงแต่ภาคประชาชนรู้สึกยินดีด้วย

**เล็งฟ้องอาญา“เทพเทือก”ขายชาติ
 

เมื่อถามถึงกรณีกระแสข่าวที่ระบุว่า นายสุเทพ มีการเจรจาลับกับนายฮุนเซนในเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล นายปานเทพกล่าวว่า ตนเชื่อในระดับหนึ่ง แต่จะมีการเจรจาในเรื่องพลังงานกันหรือมีแผนที่บล็อกน้ำมันตามข่าว ตรงนี้ไม่ทราบยากแก้การพิสูจน์ เพราะเป็นการเจรจาลับที่ใครพูดอะไรก็พูดได้ แต่ส่วนตัวจำได้ชัดว่านายสุเทพกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.54 แล้วให้สัมภาษณ์ว่า จะถกเถียงในเรื่องปราสาทพระวิหารกันเพื่ออะไร ในเมื่อเขาพระวิหารทั้งเขาตกอยู่ภายใต้อาณัติของกัมพูชาอยู่แล้วตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 สู้มาเจรจาในเรื่องผลประโยชน์อื่นๆในการพัฒนาร่วมกันดีกว่า จากคำสัมภาษณ์เช่นนี้ทำให้เราเชื่อได้ว่า มีการเจรจาทางพลังงานจริง เพราะมีการพูดที่เอื้อประโยชน์ทางบกให้กับทางกัมพูชา แล้วให้ไปเจรจาเรื่องทางทะเล เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่จะไปเชื่อว่าใครพูดอะไรในตอนนี้ แต่สิ่งที่ปรากฎชัดอยู่ว่านายสุเทพมีการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางพลังงานเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.54 จึงออกมาให้สัมภาษณ์แบบนั้น

การที่มีข่าวดังกล่าวออกมาในช่วงนี้ก็หวังที่จะทำลายกระบวนการตรวจสอบของฝ่ายค้าน เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีพฤติกรรมสวมตอต่อจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ไม่สามารถพูดอะไรได้ไม่เต็มปาก เพราะทำมาไม่ต่างจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เจตนาก็เพื่อลดทอนกระบวนการตรวจสอบทางรัฐสภา ซึ่งเรื่องนี้ก็มีมูลมาตั้งแต่ข้อสงสัยว่าเหตุใดรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ให้จบ ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้นที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ดำเนินการตาขั้นตอนที่ควรจะเป็น กลายเป็นว่าวันนี้ทั้งฝ่ายค้านหรือรัฐบาลไม่เป็นที่พึ่งหวังในกระบวนการปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างเต็มที่ได้เลย ประชาชนเท่านั้นที่ต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยใช้บทบัญญัติกฎหมายเป็นตัวนำ

“หากมีกระบวนการที่ทำให้ไทยเสียประโยชน์ทั้งทางบกหรือทางทะเล ต่อให้ใช้มือทางรัฐสภา เราก็ต้องดำเนินคดีทางความอาญาอยู่ดี แล้วไปสู้กันในกระบวนการนั้น” นายปานเทพ ระบุ

**เหลิมยันรัฐบาลไม่มีอำนาจจับที่เขมร
 

อีกด้านกรณีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะเดินทางมาประเทศกัมพูชา ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องเป็นไปตามสนธิสัญญา ว่า ด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยยึดหลักเกณฑ์ 1.ความผิดเหมือนกัน 2.ไม่ใช่เรื่องการเมือง และ 3.ประเทศนั้นๆ ต้องใช้ดุลยพินิจ ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ และนายกษิต ก็เคยได้ดำเนินการโดยตลอด แต่ก็ไม่มีการออกหมายจับของตำรวจสากล เพราะไม่ตรงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่เมื่อกฎหมายระบุว่าไม่สามารถทำได้ รัฐบาลก็จะไปดำเนินการไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ขอให้ไปถามนายอภิสิทธิ์ และนายกษิต ว่าทำไมส่งเรื่องไปหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ และจากการดำเนินการที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ทุกที่ไม่สามารถทำได้

ส่วนที่พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยบอกว่าต้องรื้อคดีที่ดินรัชดาฯ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ก็เป็นการแสดงความเห็นเท่านั้น แต่ตามกฎหมายแล้ว ต้องเป็นคู่กรณี คือพ.ต.ท.ทักษิณ จะยื่นหรือไม่ ส่วนศาลจะรับหรือไม่ หรือพิจารณาหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ ก็มีแต่นายอภิสิทธิ์ ที่พูดเท่านั้น เพราะถ้าศาลไม่เห็นด้วยก็จบหรือถ้าไม่ยื่นก็จบ

