xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“มติชน-ข่าวสด”กรี๊ดลั่นประเทศ ตะแบงชี้แจงข้อกล่าวหารับใช้ระบอบทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทยและอังกฤษ 25 ฉบับ รวมทั้งนายขรรค์ชัย บุนปาน (นั่งขวาสุด) ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงนามในบันทึกเจตนารมณ์จัดตั้ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 เพื่อเป็นองค์กรควบคุมกันเอง และส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์และกิจการหนังสือพิมพ์ให้ดียิ่งขึ้น แต่วันนี้เครือมติชนกลับไม่ยอมรับผลการสอบสวนกรณีอีเมล์นักการเมืองซื้อสื่อของคณะอนุกรรมการที่สภาการฯ แต่งตั้งขึ้นมา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า “ดิ้นพลาด” ราวกับถูกน้ำร้อนลวกทีเดียวสำหรับ “เครือมติชน-ข่าวสด” จากการที่คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติออกมาเปิดเผยความสัมพันธ์ “อันผิดปกติ” ระหว่างเครือมติชนและพรรคเพื่อไทยอย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋

ในการณ์นี้เครือมติชน-ข่าวสดถึงกับตั้งแท่นตอบโต้อย่างดุเดือดเลือดพล่าน ด้วยการเปิดเกมของ “นายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการมติชนที่ให้สัมภาษณ์ทางหน้าเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ตามต่อด้วยการออกแถลงการณ์ยาวเหยียดเพื่อชี้แจงทุกข้อกล่าวหา ไม่ยอมรับรายงานของคณะอนุกรรมการฯ และประกาศต่อสาธารณชนเพื่อยืนยันว่า กองบรรณาธิการเป็นอิสระ มีเสรีภาพ มีความสุจริตและมีความโปร่งใสในวิชาชีพของหนังสือพิมพ์ โดยได้พิสูจน์ตนเองมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

แต่เวลานี้ “ความจริงกำลังไล่ล่า” เครือมติชน-ข่าวสดชนิดที่ไม่สามารถหาคำใดๆ มาอธิบายให้สังคมเข้าใจได้

เรียกว่า ยิ่งอธิบาย ยิ่งแก้ตัว ก็ยิ่งเพิ่มเงื่อนปมที่มัดคอตัวเองมากขึ้นทุกที

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยเฉพาะถนนสายหลักๆ ที่มีการขึ้นป้ายขนาดใหญ่อยู่เต็มไปหมด ด้วยข้อความเป็นตัวอักษรสีเหลืองขนาดใหญ่ว่า “สื่อบิดเบือน ไม่เป็นกลาง” ถัดลงมาเป็นตัวอักษรสีแดงข้อความว่า “มติชิน-ข่าวสด” และบรรทัดถัดลงมาเป็นโลโก้หัวหนังสือของหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด โดยมีเครื่องหมายกากบาทกาทับไว้ที่หัวหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ส่วนบรรทัดล่างสุดเป็นตัวอักษรสีฟ้าเขียนข้อความว่า “เราไม่อ่าน” ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกส่วนหนึ่งของประชาชนที่มีต่อสื่อในค่ายนี้

ทั้งนี้ ถ้าหากวิเคราะห์แถลงการณ์ของเครือมติชนโดยละเอียดก็จะพบว่า ในประเด็นแรก เครือมติชนพยายามที่จะดิสเครดิตคณะอนุกรรมการฯ ที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน โดยทำให้สังคมเข้าใจว่า คณะอนุกรรมการฯ ทำนอกเหนือจากหน้าที่ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมอบหมาย

กล่าวคือ เครือมติชนกำลังจะบอกว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมอบหมายให้ "ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงิน และผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” แต่แทนที่จะดำเนินการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย คณะอนุกรรมการกลับตั้งประเด็นการสอบสวนว่า ก.อีเมลที่ปรากฏตามข่าวเป็นของใคร ข.หนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการเสนอข่าวอย่างไรในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง และผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงมีการกระทำตามที่ปรากฏในอีเมลหรือไม่ ค.มีการจ่ายสินบนตามข้อกล่าวหาในอีเมลจริงหรือไม่

     คำถามก็คือ การตั้งประเด็นการสอบสวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ ข.ที่แถลงการณ์เครือมติชน-ข่าวสดบอกว่า ทำนอกเหนือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้น นอกเหนือจริงหรือไม่

