xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกา"แม้ว"ต้องจบ ครม.ตั้ง"สุชาติ"คุมราชทัณฑ์ "พสิษฐ์"มือคลิปยุบปชป.ได้ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.ดับเครื่องชน เดินหน้าอภัยโทษ "นช.แม้ว" เด้ง"ชาติชาย"อธิบดีกรมราชทัณฑ์ โยก"พ.ต.อ.สุชาติ"ผู้ตรวจไอซีทีเสียบแทน พร้อมดัน"พ.ต.อ.สีหนาท"เป็นเลขาธิการปปง. ตั้ง"พสิษฐ์"มือแพร่คลิปยุบปชป.นั่งที่ปรึกษารมว.สาธาณสุข "ประชา"โบ้ยไม่เกี่ยวฎีกาช่วยทักษิณ เหตุพ้นขั้นตอนกรมราชทัณฑ์ไปแล้ว ส่วนการดึง"พล.ต.อ.อดุลย์"นั่งป.ป.ส. หวังให้ช่วยปราบยาเสพติด "มาร์ค"จวกโยกย้ายทำเพื่อคนๆ เดียว "เหลิม"นิ่งบอกไม่ก้าวก่าย

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ในกระทรวงยุติธรรม รวม 7 ตำแหน่ง ได้แก่ ย้ายนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนางสุรีย์ประภา ตรัยเวช เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยให้นายพิทยา จินาวัฒน์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย จากผู้ตรวจราชการ ระดับ 10 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอทีซี) เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และขอตัวพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาช่วยราชการในตำแหน่งเลขาธิการป.ป.ส. 1 ปี

นอกจากนี้ ยังย้ายสลับนายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม โดยให้พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม มาเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.แทน คำสั่งมีผลวันที่ 1 ต.ค.2554

พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังมีมติแต่งตั้งให้ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นเลขาธิการ ปปง. โดยตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ยังต้องส่งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามลำดับ

"การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการบริหารงานของกระทรวงยุติธรรมที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการแก้ปัญหายาเสพติดให้สำเร็จ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดในเรือนจำ และการย้ายนายชาติชาย และนางสุรีย์ประภา ให้เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพราะต้องการให้ทั้งสองคนเข้ามาดูแลงานแก้ปัญหายาเสพติดและราชทัณฑ์ในภาพรวม"

พล.ต.อ.ประชากล่าวถึงประเด็นที่ผู้ได้รับตำแหน่งอธิบดีใหม่หลายคนมาจากตำรวจ รวมทั้งการทาบทาม พล.ต.อ.อดุลย์ มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า พ.ต.อ.สุชาติ พ.ต.อ.ดุษฎี และ พ.ต.อ.สีหนาท ล้วนเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ตอนนี้ไม่ได้เป็นตำรวจแล้ว มีตำรวจแค่คนเดียว คือ พล.ต.อ.อดุลย์ ที่ต้องขอตัวจากนายกรัฐมนตรีมา เพราะต้องการให้การปราบปรามยาเสพติดประสานกันได้อย่างดีระหว่างตำรวจกับกระทวงยุติธรรม ส่วนกรณีที่โอนกลับ พ.ต.อ.สุชาติ ซึ่งเคยเป็นรองอธิบดีดีเอสไอมาเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องฎีกาเสร็จขั้นตอนจากกรมราชทัณฑ์แล้ว ขั้นตอนตอนนี้เป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรมที่ตนได้ตั้งคณะทำงานกลั่นกรองฯ ขึ้นมาตรวจสอบตามขั้นตอนว่าด้วยกฎหมายเป็นหลัก

**"สุพัตรา"ปลัดเกษตร-"สุวัตร"ท่องเที่ยว

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ยังได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงต่างๆ โดยในส่วนกระทรวงคมนาคม มีการแต่งตั้ง นายวรเดช หาญประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการบินพลเรือน นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายสมชาย จันทร์รอด จากอธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการแต่งตั้ง น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ รองปลัดกระทรวงฯ ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ แทนนายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เกษียณอายุราชการ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่งตั้งนายสุวัตร สิทธิหล่อ อธิบดีกรมพลศึกษา ไปดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และแต่งตั้งนายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม จากที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานข่าวกรองในต่างประเทศ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

**ตั้ง"พสิษฐ์"มือแพร่คลิปที่ปรึกษารมว.สธ.

นายชลิตรัตน์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข นายปิยะ อังกินันทน์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข นายธวัชชัย สุทธิบงกช ดำรงตำแหน่งเลขานุการรมว.สาธารณสุข และนายเกรียงไกร กิตติธเนศวร ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมว.สาธารณสุข

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 4 ราย ได้แก่ น.ส.ช่อเพชร พึ่งพานทอง นายวิสิทธิ์ ใสกระจ่าง นางเรือนแก้ว ศรีหาคิม และนายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง

กระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้ง นายมานะ คงวุฒิปัญญา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมช.คมนาคม (นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์)

กระทรวงการต่างประเทศ เสนอแต่งตั้ง นายพิเชษฐ์ หวังเทพอนุเคราะห์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ

นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย คือ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ และนายเอนก หุตังคบดี รวมทั้งแต่งตั้ง นายอุดมเดช รัตนเสถียน ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร์ (วิปรัฐบาล)

** ชี้เด้งอธิบดีราชทัณฑ์เพื่อ"ทักษิณ"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงว่า กรณีย้ายนายชาติชาย สุทธิกลม พ้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อยากจะให้มีเหตุผลของการย้ายที่ชัดเจน เพราะต้องยอมรับว่าในแต่ละวัน คนของรัฐบาลมักจะให้สัมภาษณ์และเคลื่อนขบวนเกี่ยวกับปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเรื่องทั้งหมดล้วนแต่ไม่เป็นผลดีที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่กลับมีข่าวเรื่องนี้เกือบทุกวัน เหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่าง กลไกบริหารงานต้องไปรับใช้กับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม เพราะอธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะเป็นผู้ที่ทำความเห็นในการได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ส่วนการโยกย้าย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไปเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์นั้น คิดว่าไม่ช่วยให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะบริหารงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่กลายเป็นการวนอยู่เรื่องเดิม คือ เรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณ และเรื่องของพวกพ้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะอ้างว่าการทำเรื่องขออภัยโทษ เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในแง่มุมของการยื่น อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในแง่ของการเป็นนายกฯ ที่ต้องเป็นผู้รับการยื่นฎีกา จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะมีหน้าที่ในการถวายความเห็นที่จะต้องทำอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเมื่อประเด็นปรากฏชัดเจน นายกฯ ก็รู้ ตนจึงอยากให้มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติ ดังนั้น ควรจะมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย

"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของส่วนรวม และอีกหลายๆ เรื่องที่มีการแสดงความคิดเห็นกันอยู่ตลอดเวลา วันนี้อยากจะให้เน้นเรื่องการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความสับสนที่ยังมีอยู่มากเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ทั้งการลดค่าครองชีพ และการช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม ดังนั้น อยากให้รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาของประชาชน เพราะการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก็สะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมามากขึ้น เพราะคาดหวัง และรอคอยการได้รับความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ"นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าจะอ้างว่าเป็นคดีการเมือง และพ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความผิดได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันไม่มีคดีการเมือง แต่คดีที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีตรงไหนที่เกี่ยวกับความเชื่อ หรือจุดยืนทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณเลย

"ในภาพรวมประชาชนต้องการเห็นรัฐบาลมาทำงานให้ประชาชน ไม่ใช่ทำงานเฉพาะพวกพ้อง ครอบครัว ซึ่งผมเสนอมาตลอดว่า รัฐบาลนี้มีโอกาสที่ดี เพราะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมาด้วยความคาดหวังว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แม้ทำได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็ยังเชื่อว่าประชาชนจะให้โอกาส แต่พอไปหยิบเรื่องที่เป็นประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ของครอบครัว ในขณะที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยู่ มันก็ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล"นายอภิสิทธิ์กล่าว

** ปลุกใครโดนเด้งให้อุทธรณ์แบบ"ถวิล"

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงว่า เป็นการกระทำที่สวนทางกับคำพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่าจะแก้ไข ไม่แก้แค้น แต่ความเป็นจริงเป็นการแก้แค้น ไม่ได้แก้ไข โดยให้เหตุผลการโยกย้ายว่าเป็นคนของรัฐบาลชุดเก่า ไม่ได้โยกย้ายตามคุณสมบัติ หรือความสามารถ ทำให้เกิดบรรยากาศน่าสะพรึงกลัว หวาดหวั่น เสียขวัญหมดกำลังใจต่อข้าราชการ

ทั้งนี้ ตนสนับสนุนให้ข้าราชการที่เห็นว่าถูกโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ปกป้องศักดิศรีของตัวเองได้เหมือนกรณีของนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ไปฟ้อง ก.พ.ค.

**โบ้ยย้าย"ชาติชาย"เป็นสิทธิของ"ประชา"

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการโยกย้ายอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่า เป็นสิทธิของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ตนไม่ก้าวก่าย

