xs
xsm
sm
md
lg

รัฐถกปัญหาEIA โครงการอสังหาฯ เอกชนโวยซ้ำซ้อน-ล่าช้า แนะตั้งหน่วยงานเฉพาะดูแลลดภาระสผ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- วุฒิสภา เปิดเวทีถกปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหตุจากการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ชี้ปัญหาหลักเอกชนเลี่ยงกม. ด้านเอกชนโวยไม่มีกฎชัดเจน ปฏิบัติตามยาก แถมพิจารณาล่าช้าทำความเสียหายต่อธุรกิจ ด้านผส.เล็งโอนโครงการอสังหาฯ ไปให้ท้องถิ่นดูแลแทนหลังงานล้นมือ ด้านที่ประชุมแนะตั้งหน่วยงานเฉพาะกำกับดูแลแทน สผ.

วานนี้ (6ก.ย.54) คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานสัมมนาเรื่อง “ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ " โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตามการพัฒนาดังกล่าวจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเขตกทม.ที่มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในแนวเส้นทางคมนาคมที่กำลังจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งออกตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่ได้กำหนดประเภทและขนาดของโครงการพัฒนาอสังหาฯหรือกิจกรรมไว้ 34 ประเภทซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะออกใบอนุญาตหรือต่อใบอนุญาต กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน เป็นต้นล้วนมีปัญหาการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น อาคารขนาดใหญ่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปต้องจัดทำ EIA แต่เอกชนพัฒนาเพียง 9,900 ตารางเมตร นั่นหมายถึงไม่ต้องจัดทำรายงานใช่หรือไม่ เป็นต้น

จากข้อมูลของสำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)พบว่าในปี 2552 มีโครงการอสังหาฯส่งรายงาน EIA ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพียง 10-12% เท่านั้น ปัญหาก็คือ นิติบุคคลอาคารชุดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน EIA นอกจากนี้ ปัญหาที่กำลังถกเถียงกันมากก็คือในช่วงที่ยื่นรายงาน EIA บางโครงการได้มีการก่อสร้างและขายไปแล้ว เมื่อไม่ผ่านการอนุญาตก็จะมีปัญหาเกิดการร้องเรียนและฟ้องร้องตามมา

เอกชนรุมจวกสผ.ออกกฎซ้ำซ้อน

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดทำ EIA มีปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติหลายประการ เช่น ความไม่ชัดเจนของข้อกำหนต่างๆ เนื่องจากใช้ความเห็นส่วนตัวของคณะกรรมการ สผ. ในการพิจารณาเห็นชอบ มีหลายมาตรฐาน ข้อกำหนดหลายข้อมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีบังคับใช้อยู่แล้ว ใช้เวลาในการพิจารณายาวนานส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน

ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการให้ ผส.ออกข้อกำหนดที่ชัดเจนไปเลยแทนการใช้ดุลพินิจ เพื่อให้เอกชนสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง และกำหนดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ส่วนข้อกำหนดที่มีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่แล้วก็ไม่ควรให้จัดทำใน EIA อีก เช่น ระบบรักษาความปลอดภัยในอาคาร มี พ.ร.บ.ควบคุมอาคารบังคับใช้อยู่แล้ว, การจราจร อยู่ในกฎหมายผังเมือง

นอกจากนี้ ข้อกำหนดหลายข้อไม่มีความสำคัญที่จัดต้องจัดทำรายงาน เช่น ทัศนคติทางสายตา การขอความเห็นการจัดเก็บขยะ ซึ่งวิศวกรและสถาปนิกจะมีมาตรฐานในการทำงาน และคำนึกถึงเรื่องของความสวยงามอยู่แล้ว ส่วนการจัดเก็บขยะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่ต้องจัดเก็บอยู่แล้ว 

สผ.เล็งโยนโครงการอสังหาฯให้ท้องถิ่นดูแล

นายสันติ บุญประคับ รองเลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการที่เข้าข่ายในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากกว่า 250 โครงการต่อปี ซึ่งการดำเนินโครงการส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามข้อกฎหมายขั้นต่ำที่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนด เช่น จำนวนที่จอดรถ พื้นที่ใช้สอยต่ออาคารรวม อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน

นอกจากนี้ การก่อสร้างของผู้ประกอบการบางราย ส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือผู้อยู่อาศัยเดิม ตั้งแต่ยังไม่ก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง และก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยปัญหาได้รับการร้องเรียนบ่อยครั้ง เช่น ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ฝุ่นละออง เสียงดังระหว่างก่อสร้าง ผู้อาศัยในอาคารที่มีลานจอดรถไม่เพียงพอ นำรถมาจอดริมถนนทำให้เกิดปัญหารถติดในซอย

ทั้งนี้ สผ.มีโครงการที่จะต้องพิจารณาจำนวนมาก ทำให้มีความล่าช้าในการพิจารณา ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะโอนย้าย การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอสังหาฯ ไปให้หน่วยงานท้องถิ่นหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดูแล ซี่งสผ.จะไปดูแลโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เช่น โครงการอุตสาหกรรม โดยเตรียมจัดทำคู่มือในการพิจารณาจัดทำรายงาน EIA ให้เป็นมาตรฐานให้ทางจังหวัดและเอกชนปฏิบัติตาม คาดว่าจะใช้เวลาในการร่างคู่มือประมาณ 5-6 เดือน หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อคชก. เพื่อเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบในการตรวจสอบEIA ตามเกณฑ์ข้อกำหนดโดยตรง เพราะสผ.ไม่สามารถพิจารณาได้ครอบคลุมและทั่วถึงซึ่งขณะนี้เห็นว่าควรให้หน่วยงานที่อนุมัติรับผิดชอบไปก่อนเพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น