ถ้าเครือมติชน-ข่าวสดมองด้วยใจเป็นธรรมและปราศจากอคติ ก็จะเห็นว่า คณะอนุกรรมการฯ มิได้ทำเกินเลย เพราะถ้าหากต้องการจะสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง มิใช่ทำแค่เพียงลูบหน้าปะจมูก ก็สมควรที่จะพิจารณาบริบทรอบด้านหรือมองป่าทั้งป่าประกอบกันไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน

หรือสรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ ในเมื่อมีเรื่องอีเมลเป็นประเด็นอยู่แล้ว ก็ลองไปสอบสวนเพิ่มเติมดูว่า ทิศทางการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดของผู้ถูกกล่าวหามีแนวโน้มเป็นเช่นไร

เพียงแต่ผลการสอบสวนที่ออกมามิได้เอนเองไปในทิศทางเดียวกับที่เครือมติชน-ข่าวสดต้องการเท่านั้น และด้วยผลสอบที่ออกมาดังกล่าว ทำให้เกิดประเด็นที่สอง นั่นคือ

เครือมติชน-ข่าวสดพยายามดิสเดรดิตคณะอนุกรรมการฯ ว่าน่าจะมีเป้าที่จะสร้างความเสียหายให้กับหนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นการเฉพาะ ซึ่งก็หมายถึงสื่อในเครือมติชน-ข่าวสด ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกเช่นกันว่า คณะอนุกรรมการฯ ที่ประกอบด้วย 1.นพ.วิชัย โชควิวัฒน 2.นางบัญญัติ ทัศนียะเวช 3. รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ 4.ศ.พิเศษสิทธิโชค ศรีเจริญและ 5.ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ จะกระทำเช่นนั้นเพื่อประโยชน์อะไร

เพราะต้องไม่ลืมว่า การมีปัญหากับสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่ทรงอิทธิพลในเครือมติชน-ข่าวสด ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับตัวคณะอนุกรรมการฯ เลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังจะมีปัญหาอีกต่างหาก

ดังเช่นที่คณะอนุกรรมการฯ ระบุเอาไว้ในรายงานชัดเจนว่า “คณะอนุกรรมการฯ ตระหนักดีว่า เรื่องที่อยู่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้มีความอ่อนไหวและอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง โดยบางครั้งสื่อมวลชนเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งดังกล่าว จึงพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและตรงไปตรงมาในกรอบเวลาที่จำกัด”

หรือดังเช่นที่นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวเอาไว้ว่า “ยืนยันว่าการทำหน้าที่ไม่ได้เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ที่บอกว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯยังไม่รับรองผลก็ไม่จริง เพราะสภาการหนังสือพิมพ์ฯยังชมเชยและปรบมือให้ดังนั้น ผมจึงไปให้การกับ กกต. ถ้าให้มีการสอบเพิ่มจริงคงจะไม่ไป ส่วนที่มองว่าเป็นเรื่องการเมือง ขอเรียนว่าตอนมาทำหน้าที่ไม่ได้คิดและสนใจเรื่องนี้ คิดเพียงว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

จากนั้นเครือมติชน-ข่าวสดก็พยายามชี้เป้าหรือล็อกเป้าให้เห็นว่าโจทย์ที่คณะอนุกรรมการฯ ขยายประเด็นออกไปโดยไม่ได้ดำเนินการเรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากองค์กรที่พาดพิงไปถึง เป็นการดำเนินการลับหลังแต่ฝ่ายเดียวซึ่งทำให้เกิดข้อสมมติฐานและข้อสรุปที่ผิดพลาด

แต่ความจริงที่กำลังไล่ล่าเครือมติชน-ข่าวสดอยู่ก็คือ คณะอนุกรรมการได้ทำหนังสือขอความร่วมมือในการให้ข้อมูลไปยังผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงตามข่าวจำนวน 7 คนและผู้แทนของเว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์มาให้ข้อมูลถึง 2 ครั้งด้วยกัน ซึ่งก็ปรากฏว่าผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในสังกัดเครือมติชน-ข่าวสดมิได้ให้ความร่วมมือแต่ประการใด

กล่าวคือเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 คณะอนุกรรมการฯ ได้ส่งจดหมายเชิญมาให้ข้อมูลโดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “ในการนี้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงขอความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติงานข่าวในเครือมติชนที่ถูกพาดพิงมาให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯ ในวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม….” ซึ่งการณ์ก็ปรากฏในเวลาต่อมา ทั้ง 3คนมิได้เดินทางมาให้ข้อมูล และเลือกที่จะทำหนังสือยืนยันความบริสุทธิ์ของทั้ง3คนกลับมา