เมื่อถามว่ามีการปูทางเพื่อรอการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า คนละเรื่อง เอาคนละเรื่องมาถาม เดี๋ยวเป็นข่าวยุ่งอีก แล้วสมัยที่เขาเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปลี่ยนทำไม ต้องเข้าใจความถูกต้องชอบธรรม ไม่ใช่อะไรหน่อย ก็ไปเกี่ยวกับท่าน มันคนละเรื่อง
เมื่อถามว่า นโยบายที่แล้ว เอาคนจากปปส. เข้าไปปราบยาเสพติดในราชทัณฑ์กลับมีจำนวนมากขึ้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนบอกแล้วว่า กรณีปราบโทรศัพท์ไม่ได้ ก็ขออนุญาตศาล หรือขออนุญาตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า นี่มันเป็นอาชญากรรมของประเทศ ก็ดักฟังและจับเข้าคุก ไม่มีการแก้ไข เดี๋ยวก็เขาบิน เขาบิน ยุคนี้ไม่มีเขาบิน มีแต่ภูเขาธรรมดา จริงๆ แล้ว จะมีการซื้อขายไม่ได้เลย หากรัฐเอาจริงเอาจัง ซีนบอเดอร์ 8 จังหวัด ไม่ได้ซื้อจากกรุงเทพฯ เอามาจากตรงโน้น และตนกำลังประสานยูเอ็นดีซีพี ถ้าประเทศไหนไม่ให้ความร่วมมือตนฟ้อง

ส่วนกระแสข่าวโยกย้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นั้น ตนไม่ทราบเรื่อง เพราะเรื่องยังไม่ผ่านมาที่ตน แต่ถ้ามีการโอนย้ายจริงจะต้องร่วมกันเสนอมา 2 กระทรวง คือ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ตนแสดงความเห็นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี เป็นตำรวจกองปราบปรามกับเป็นรองอธิบดี และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็เคยลงไปทำงานที่ภาคใต้ แต่ในฐานะเลขาฯ ศอ.บต.ตนก็ไม่มั่นใจว่า กระทรวงมหาดไทยจะยอมรับหรือไม่ เพราะการทำงานในศอ.บต. เป็นภาพรวมด้านโยบายมากกว่าการปฏิบัติ

**"ปู"แย้มทูลเกล้าแต่งตั้งเลขาฯสมช.แล้ว

ด้านนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แทนนายถวิล เปลี่ยนศรี ว่า มีการส่งเรื่องไปให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว

**"พล.ต.อ.อดุลย์"ลั่นพร้อมเริ่มทำงาน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีที่ถูกทาบทามให้โยกไปช่วยรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการป.ป.ส. ว่า พล.ต.อ.ประชา ได้ทาบทามตนไปรักษาการเลขาธิการป.ป.ส.1 ปี ตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการไปช่วยราชการแทนเท่านั้น ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งเป็นรอง.ผบ.ตร.อยู่ โดยให้ไปดูแลเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นงานที่ต้องบูรณาการหลายหน่วยงาน โดยประการแรกเรื่องเกี่ยวกับการสกัดตามแนวชายแดน ซึ่งต้องใช้กำลังทหารและฝ่ายตำรวจที่เป็นตัวหลักในการสกัดกั้นตามแนวชายแดน ประการที่สองใช้บทบาทของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องนำผู้เสพที่เป็นผู้ป่วยเข้ามาบำบัด และมาตรการด้านการปราบปรามจะต้องเป็นบทบาทของตำรวจ รวมทั้งมาตรการที่เป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรม ทั้งเรือนจำและยึดทรัพย์ คือ จะใช้หลายๆ หน่วยงานในการที่จะเข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งเลขา ป.ป.ส.จึงมีบทบาทที่จะเข้าไปบูรณาการตามแผนและยุทธศาสตร์ที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาล

"สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ก็ต้องเอานโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนในเรื่องของขั้นตอนปฏิบัติที่ตามเป้าหมายและกำหนดรูปแบบว่าจะทำอะไรก่อนหลัง อย่างไรก็ตาม ตนเพิ่งได้รับทาบทามมา จึงต้องไปจัดระบบในการที่จะให้ทุกหน่วยงานที่เป็นเสาหลักของชาติมีเอกภาพและมีโอกาสทุกฝ่าย ในทุกมิติของการทำงาน"

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลัวแรงต้านหรือไม่เพราะเป็นคนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ใช่คนในของป.ป.ส. พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ป.ป.ส. มีตำรวจไปทำหน้าที่เป็นเลขาธิการป.ป.ส.หลายท่าน เช่น พล.ต.อ.เภา สารสิน, สุวิทย์ แก้วมณี, พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์, พล.ต.อ.กฤษณะ ผลอนันต์ และให้ตนไปช่วยก็เหมือนกัน

ต่อข้อถามว่าไปแล้วกลัวไม่ได้กลับมาหรือไม่ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตนไปช่วยราชการ โดยไม่มีพันธะสัญญาใดๆ ไปทำหน้าที่ เพื่อวางระบบให้ดำเนินการไปพร้อมกันได้ทุกๆ ด้าน และก็ประสานการปฏิบัติกับทางตำรวจอย่างใกล้ชิด โดยจะเริ่มทำงานวันที่ 1 ต.ค. ในตำแหน่งนั้นไม่จำเป็นต้องนำเข้าไปพิจารณาที่ประชุมครม. เป็นการขอตัวและมอบหมายให้รักษาการ
กำลังโหลดความคิดเห็น