ในประเทศสารขัณฑ์ ระหว่างที่มีการเลือกตั้ง นักการเมืองหัวใสจ้างคนทำโพลให้ทายว่าพรรคของตัวเองจะชนะอย่างถล่มทลาย เป็นเหตุให้เกิดความตื่นตระหนกในบรรดานายทุนบริษัทใหญ่ๆ ถึงกับมีบริษัทหนึ่งนำเงินไปช่วยพรรคถึง 2,000 ล้านบาท ส่วนอีกบริษัทหนึ่งให้ไป 500 ล้านบาท
คนส่วนมากนึกว่าในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น หัวหน้าพรรคการเมืองต้องออกเงินเอง จริงๆ แล้วหัวหน้าพรรคควักกระเป๋าจ่ายน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีนายทุนซึ่งมีสองประเภท คือ ประเภทแรกให้เงินมาเฉยๆ ส่วนอีกประเภทหนึ่งนั้นให้เงินด้วย และเข้ามาร่วมพรรคด้วย คือ เป็นหุ้นส่วนทางการเมือง ส่วนมากเงินที่นำมาลงทุนจะเป็นเงินประมาณ 200-500 ล้านบาท
วิธีหาเงินของหัวหน้าพรรคการเมืองมีอยู่ 4 ทางด้วยกัน คือ หนึ่ง หาจากนักธุรกิจที่หวังผลประโยชน์ตอบแทน สอง หาจากผู้ร่วมทุน สาม หาจากการซื้อขายตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่งข้าราชการ และ สี่ หาจากเงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งส่วนมากเกี่ยวกับโครงการใหญ่ๆ และการจัดซื้อ
ในการซื้อขายตำแหน่งรัฐมนตรี วิธีการก็คือ การปรับคณะรัฐมนตรีบ่อยๆ บางทีในระยะ 4-5 ปี ปรับกัน 8 ครั้งก็มี รัฐมนตรีที่อยากอยู่ในตำแหน่งต่อ และที่อยากเข้ามาใหม่ก็ต้องจ่าย มีผู้ประมาณว่าในการปรับคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งมีเงินสะพัดเป็นเงินร้อยล้านบาท 8 ครั้งก็เป็นพันล้านบาท
สำหรับตำแหน่งทางราชการ และรัฐวิสาหกิจนั้นมีการตั้งราคาไว้ดังนี้
ตำแหน่ง ราคา
อธิบดีกรมตำรวจ 50 ล้าน
รองอธิบดี 30 ล้าน
ผู้ช่วย, ผู้บัญชาการ 30 ล้าน
ผู้บังคับการ 20 ล้าน
ผู้กำกับ 10 ล้าน
(ถ้าเป็นจังหวัดหรือเขตที่มีผลประโยชน์มากๆ จำนวนเงินจะขึ้นไปเป็น 30-50 ล้าน)
ปลัดกระทรวง 20 ล้าน
อธิบดี 20 ล้าน
ผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจบางแห่ง 40 ล้าน
ผู้ว่าราชการจังหวัด 20-40 ล้าน
รวมแล้วในการแต่งตั้งแต่ละครั้ง จะมีเงินสะพัดประมาณ 300-500 ล้านบาท ตำแหน่งที่ราคาแพงที่สุดคือ ผู้กำกับบริเวณที่มีแหล่งอบายมุขมากเป็นพิเศษ
ถ้าการเลือกตั้งมีการซื้อเสียงมากอย่างนี้ สู้ให้มีการประมูลตำแหน่ง ส.ส.เลยไม่ดีกว่าหรือ ส.ส.จำนวน 300 คน แต่ละเขตก็ให้ประมูลกัน เพราะเวลานี้ก็ใช้เงินคนละหลายสิบล้านอยู่แล้ว
ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งในประเทศสารขัณฑ์ และประเทศอื่นๆ ก็มีการใช้เงินอย่างกว้างขวาง แต่ทุกคนก็ยังยืนยันว่าระบอบนี้ดี การใช้เงินนี้ระบาดลงไปจนถึงตำแหน่งในวงราชการ แต่เหตุใดคนจึงทนได้
เหตุที่คนทนได้ อาจเป็นเพราะในสังคมนั้น การเมืองยังไม่ใช่เรื่องที่ครอบคลุมชีวิตทั้งหมด นอกจากประชาชนจะได้รับประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ อย่างการขายเสียง และการได้รับเงินทุนให้กู้ยืมแล้ว การคอร์รัปชันก็ยังไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน เพราะไม่ได้เอาเงินไปจากประชาชนหรือก่อความเดือดร้อน เงินที่โกงกันก็เป็นเงินงบประมาณซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ
นอกจากนั้น คนยังอดทนอยู่ได้ก็เพราะสังคมเองยังมีส่วนที่มีกิจกรรมที่พอจะหาความสุขได้บ้าง และก็ไม่มีคนมายุ่งเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตเท่าใดนัก ตราบเท่าที่นักการเมืองยุ่งกับข้าราชการ ก็จะมีบุคคลที่ว่ายวนอยู่ในวังวนนี้จำนวนเกือบหนึ่งหมื่นคน ส่วนคนจำนวนมากที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องก็ไม่มีความเดือดร้อนอะไร ถ้าใครถามว่าแล้วเมื่อไรจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ การวิเคราะห์เช่นนี้ก็บอกเราว่า การคอร์รัปชันก็จะไม่หมดไป ส่วนจะมีมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับโอกาสที่คนโกงจะได้รับการเปิดโปง และถูกลงโทษ นอกจากนั้นก็ไม่เห็นทาง จะรอคอยให้คนเกิดความละอาย และความสำนึกเองนั้นยากมาก
ประเทศไทยก็มีสภาพการณ์ไม่แพ้ประเทศสารขัณฑ์เหมือนกัน มองไปรอบๆ ตัวก็มีนักการเมืองที่เก่ง และโกงแยะมากกว่าประเทศใดๆ จะพอฟัดพอเหวี่ยงกันก็จะมีฟิลิปปินส์เท่านั้น ส่วนมาเลเซียเขาก็เอาจริงกับเรื่องนี้มากจนกล่าวได้ว่า รัฐบาลของเขาสะอาดกว่าของเรามาก
การเมืองจัดเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง นับวันก็ยิ่งมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการทำโพล และการเข้าไปมีอิทธิพลต่อสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ด้วย