ในรายงานของคณะอนุกรรมการฯได้เขียนเอาไว้ชัดเจนถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า…
.
“อย่างไรก็ตามผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้ถูกพาดพิงจำนวน3คนในเครือบริษัทมติชนคือนายจรัญ พงษ์จีน(พี่จรัญ)นายทวีศักดิ์ บุตรตัน(พี่เปี๊ยก) และนายชลิต กิติญาณทรัพย์(พี่ชลิต) ไม่ได้มาให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมการฯ โดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนได้ทำหนังสือแจ้งมาว่าได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการกระทำตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ส่วนหนังสือพิมพ์ข่าวสดได้ทำหนังสือแจ้งมาว่าไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดชื่อชลิตในกองบรรณาธิกาหนังสือพิมพ์ข่าวสดและข้อมูลที่เผยแพร่เป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง”

นอกจากนั้นในรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ยังระบุด้วยว่า “ในภายหลังคณะอนุกรรมการฯ ทราบว่า นายชลิต กิติญาณทรัพย์เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ข่าวสด จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอทราบข้อมูลการตรวจสอบจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนอีกครั้ง พร้อมกับเชิญให้นายจรัญ พงษ์จีน นายทวีศักดิ์ บุตรตันและนายชลิต กิติญาณทรัพย์มาให้ข้อเท็จจริงอีกครั้ง”

จดหมายเชิญฉบับที่สองของคณะอนุกรรมการฯ ลงวันที่ 11 กรกฎาคม มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “แม้กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนจะตรวจสอบไม่พบการกระทำตามที่เป็นข่าว แต่เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับบุคลภายนอกจำนวนมากและส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไทยโดยรวม ซึ่งการตรวจสอบของท่านน่าจะทำให้ท่านได้รับทราบข้อมูลที่มีประโยชน์ คณะอนุกรรมการฯจึงใคร่ขอทราบกระบวนการตรวจสอบของท่านว่ามีขั้นตอนและวิธีการอย่างไรมีใครเป็นผู้มาให้ปากคำ รวมทั้งข้อสรุปและรายงานการตรวจสอบ โดยขอให้ส่งให้คณะอนุกรรมการฯ โดยด่วน”

เรียกว่าคณะอนุกรรมการฯ เปิดโอกาสให้เครือมติชน-ข่าวสดได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับความร่วมมือเหมือนเช่นครั้งแรก และมีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า “บุคลากรของกองบรรณาธิการไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีเมลดังกล่าวและไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่ปรากฏในอีเมลแต่อย่างใด และเห็นว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของสื่อแต่ละฉบับที่ถูกพาดพิงที่จะบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นเอง”

สรุปก็คือ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน-ข่าวสดไม่ได้มาให้ข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการฯแต่อย่างใดและไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงตอบกลับมาแต่อย่างใด ในขณะที่สื่อสังกัดอื่นๆ มิได้มีปัญหาในเรื่องดังกล่าวแต่ประการใด

เด็ดไปกว่านั้นคือเบื้องสูงและเบื้องต่ำของเครือมติชน-ข่าวสดกลับโจมตีคณะอนุกรรมการฯว่าไม่เคารพในการตรวจสอบของกองบรรณาธิการดังเช่นที่ “คอลัมน์เดินหน้าชน” ในหน้า 6 ของหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ระบุเอาไว้ว่า “น่าแปลกเมื่อคณะผู้บริหารของบริษัทมติชนตรวจสอบที่มาที่ไปของอีเมลแล้วเห็นว่าคนในองค์กรของมติชนและข่าวสดไม่มีพฤติกรรมดังที่ปรากฏในอีเมล แต่คณะอนุกรรมการฯกลับไม่ให้ความเคารพในผลการตรวจสอบของเครือมติชน ยังมีความพยายามที่จะหาเหตุให้ได้ว่า นายวิมคนของพรรคเพื่อไทยจ่ายเงินเพื่อเลี้ยงสื่อเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง”

คอลัมน์นี้เขียนโดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า “ทวีศักดิ์ บุตรตัน”

พระเจ้าช่วยกล้วยทอด ถูกสังคมกล่าวหา แต่กลับสอบสวนแล้วออกมารับประกันในความบริสุทธิ์เอง อย่างนี้ แล้วจะให้สังคมเชื่อได้อย่างไร

ที่สำคัญคือ คณะทำงานที่ช่วยในการตรวจสอบข้อมูลของคณะอนุกรรมการฯ ก็เป็นองค์กรซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการสื่อมวลชน นั่นก็คือ “มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา” หรือ “Media Monitor”

เมื่อดิ้นไปดิ้นมาจนไม่รู้จะทำหรือแก้ตัวอย่างไร เครือมติชนก็ตัดสินใจใช้วิชาก้นหีบด้วยการฟาดงวงฟาดงาหรือ “ลากข้อมูล” เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่า นพ.วิชัย ประธานคณะอนุกรรมการสอบฯ มีความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นแฟ้น เนื่องเพราะเคยทำเรื่องถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อขอให้สนับสนุน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมนำจดหมายดังกล่าวมาลงไว้อย่างเสร็จสรรพ

จริงอยู่ จดหมายฉบับดังกล่าวเป็นของจริง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็มิได้ทำตามข้อเสนอของ นพ.วิชัยแต่ประการใด จน นพ.ศุภชัยอดรนทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาแถลงการณ์ตอบโต้เข้าให้บ้าง จนหน้าแตกหมอไม่รับเย็บไปตามๆ กัน

“หนังสือพิมพ์บางสำนักพยายามทำให้สังคมสับสนโดยโยงความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือครอบครับกับหน้าที่การงาน เป็นการดิสเครดิตผมมาโดยตลอด แต่ไม่ได้ออกมาตอบโต้ใดๆ หากหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวมีวิธีคิดเช่นนั้น ผมอยากบอกว่า ครอบครัวของผมมีความสนิทสนมกับครอบครัวคุณป้าพวงเพ็ญ ชินวัตรมากกว่าครอบครัวหลีกภัย เพราะคุณป้าพวงเพ็ญ ชินวัตร เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของแม่ ผมให้ความเคารพคุณป้าพวงเพ็ญเช่นเดียวกับนายชวน หลีกภัย ทุกวันนี้ในยามปัจฉิมวัยคุณป้าพวงเพ็ญกับแม่ยังไปทำบุญด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน และมานอนค้างที่บ้านเป็นระยะๆ สำหรับผมเองเมื่อครั้งไปศึกษาต่อที่มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ก็ไปพักอาศัยบ้านของ ดร.วีระเดช ชินวัตร จึงมีความสนิทสนมกันฉันพี่น้อง แต่ไม่มีใครนำความสัมพันธ์ส่วนตัวมาปะปนกับการทำงานในหน้าที่แต่อย่างใด สำหรับตัวเองเคยเชื่อเสมอว่า หากยืนตรงกลางแดด อย่าได้กลัวเงาคด แต่บัดนี้อำนาจเงินไม่เพียงแต่ทำให้ผีโม่แป้งได้ ยังทำให้คนที่แตะต้องเกิดอาการโรคสายตาเอียงได้อีกด้วย”

เจ็บปวดและโดนใจจริงสำหรับประโยคที่ว่า “หากยืนตรงกลางแดด อย่าได้กลัวเงาคด แต่บัดนี้อำนาจเงินไม่เพียงแต่ทำให้ผีโม่แป้งได้ ยังทำให้คนที่แตะต้องเกิดอาการโรคสายตาเอียงได้อีกด้วย”

เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ที่กรีดตรงกลางแสกหน้าอย่างเจ็บปวดว่า “ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะมีการไปนำมาจดหมายฉบับหนึ่งที่เสนอแนะเรื่องการแต่งตั้งปลัดกระทรวงหนึ่งมาเผยแพร่ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลก็ไม่ได้พิจารณาตามคำแนะนำของจดหมายนั้น ผมว่าสื่ออย่าไปเบี่ยงประเด็น เวลาที่นักการเมืองถูกสอบ มักจะตำหนิว่า อย่าไปตอบโต้เรื่องตัวคนสอบ ให้ตอบโต้ชี้แจงด้วยเนื้อหาสาระ วันนี้พอมติชน ข่าวสดถูกพาดพิงเอง กลับใช้วิธีที่ตำหนิคนอื่นมาตลอด”

และที่ฮากันอุจจาระแตกอุจจาระแตนก็คือ นอกจากเครือมติชน-ข่าวสดจะออกแถลงการณ์ตอบโต้ยาวเหยียดเต็มหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว เครือมติชน โดยหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 22 สิงหาคมยังไปหยิบยกเอาบทความที่เขียนโดย “ใบตองแห้ง” ใน เว็บไซต์ประชาไท มาสนับสนุนแถลงการณ์ของตัวเองด้วยว่า อิชั้นเป็นสื่อมวลชนที่มีความเป็นกลาง มิได้เอนเอียงไปที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

พร้อมพาดหัวตัวเป้งว่า “เว็บดังซัดอนุฯ สอบสื่อ ทำเกินหน้าที่-ตั้งธง พท.ชี้หวังยุบพรรค วิชัยปัดอิงการเมือง”

พุทโธจะหาคนสนับสนุนทั้งทีดันไปเลือกคอลัมนิสต์เสื้อแดงที่เขียนในเว็บไซต์เสื้อแดงมาอธิบายความมีอิสระและความเป็นกลางของตัวเอง

กลัวคนจะไม่รู้หรือไงว่า เครือมติชนแดงแจ๋ขนาดไหน (ทั้งๆ ที่ความจริงประชาชีเขารู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองมาตั้งนานแล้ว) ซึ่งใบตองแห้งเองก็ยืนยันความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี เพราะในบทความชิ้นดังกล่าวระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “เมื่อค่ายมติชนเป็นค่ายเดียวที่พลิกกลับมาทวนกระแสสื่อส่วนใหญ่ ก็ถูกผลักให้เลือกข้างไปในตัว จึงกลายเป็นสื่อกระแสหลักฉบับเดียวที่คนเสื้อแดงหรือคนนิยมพรรคเพื่อไทยซื้ออ่าน”

แน่นอนการที่เครือมติชน-ข่าวสดเลือกใช้บริการใบตองแห้งก็มีเจตนาที่ต้องการจะแสดงดิสเครดิตคณะอนุกรรมการฯเป็นการเฉพาะเพราะถ้าหากอ่านบทความดังกล่าวโดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่า เป็นการแก้ตัวให้ทั้งสิ้น และที่สำคัญเป็นบทความที่ตั้งธงและตรงกับใจของเครือมติชน-ข่าวสด

โดยเฉพาะข้อความในบทความของใบตองแห้งในช่วงท้ายที่บอกว่า “ประเด็นสำคัญคือผมไม่เข้าใจว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้เรียกร้องให้สื่อเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อตัวท่านเองก็ไม่ได้เป็นกลาง ถ้ามอนิเตอร์พฤติกรรมย้อนหลังของพวกท่าน 5 ปีก็เห็นชัดเจนว่าพวกท่านอยู่ข้างสีเหลืองและอยู่ข้างประชาธิปัตย์กันแทบทั้งนั้น”

นี่เรียกว่า กล่าวหาชนิดที่ไม่ต้องการให้คณะอนุกรรมการฯ ที่ถูกพาดพิงได้ชี้แจงเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันข้อเขียนของใบตองแห้งก็ยังชี้นำเป็นการกลายๆว่า ในเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ยังไม่เป็นกลาง แล้วประสาอะไรให้จะให้สื่อมวลชนอย่างเราเป็นกลางด้วย

นี่ไม่นับรวมถึงการไปสัมภาษณ์ “เจ๊ยุ-นางยุวดี ธัญญศิริ” เพื่อโจมตีคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งปกป้องเครือมติชน-ข่าวสด ซึ่งวิญญูชนที่ไม่จอมปลอมย่อมรู้ดีว่า เจ๊ยุผู้ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาลโดยไม่ยอมย้ายไปอยู่ที่ไหนนั้น ยืนอยู่ข้างใครและเคยมีวีรกรรมที่โดดเด้งขนาดไหน

รวมกระทั่งถึง ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่วิญญูชนย่อมรู้เช่นกันว่า มีจุดยืนโน้มเอียงไปทางสีไหน

...สุดท้ายเรื่องมาถึงขนาดนี้แล้ว ไม่ต้องดิ้นรน

แถลงการณ์ให้ยืดยาวเปลืองหน้ากระดาษ ก็ยอมรับไปเสียให้หมดเรื่องหมดราวว่าเป็นสื่อสังกัดเสื้อแดง พี่น้องเสื้อแดงที่เขาเลือกพรรคเพื่อไทยกว่าสิบล้านเสียงจะได้หันมาซื้อหนังสือในเครือมติชนเพิ่มมากขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา

แถมยังไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาหาเหตุผลมาอธิบายอีกต่างหาก ไม่เป็นกลางก็ไม่มีใครว่า ชอบคนเสื้อแดง ชอบพรรคเพื่อไทย ชอบ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรก็ไม่มีใครเขาว่า เพียงแค่ขอให้ยอมรับความจริงเท่านั้น

ทำเป็นเล่นไป ยอดขายเอย โฆษณาเอยจะพุ่งกระฉูดจนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เขียวชนฟลอร์ทุกวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น