**กษิตแนะอสส.-กต.ขอตัว “แม้ว”
 

นายกษิตย์ ภิรมณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกฯเงา กล่าวถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม ระบุไม่มีอำนาจที่จะนำตัวพ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดีว่า เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดจะประสานมายังกระทรวงการต่างประเทศที่จะประสานต่อไปยังรัฐบาลกัมพูชาเพื่อขอตัวพ.ต.ท.ทักษิณมาดำเนินคดี ถ้าหากกระทรวงการต่างประเทศไม่ดำเนินการในเรื่องนี้นั้นไม่ได้ เพราะถือเป็นหน้าที่ ส่วนที่ ร.ต.อ.พูดว่าไม่มีอำนาจนั้นไม่ทราบว่าพูดอะไร แต่ยืนยันว่าร.ต.อ.เฉลิมไม่ใช่เจ้าของกฎหมายไทย จะออกมาแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้

ส่วนที่รัฐบาลจะไม่ดำเนินการ เพราะเรื่องที่ไม่มีสนธิสัญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับกัมพูชานั้น ตนมองว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะเราสามารถขอความร่วมมือไปแต่ละประเทศได้ เพราะคดีของพ.ต.ท.ทักษิณเป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีการเมืองทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกัมพูชาด้วยเช่นกัน ผู้สื่อข่าวถามว่า ไทยจะสามารถไปควบคุมตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กัมพูชา ได้หรือไม่ นายกษิตย์ กล่าวว่า ไม่ได้เนื่องจากเกรงว่าเราจะไปละเมิดอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา นอกจากว่าเอกอัคราชทูตของไทยประจำกรุงพนมเปญ อาจจะเห็น พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ที่กัมพูชาจริง ก็มาสามารถประสานมายังอัยการสูงสุด และตำรวจดำดเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้

กรณีเกรงว่ากัมพูชาจะไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย นายกษิตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสมเด็จฮุน เซน แต่ถ้ากัมพูชาจะอ้างว่าไม่มีกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้นไม่สำคัญ แต่อยู่ที่ความปารถนาดีของกัมพูชาที่มีต่อไทยต่างหาก

**ศาลอนุญาต“เหวง”ให้ไปกัมพูชา
 

วันเดียวกัน น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช จำเลยในคดีร่วมก่อการร้าย ยื่นคำร้องต่อศาลอาญารัชดา ขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศกัมพูชา ในระหว่างวันที่ 15-19 กันยายนนี้ เพื่อประสานจัดการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตร ระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลกัมพูชา ล่าสุดศาลมีคำสั่งอนุญาตตามที่จำเลยร้องขอ โดยวางเงินสด 6 แสนบาทเป็นหลักประกัน และให้มารายงานตัวภายในวันที่ 26 กันยายนนี้ ในลักษณะเดียวกันกับแกนนำ นปช.คนอื่นๆ

อีกด้าน บริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ มีข่าวว่าจะมีรถบัส รถตู้ที่จะมารอรับคนเสื้อแดงที่จะเดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ฝนตกหนัก ถ.ส้นบ้านโอเสม็ด - จ.อุดรมีชัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการทำถนนกว่า 40 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก กลุ่มคนเสื้อแดงเกรงว่าไม่ปลอดภัย จึงเปลี่ยนแผนในการเดินทางไปเป็นวันที่ 16 ก.ย.นี้ ผ่านเส้นทางช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ โดยจะมีรถทัวร์ของฝั่งประเทศกัมพูชามารอรับ พร้อมมีกองเชียร์ฟุตบอล นปช.ภาคอีสาน ได้มีการลงทะเบียนร่วมเดินทางแล้วกว่า300 คน

**เขมรเอาจริงซ้อมรับ”มูลเมืองคัพ”
 

สำนักข่าวฟิฟทีนมูฟ แจ้งว่า ศูนย์ข่าวต้นมะขาม (เดิมอำปึล) รายงานว่า ทีมนักฟุตบอลกัมพูชาที่จะร่วมแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรกับ กลุ่ม ส.ส.เสื้อแดง ของพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำการฝึกซ้อมที่สนามฟุตบอล 7 NG ใกล้มหาวิทยาลัยบิวด์ไบรท์ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 15 ก.ย. นำฝึกซ้อมโดยประธานสหพันธ์กีฬาฟุตบอลกัมพูชา นาย ซัว โซะคาพร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงหลายคนนัดเตะฟุตบอลกระชับมิตรที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ย.ที่จะถึง ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ได้ประกาศว่าตนจะสวมเสื้อหมายเลข 9 และจะเป็นโค้ชของทีมกัมพูชา

**เด็จพี่ ยื่น ส.ว.เร่งสอบ“มารค์-เทือก”
 

ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เจรจารับเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา รวมถึงให้มีการตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่อนุญาตให้นายสุเทพ ไปดำเนินการเรื่องดังกล่าวด้วย

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ประชาชนได้ร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ตนจึงใช้ช่องทางนี้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนทราบ เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ

ขณะที่นายจิตติพจน์ กล่าวว่า จะขอศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้ก่อน และจะพยายามดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น