ศูนย์ข่าวภูเก็ต- ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต ส่อเค้าล้ม รายงานวิเคราะผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ผ่าน เหตุกระทบแหล่งวางไข่เต่าทะเลและป่าชายเลน ผู้ว่าฯขอทบทวนผลการศึกษาใหม่ ทำใจหากไม่ผ่านจริงๆก็เป็นสิทธิของรัฐบาลที่จะโยกงบไปทำโครงการอื่นๆ ที่เห็นว่าเร่งด่วน และจำเป็นกว่า
นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า ผลการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต ที่บ้านท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ไม่มีความเหมาะสม เพราะหาดไม้ขาวเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล โดยโครงการดังกล่าวอาจจะรบกวนการวางไข่ของเต่าทะเลได้ และพื้นที่บางส่วนยังเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีความเป็นธรรมชาติ รวมทั้งลักษณะธรณีสัณฐานทางทะเลและชายฝั่งของพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยอันตราย เพราะลักษณะชายฝั่งเป็นแอ่งลึก มีความลาดชันสูง และไม่เหมาะสมที่จะให้ผู้ใช้บริการจัดกิจกรรมสันทนาการพักผ่อน
ผลการศึกษายังระบุอีกว่า โครงการไม่มีความคุ้มทุนทางด้านการเงิน ไม่เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว และการจ้างงานที่ชัดเจน เพราะคนที่มาทำงานในภูเก็ตส่วนใหญ่มาจากจังหวัดอื่น และโครงการนี้จะเกิดการแข่งขันกับภาคเอกชนได้นั้น
ขณะนี้ จังหวัดภูเก็ต ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านคมนาคมของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ โครงการร่วมเอกชน (คชก.) จากกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และเจ้าของโครงการแต่อย่างใด เพียงแต่รับทราบเป็นการภายในว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุดย่อย และผลการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติจังหวัดภูเก็ตไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ก็เหมือนกับโครงการต่างๆ หลายโครงการของจังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่สามารถที่จะก่อสร้างได้เพราะไม่ผ่านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ที่ใช้ควบคุมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีความเข้มข้นมาก โดยเฉพาะพื้นที่สูงและพื้นที่ตามแนวชายหาดทั้งหลาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวอีกว่า เมื่อการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านการเห็นชอบ จะต้องมีแนวทางในการที่จะดำเนินการต่อไป คือ กรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการและเจ้าของพื้นที่จะต้องไปชี้แจงต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ และในส่วนของจังหวัดภูเก็ตเอง ก็ต้องดูด้วยว่ามีประเด็นใดที่ไม่ผ่านสิ่งแวดล้อมบ้าง
การที่ไม่ผ่านการเห็นชอบในรอบแรกก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการดังกล่าวจะต้องตกไป สามารถที่จะขอให้มีการทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ เหมือนกับโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมสะพานหินกับถนนศักดิเดช ที่ต้องตัดผ่านป่าชายเลนคลองเกาะผี ระยะทาง 600 เมตร ก็ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมหลายครั้งกว่าที่จะผ่านการเห็นชอบ โครงการศูนย์ประชุมฯก็เช่นกันสามารถที่จะทบทวนใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากในที่สุดแล้ว โครงการดังกล่าวไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิทธิของรัฐบาลที่จะพิจารณาโอนงบประมาณสำหรับก่อสร้างศูนย์ประชุมฯไปดำเนินการโครงการอื่นๆ ในพื้นที่อื่นๆ ที่รัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนก็สามารถที่จะดำเนินการได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดภูเก็ตก็มีอีกหลายๆโครงการที่รองบประมาณมาดำเนินการ
สำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติภูเก็ต ทั้งภาครัฐและเอกชนในภูเก็ตพยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนางอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้พยายามผลักดันโครงการจนมีความชัดเจนในเรื่องของสถานที่ก่อสร้าง ที่ได้ตัดสินใจเลือกบริเวณที่ราชพัสดุแปลงที่ภก.153 บ้านท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รูปแบบของศูนย์ประชุม
รวมไปถึงงบประมาณที่ได้จัดสรรงบประมาณไทยเข้มแข็งระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 2,600 ล้านบาท และวางแผนที่จะให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในต้นปี 2557 เพื่อรองรับตลาด MICE ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันทีมีแนวโน้มว่างบประมาณก้อนดังกล่าวน่าที่จะถูกโยกย้ายไปทำโครงการอื่นแทน เพราะติดขัดเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม